วันเสาร์, สิงหาคม 27, 2559

แนวคิดคนรุ่นใหม่ ทางเลือกในสังคม และทางแพร่งประชาธิปไตย - นิตยสาร Way #91 พาไปสำรวจ ทางเลือกที่จะสร้าง ‘New Country’ (for young Gen)





WAY 91 ‘New Country for Young Gen’

26 Aug 2016
Way Magazine


แนวคิดคนรุ่นใหม่ ทางเลือกในสังคม และทางแพร่งประชาธิปไตย

Main Way: New Country for Young Gen

รอบทศวรรษที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ทำให้ความหมายของสิทธิ์และเสรีภาพบิดรูปไป เราเชื่อว่า เรามีสิทธิ์ และรัฐต้องให้สิทธิ์นี้กับเรา แต่วันหนึ่งก็กลับพบว่า เราไม่สามารถใช้เจ้าสิทธิ์นี้ได้อย่างเสรี ภายใต้เสรีภาพที่หดลง คงนึกตามได้ไม่ยากว่า สิทธิ์จะถูกบีบให้เหลือเล็กจิ๋วขนาดไหน

เราเชื่อว่า ทุกคนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แต่ก็เห็นๆ อยู่ว่าเรากำลังจะ ‘ไม่มีสิทธิ์’ และต้องอยู่กับอนาคตที่เราไม่ได้เลือก เมื่อทางเลือกมีแค่สอง แน่นอนว่าเสรีภาพคือการปฏิเสธกล่องสี่เหลี่ยมที่พยายามครอบงำเอาไว้ – นั่นคือทางที่ต้องเลือก และเรามีหน้าที่ต้องเลือกด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่า ‘เขา’ จะห้ามด้วยวิธีใดก็ตาม

และในฐานะมนุษย์ เรายังมีทางเลือกอื่นๆ อีกหลายอย่าง ที่กองบรรณาธิการ WAY จะพาไปสำรวจว่า มีช่องทางไหนบ้างที่คนธรรมดาสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยเชื่อว่า เรายังมีทางเลือกอื่นๆ อีกที่จะสร้าง ‘New Country’ และอนาคตใหม่ได้

นี่อาจเป็นอนาคตที่เลือกได้ด้วยตัวคุณเอง เพื่อตัวคุณเอง และถางทางไว้เพื่อคนรุ่นถัดไปที่เริ่มเดินเข้ามา






The Sound of Silence

เราไม่อยากพูดเองเออเองเพียงลำพัง และไม่อยากอธิบายในสิ่งที่เราไม่รู้…และไม่คิดว่ารู้ ด้วยความอยากตั้งคำถาม อยากรับฟัง และต้องการคู่สนทนา กองบรรณาธิการ WAY จึงเลือกใช้ ‘บทสนทนากับ ไชยันต์ ไชยพร’ ศาสตราจารย์จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอธิบายหลักการและความหมายของบรรดาคำเหมาเข่งที่เรียกรวมๆ ว่า ‘เผด็จการ’






40 Years Ago Model

ประสบการณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแถบเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่ ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ ประเทศเหล่านี้ล้วนอยู่ระหว่างเร่งสร้างชาติ ‘รัฐอำนาจนิยม’ อาจมีความจำเป็น ณ เวลานั้น แต่เมื่อประเทศเหล่านี้พัฒนาเศรษฐกิจจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ก็สามารถหาทางออกจากวงจรการเมืองแบบเผด็จการได้

ระหว่างต้นทศวรรษ 1960 -1990 ความสำเร็จของเสือเศรษฐกิจเอเชียทั้งสี่ ซึ่งก็คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ถูกมองว่าเป็น ‘มหัศจรรย์แห่งเอเชีย’ (Asia Miracle) ในมุมนักเศรษฐศาสตร์การเมือง นพนันท์ วรรณเทพสกุล สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ปาฏิหาริย์แบบนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงอีกแล้ว






Soul Mate: Dictator & Corruption

ในยุคที่อินโดนีเซียอยู่ภายใต้ประธานาธิบดีซูฮาร์โต หรือยุคที่เกาหลีใต้อยู่ภายใต้เผด็จการทหาร สังคมเต็มไปด้วยการผูกขาดอำนาจของผู้นำ ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งสื่อและประชาชนไม่สามารถใช้อำนาจตรวจสอบได้เลย นำไปสู่การใช้อำนาจอย่างบิดเบือนและแสวงหาผลประโยชน์ให้กับผู้นำและพวกพ้อง

“ระหว่างคอร์รัปชันกับการเป็นสังคมปิดแบบเผด็จการ เรียกว่าเกือบจะเป็นของคู่กัน”

ข้อสรุปจากงานวิจัยเชิงวิพากษ์ ‘การพัฒนาประชาธิปไตยกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน: บทเรียนจากต่างประเทศ’ ของ ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกศึกษากลไกหรือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในห้าประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ ฮ่องกง อินโดนีเซีย ชิลี และอุรุกวัย โดยจุดร่วมของเกือบทุกประเทศก็คือ กระบวนการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมักมาคู่กัน

เมื่อประเทศเหล่านั้นเปลี่ยนผ่านจากสังคมเผด็จการ ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ไปเป็นสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงขึ้น ประเทศเหล่านั้นก็เริ่มต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันได้ดีขึ้น สังคมก็มีความโปร่งใสมากขึ้น






Interview: เผด็จการกับประชาธิปไตยในความต่าง

ชวน ปริญญา เทวานฤมิตรกุล พูดคุย กับคำถามพื้นฐานที่ต้องทบทวนกันใหม่ว่า ทำไมต้อง ‘ประชาธิปไตย’ และเหตุใดจึงไม่ควรหันหลังให้กับกติกาและแง่มุมทางกฎหมายที่เราเคยยอมรับร่วมกัน







Interview: จะให้ทำอย่างไร เมื่อประชาธิปไตยไม่ฟังก์ชั่น!

เผด็จการแบบฮิตเลอร์ต่างจากเผด็จการอื่นๆ หรือไม่ ทำไมสาธารณรัฐไวมาร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยถึงล่มสลาย แล้วได้ระบอบปีศาจที่กวาดชีวิตผู้คนไป 11 ล้านคนขึ้นมาแทน ฮิตเลอร์ชนะเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากแบบแลนด์สไลด์ถล่มทลายอย่างที่ใครๆ พูดกันจริงไหม แล้วในยุคนาซีเรืองอำนาจ ผู้ที่ต่อต้านอยู่ในสภาพเช่นไร

แม้จะออกตัวว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านฮิตเลอร์และระบอบนาซีโดยตรง แต่ ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคอลเล็คชั่นหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายสิบเล่ม ทั้งภาษาอังกฤษและเยอรมัน และยังเปิดวิชาเลือกว่าด้วยนาซีเยอรมนี เมื่อภาคต้นในปีการศึกษา 2558 และยังจะเปิดอีกในปีต่อๆ ไป

นอกจากประเด็นเผด็จการ เรายังได้เรียนรู้วิธีจัดการกับอดีตและประวัติศาสตร์บาดแผลของเยอรมนี และมากไปกว่านั้น คือคุณค่าของการมีชีวิต ที่ชาวเยอรมันยุคหลังสงครามพยายามพร่ำบอกกับชาวโลกเรื่อยมา

Contributor
กล้า สมุทวณิช

หนึ่งในคอลัมนิสต์ในนิตยสาร WAY ฉบับรายเดือน เจ้าของคอลัมน์ ‘คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง’ ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ผู้ประพันธ์รวมเรื่องสั้น หญิงเสาและเรื่องราวอื่นๆ ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปี 2557 ในวงวิจารณ์วรรณกรรม กล้า สมุทวณิช มักใช้คำเปรียบรสของวรรณกรรมเข้ากับรสและลักษณะของเครื่องดื่มตั้งแต่ไวน์ วิสกี้ เบอร์เบิ้น และเบียร์ แม้ดำรงตนอยู่อย่างหลายบทบาท แต่งานวรรณกรรมคือเส้นเลือดใหญ่คอยหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ของเขา

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

ถึงปากจัดแต่วิจารณ์บนฐานข้อมูล คือลักษณะที่พบได้จากข้อเขียนของเจ้าของหนังสือ Global Report ซึ่งเป็นหนังสือขายดีระดับพิมพ์มากกว่าหนึ่งครั้งของสำนักพิมพ์ WAY OF BOOK งานหลักของเธอคือการชี้ถึงความเป็นความตายของผู้คนในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่มาจากการดำเนินนโยบายสาธารณะในแต่ละประเทศ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงทรัพยากร ระบบการศึกษา สิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สุขภาพ คุณภาพชีวิต และนี่คือที่มาของนิ๊กเนมที่สะท้อนทั้งลักษณะของ ‘ภายใน’ และ ‘ภายนอก’ ของเธอ ‘หญิงอ้วนชวนทะเลาะ’

ไพรัช แสนสวัสดิ์

ผลงานแปลเล่มสำคัญอย่าง Bury My Heart at Wounded Knee, The Lemon Tree และ The Motorcycle Diaries สะท้อนความสนใจและจุดยืนทางสังคมการเมืองของ ไพรัช แสนสวัสดิ์ ได้อย่างชัดเจน นอกจากงานแปลแล้ว ไพรัชยังนิยมขี่จักรยานทางไกลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คนหนุ่มตั้งคำถามกับกำลังวังชาของตัวเอง ปัจจุบัน ‘ป๋า’ ของน้องๆ ในนิตยสาร WAY กำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับ โซฟี โชลล์ และ ‘ขบวนการกุหลาบขาว’ ในยุคนาซีครองอำนาจ คอลัมน์ของป๋าใน WAY ฉบับนี้ เป็นการวอร์มร่างกายเท่านั้น

ทินกร หุตางกูร

นักประพันธ์ผู้มีดีเอ็นเอเฉพาะในสำนวนเขียน นอกจากแสงและเงาในงานเขียนประเภท fiction สิ่งที่ปรากฏในงานเขียนของ ทินกร หุตางกูร คือการบันทึกสภาพสังคมการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ปัจจุบัน นักเขียนที่ถูกเรียกขานว่า ‘เจ้าชายโรแมนติก’ กำลังเขียนนวนิยายเล่มใหม่ พร้อมๆ กับฟังเพลง และดูเทนนิส นักดำน้ำกับช่างต่อเรือ คือเรื่องสั้นเรื่องล่าสุดจากเขา

บดินทร์ เทพรัตน์

เป็นนักเขียนประจำด้านภาพยนตร์ในนิตยสาร Starpics และเคยมีผลงานเป็นบทความแนวภาพยนตร์ ท่องเที่ยว สังคมการเมือง ตีพิมพ์ในนิตยสารหลายเล่ม เช่น Way, Ellemen, วารสารอ่าน เป็นต้น นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้ก่อตั้ง ‘ปันยามูฟวี่คลับ’ กลุ่มกิจกรรมจัดฉายหนังและเสวนาในจังหวัดเชียงใหม่

เป็นผู้สนใจเรื่องหนังที่เชื่อมโยงกับการเมือง มีรสนิยมชอบดูหนังเอเชีย โดยเฉพาะหนังของ เอ็ดเวิร์ด หยาง, อับบาส เคียรอสตามี, โหวเสี่ยวเฉียน, จางอวี้โหมว (ยุคแรก), อากิระ คุโรซาว่า, ฮิโรคาสุ โคริเอดะ และหนังทุกเรื่องที่ ยู อาโออิ แสดง

iLaw

องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม มีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงหลักการประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และระบบยุติธรรมไทยที่เป็นธรรม และตรวจสอบได้กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป

ชื่อเดียวกับเพจเฟซบุ๊คของผู้ทำงานศิลปะแนวป๊อปเชิงยอกย้อน เสียดสีและจิกกัดกระแสหลักด้วยรูปภาพ จากคอลัมนิสต์ประจำในนิตยสาร WAY ฉบับรายเดือน ในเล่ม 91 นี้ เขาได้นำหน้าตาของ ‘ดาร์ธเวเดอร์’ จากภาพยนตร์ Stars Wars มาจัดวางเป็นงานใหม่ได้อย่างน่าสนใจ และทุกวันนี้เขาก็ยังคงทำงานศิลปะแนวป๊อปๆ แบบนี้เพื่อบอกเล่าเรื่องจริงที่ทั้งขมทั้งแสบอยู่อย่างต่อเนื่อง

Nodjadong

นจดงค์ บุญประเสริฐ เป็นคนมือบอนตั้งแต่สมัยเป็นนิสิต ฝากลายเส้นไว้บนพื้นผิวต่างๆ เช่น ปกหนังสือ (หลายปกของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา และ WAY ฉบับกัญชา) กำแพง เสื้อยืด และผิวหนังของผู้ที่ไม่กลัวเข็มสัก เส้นสายของเขามีเรื่องเล่าเฉพาะ บางคนอาจรู้สึกว่าเข้าใจยาก ปัจจุบันเขาช่วยให้ผู้เสพ ‘เก็ท’ ได้มากขึ้นในรูปแบบการ์ตูนช่องทุกสุดสัปดาห์ ที่ Nodjadong [Weekly]

สำหรับ WAY ฉบับนี้ เขาละเลงเรื่องราวไว้บนหน้ากระดาษประหนึ่งสาดหมึกลงกำแพง จนเราแทบอยากปรับขนาดรูปเล่มหนังสือให้ใหญ่ขึ้นสักสองเท่า แต่คุณสามารถชมงานอื่นไปพลางๆ ได้ที่ Nodjadong

คลิกเพื่อชมภาพเนื้อหาในอัลบั้ม WAY 91

คลิกเพื่อสั่งซื้อ WAY 91 ที่นี่