วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 25, 2559

ยุคนายกฯ 'สง่างาม' Praynomics กำลังจะมา





กลับมาอีกแล้ว ในยุคนายกฯ สง่างามนี่แหละ ฝนตกหนักเมื่อวาน น้ำเลยพากันมา ‘รอระบาย’ บนท้องถนนของประเทศกรุงเทพฯ

ทั้งนักข่าวและผู้ขับขี่จับภาพเคลื่อนไหวของน้ำรอระบายตามจุดต่างๆ วางไว้ตรึมบนโซเชียลมีเดีย จัดภาพนิ่งมาให้ชมเพียงกระสาย จากแถว ประดิพัทธ์ รัชดา ห้วยขวาง สะท้อนอารมณ์คนกรุงต่อความไม่สง่างามของถนนหนทาง ที่มันสะเทือนไปถึงคนรับผิดชอบ ทั่นนายกฯ เล็กแห่ง กทม. นั่นแหละ





ก็เลยมาลงตรงเรื่องความ ‘สง่างาม’ ของนายกฯ ใหญ่ประเทศไทยๆ คำนี้พูดกันเยอะระหว่างที่กำลังจะนำคำถามพ่วงไปบรรจุในรัฐธรรมนูญถาวร ทั้ง สนช. กรธ. คปท. เถียงกันวุ่น บ้างอยากให้ สว. พานตั้งเป็นตัวเสนอชื่อนายกฯ ด้วย บ้างว่าช้าก่อน เอาแค่โหวตร่วมก็พอ

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ยึดเก้าอี้เขามาครอง เลยปิดประเด็นก่อนใครว่า นายกฯ คนใหม่จากนี้ไปจะเป็นใครไม่สำคัญ คนนอก คนใน ใครตั้ง ขอให้มีความสง่างามเท่านั้นพอ

กรธ. หรือกลุ่มผู้ร่างฯ ก็สรุปความเห็นว่าให้ยึดเจตนารมณ์เดิม ‘เบรก’ พวก สนช. ดี๊ด๊า (ที่ขอเพิ่มจำนวนพวกตนอีก ๓๐ เป็น ๒๕๐ เท่า สว. เพราะถือว่ามาด้วยวิธีวิเศษ ลากตั้งเหมือนกัน) ทำตัวเป็นเผด็จการเสียเอง มากกว่าหัวหน้าเผด็จการเสียอีก

แล้วทั่นรองฯ ฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม มาย้ำหัวตะปูว่า คือต้องเลือกจากในตะกร้ารายชื่อที่พรรคการเมืองกำหนดไว้ก่อนเลือกตั้ง โดยให้ ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ (๕๐๐ เสียง) ร่วมกับ ส.ว. จากวุฒิสภา (๒๕๐ เสียง) มาร่วมกันโหวต ใครได้คะแนนกึ่งหนึ่งของสองสภา คือ ๓๗๖ เสียง ก็ได้ตำแหน่งไปครอง





ถ้าเลือกกันสองสามหนแล้วยังไม่ได้ตัวนายกฯ จากในตะกร้า ก็ให้ สว. เข้ามาแจม ร่วมโหวตเลือกนายกฯ จากนอกตะกร้าด้วยเสียง ๒ ใน ๓ ของสองสภา คือ ๕๐๐ เสียง

ทั้งนี้ กรธ. ให้ความเห็นเพิ่มเติมประเด็นนี้เอาไว้แล้ว ให้ผู้เสนอชื่อนายกฯ คนนอก (ที่นายวิษณุเน้นว่า ‘นอกตะกร้า’ ไม่ใช่นอกพรรคการเมือง) จะต้องเป็นสภาผู้แทนฯ เท่านั้น

(http://shows.voicetv.co.th/tonightthailand/404223.html)

ทีมถก ‘ทูไน้ท์ไทยแลนด์’ ของว้อยซ์ทีวีเขาเลยตีความ ‘สง่างาม’ ว่าต้องมีที่มาจากประชาชน แต่ดูแล้วคนที่พูดเปิดประเด็นเรื่องนี้ไม่น่าจะคิดอย่างนั้นนะ

เพราะไม่ว่าจะไรๆ ทั่นมักโทษรัฐบาลที่แล้วร่ำไป เกิดปัญหาอะไรอ้างความผิดรัฐบาลชุดที่ประชาชนเลือกก่อนเสมอ กรณีน้ำท่วมกรุงวันนี้อีก คงบอกว่าดีกว่าสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าไปเป็นนายกฯ ใหม่ๆ เพราะจะ ‘รอ’ ช้าหรือไวก็ยังรอระบายได้...มั้ง

อย่างปัญหาเศรษฐกิจไทยคะมำคว่ำลงตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจมานี่สองปีกว่ายังไม่โงหัว ทั้งตัวหัวหน้าและลิ่วล้อได้แต่ใช้วาทกรรมซ้ำซาก ‘ปีหน้าจะดีขึ้น’ เช่นนี้ทุกปี

เมื่อวาน (๒๔ ส.ค.) นสพ.ประชาชาติธุรกิจรายงานการแถลงเรื่องหนี้สาธารณะไทยของนายธีรัชย์ อัตนวานิช รอง ผอ. สบน. (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ) ว่า “ตอนนี้ GDP ขยายตัวได้ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้”

ทำให้เมื่อสิ้นปีงบประมาณหนี้สาธารณะของไทยจะปรับตัวตาม และจะมีสัดส่วนลดลงไปอีกจากที่คาดการณ์(โดยหวัง) ว่า “จะอยู่ในระดับไม่เกิน ๔๔.๒ เปอร์เซ็นต์”

(http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1472010735)

เรื่องนี้ อจ.กานดา นาคน้อย นักวิชาการเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัต สหรัฐ อ้างถึงข่าวที่ว่า “นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการคลังเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ได้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการคลังในระยะ ๕ ปีข้างหน้า โดยคาดว่าในปี ๒๕๖๔ สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นแตะระดับ ๖๐% ของจีดีพี
(ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1439173562)”

ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เมื่อเดือนมิถุนายน ๕๙ อยู่ที่ ๔๒.๘๓ เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง อจ.กานดาอาศัยบทความของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเรื่อง ‘การพัฒนากรอบความยั่งยืนด้านการคลัง’ มาใช้อ้างถึงองค์ประกอบต่างๆ รวมทั้ง งบลงทุนต่องบประมาณรวม ‘ไม่ต่ำกว่า’ ๒๕% และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน ๑๕% ด้วยว่า

“การกำหนดการลงทุนขั้นต่ำมีจุดประสงค์ไม่ให้รัฐบาล ‘บริโภค’ มากเกินไป หลังรัฐประหารกระทรวงการคลังมีมาตรการรีดภาษีและขยายฐานภาษีสารพัดแบบ

ถ้าไม่นับรายได้จากการท่องเที่ยว ‘การใช้จ่ายภาครัฐ’ คือกลไกเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเล็กน้อย ภาครัฐใช้จ่ายมากก็ต้องกู้มากขึ้น ถ้าเก็บภาษีไม่ได้มากหรือถ้าไม่ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ”

นอกเหนือจากนั้น อจ.กานดา ยังให้ข้อคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจไทยยุค คสช. ว่าเป็น ‘เศรษฐกิจภาวนา’ (เธอใช้คำอังกฤษแทนว่า ‘Praynomics’ : https://www.minds.com/newsfeed/613431958357155848) นั่นคือ

“ก) ตัวเลขการลงทุนของบีโอไอหรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไม่ใช่ตัวเลขการลงทุนตรงจริงๆ

เป็นเพียงตัวเลขการขออนุญาตลงทุน ขอแล้วได้รับอนุญาตไม่ลงทุนก็ไม่เป็นไร แต่เป็นตัวเลขที่ฝ่ายการเมืองชอบเอามาชูป้ายติดไฟนีออนให้ฟังดูมีความหวัง ถ้าดูตัวเลขการลงทุนจริงก็จะพบว่า "ทุนตรงไทยไหลออก ทุนตรงจากนอกทรุดตัว"

(http://www.bangkokpost.com/…/foreign-direct-investment-coll…)

ข) คนไทยมีสุขหรือทุกข์นั้นก็ถามภัตตาคารดูได้ว่ารายได้ดีไหม? ถ้าคนมีสุขรื่นเริงบันเทิงก็จะออกไปสังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้ ถ้าเครียดกับรายได้และรายจ่ายก็ไม่สังสรรค์





สำนักข่าวบลูมเบิร์กเองก็ลงบทความเล่าว่าอัตราการว่างงานไทยต่ำเพราะนิยามหลวมๆ จนน่าขบขัน นับคนทำงาน ๑ ชั่วโมงว่าไม่ตกงาน (http://www.bloomberg.com/…/thailand-s-unemployment-rate-is-…)

ตอนฉันอ่านบทความบลูมเบิร์กทีว่าไทยเป็นประเทศที่มีความสุขทีสุด ฉันก็อยากถามว่าผู้เขียนบทความนั้นสนใจย้ายไปอยู่ไทยไหม? ถ้าไม่สนใจแล้วเขียนบทความขยะๆ อันนี้เพื่ออะไร? ไม่สนใจนับอัตราอาชญากรรมในดัชนีความสุขเหรอ?

ค) ฉันคิดว่าอีกไม่นานคงมีโพลล์สำรวจว่าคนไทยส่วนมาก ‘มีความสุข’

ความ ‘ดักดาน’ เป็นสิทธิส่วนบุคคลจริงๆ นะ!”