ที่มา FB
สุรชา บุญเปี่ยม
บุกจับชาวมันนิในงาน กสม.พบประชาชนภาคใต้
เมื่อเวลาประมาณ 18 นาฬิกาเศษวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจจาก สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แต่งเครื่องแบบ 1 นาย อีก 4 นายไม่แต่งเครื่องแบบ เดินทางมาที่โรงแรมบุรีศรีภู บูติกโฮเต็ล ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคใต้ ซึ่งนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นประธา มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยมีการแบ่งกลุ่มรับฟังและอภิปรายปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม เช่น กรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กรณีการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล โดยกลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมทั้งเรื่องปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ โดยตำรวจได้พยายามจะจับกุมตัวนายปอย ไม่มีนามสกุล อายุ 27 ปี ชาวมันนิจากจังหวัดสตูลที่พาลูกๆมาร่วมงาน บอกเล่าปัญหาชีวิตความเป็นอยู่และการไม่มีสถานะทางทะเบียน ข้อหาเป็นบุคคลไร้สัญชาติเดินทางออกนอกพื้นที่ แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เจรจา และติดต่อประสานงานกับฝ่ายปกครองระดับสูงของจังหวัด ตำรวจทั้ง 5 นายจึงเดินทางกลับไป
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความตกตะลึงให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์ เนื่องจากเป็นงานที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอย่างเป็นทางการ แต่ตำรวจเข้ามาในงานโดยไม่แจ้งให้ทราบและไม่มีหมายค้น และชาวมันนิที่เดินทางมาร่วมถ่ายทอดปัญหาก็ไม่ได้กระทำความผิดทางอาญา แต่มาแสดงความต้องการสถานะเป็นคนไทยเหมือนคนทั่วไปเท่านั้น
"เมื่อมีการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ทางราชการก็นำเรื่องราวและตัวของชาวมันนิมาแสดงอยู่หลายครั้ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้จังหวัด ไม่เคยถูกจับกุม แต่ครั้งนี้จะถูกจับเพราะไม่มีบัตรประชาชน" ผู้อยู่ในเหตุการณ์ตำรวจพยายามจับกุมนายปอย ชาวมันนิ แสดงความคิดเห็น
"ชาวมันนิเป็นคนที่เกิดและดำรงชีวิตในป่ามาตั้งแต่ดั้งเดิม ภาครัฐต้องดูแลเป็นพิเศษด้วยการเข้าไปสำรวจเพื่อคุ้มครองสิทธิ เพราะคนเหล่านี้ก็คือคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ตกอยู่ในความยากลำบาก ต้องแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียน การให้บัตรประจำตัวประชาชน เพื่อจะได้มีสิทธิในด้านต่างๆเช่นการรักษาพยาบาล การศึกษา และสิทธิด้านอื่นๆ ไม่ใช่มาจับกุมคนเหล่านี้เพราะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เป็นเพราะภาครัฐไม่ได้จัดการให้" นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าว
สำหรับการอภิปรายประเด็นปัญหากลุ่มชาติพันธ์ุในงาน กสม.พบประชาชนภาคใต้ ซึ่งมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐาน ทรัพยากรเป็นประธาน นายวิทวัส เทพสง ประธานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคใต้ ได้กล่าวสรุปภาพพรวมของปัญหาว่า ปัจจุบันมีข้อมูลว่ามีชาวมันนิอาศัยอยู่ในป่าเทิอกเขาบรรทัดประมาณ 300 กว่าคนในเขตจังหวัดพัทลุง ตรังและสตูล มีทั้งที่กลุ่มอยู่ในป่าลึก กลุ่มที่เข้าออกระหว่างชายป่าและกลุ่มที่เริ่มออกมาติดต่อกับคนภายนอก ปัญหาที่พบคือเรื่องการแหล่งอาหารที่ลดลง และปัญหาสถานะทางทะเบียน ซึ่งเมื่อมีบัตรประช่ชนจะทำให้มีสิทธิในด้านต่างๆ รวมทั้งการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ในที่ประชุมอภิปรายยังกล่าวถึงปัญหาของชาวมันนิที่อาศัยในป่าซึ่งปัจจุบันเป็นเขตป่าสงวนหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด จึงควรกำหนดเขตพื้นที่ให้ชาวมันนิอาศัยในป่าอย่างถูกต้องซึ่งเป็นความต้องการของชาวมันนิ
เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 100 คน เดินออกจากเวทีที่กรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นเจ้าภาพและจัดขึ้นเพื่อรับฟังปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ หลังจากนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตะโกนห้ามตัวแทนภาคประชาชนอ่านแถลงการณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนในที่ประชุม ขณะที่ประธาน กสม. ชี้ภาคประชาชนทำผิดข้อตกลง
เหตุการณ์ที่นำมาสู่ความไม่พอใจของประชาชนที่เข้าร่วมประชุมเกิดขึ้นราวเที่ยงของวันนี้ เมื่อนายสมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ หรือ กป.อพช.ใต้ กำลังจะอ่านแถลงการณ์ “หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการหรือกิจการที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้” บริเวณห้องประชุมที่ กสม. จัดขึ้นเพื่อพบปะประชาชน ที่ จ. สงขลา แต่นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ออกมาตะโกนห้าม ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมไม่พอใจ พากันเดินออกจากที่ประชุมและบางส่วนระบุว่า จะเพิ่มข้อร้องเรียนลงไปในแถลงการณ์ที่อ่านไปแล้ว เสนอให้กสม. โดยเฉพาะ ประธาน กสม. ที่ต้องรับฟังประชาชนให้มากขึ้น ไม่ใช่พูดแค่หลักการ
นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เผยว่า พฤติกรรมของนายวัสในวันนี้ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธาน กสม. ทั้งๆ ที่งานนี้เป็นงานที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้แสดงออก และเนื้อหาที่จะแถลงเป็นการแสดงออก ไม่ได้โจมตีฝ่ายใด จึงอยากเสนอให้ปลดประธาน กสม. ออกจากตำแหน่ง
ด้านประธาน กสม. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ได้ทราบเรื่องว่าตัวแทนภาคประชาชนต้องการอ่านแถลงการณ์ในที่ประชุม และหลังจากได้รับการยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ก็คิดว่าสามารถทำได้และตนยินดีที่จะรับฟัง แต่ขอให้จบจากวาระการประชุมก่อน เพราะในที่ประชุมมีการออกอากาศสดทางวิทยุ ส่วนการตะโกนห้ามประชาชนอ่านแถลงการณ์นั้น นายวัสกล่าวว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้ แต่ชี้ว่าประชาชนที่เข้าร่วมประชุมทำผิดข้อตกลงแต่กลับมาเรียกร้องให้คนอื่นทำอย่างที่ต้องการ
สำหรับแถลงการณ์ดังกล่าวระบุปัญหา 6 ประเด็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้คือ นโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวล นโยบายการทวงคืนผืนป่าที่ได้มีการตรวจยึดพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนอย่างไม่แยกแยะ การละเลยไม่คุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มมันนิ (ซาไก) และสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีแนวทางหรือทางออกในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ
แถลงการณ์ระบุให้รัฐบาลทบทวนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาวจากโครงการดังกล่าว และต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย หรือข้อระเบียบต่าง ๆ ในการกลั่นกรองก่อนการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน เพราะอาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต