วันจันทร์, สิงหาคม 08, 2559

ประชาไทสัมภาษณ์ นิธิ เอียวศรีวงศ์: ผลประชามติสะท้อนสิ่งใด




สัมภาษณ์นิธิ เอียวศรีวงศ์: ผลประชามติสะท้อนสิ่งใด

Sun, 2016-08-07 23:55

ประชาไท

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ให้สัมภาษณ์หลังผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ชี้ผลเกิดการไม่ได้เปิดให้มีการพูดคุยถกเถียงกันอย่างเสรี ทำให้คนจำนวนมากเลือกสิ่งที่ง่ายไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม คสช. คงเอาไปอ้างความชอบธรรมได้แค่ครึ่งเดียว ในเมืองไทยคงพอฟังได้ แต่จะอ้างกับโลกคงยาก คนเห็นไม่ยุติธรรมมาแต่ต้น

7 ส.ค. 2559 สัมภาษณ์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์หลังผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ซึ่งเขาเห็นว่าผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการจัดทำประชามติที่ไม่ได้เปิดให้มีการพูดคุย ถกเถียงกันอย่างเสรี ก็จะให้ผลเช่นนี้ คนจำนวนมากเลือกสิ่งที่ง่ายไว้ก่อน เช่น ง่ายแก่ตัวเขา ง่ายแก่ประเทศชาติบ้านเมือง หรือสิ่งใดก็แล้วแต่ เช่นป้องกันไม่ให้ขัดแย้งรุนแรงกว่านี้ โดยที่ไม่ได้คิดหรือไม่ได้รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญหมายความว่าอย่างไรกันแน่ ในขณะเดียวกันนั้นผมคิดว่าสิ่งที่ คสช. ต้องการความชอบธรรมที่จะเอาไปอ้างในโลกนี้และในเมืองไทย มันก็ได้ผลครึ่งเดียว คืออ้างในเมืองไทยอาจพอฟังได้ แต่อ้างในโลกนี้ยากเพราะคนเห็นว่าเป็นการทำประชามติที่ไม่ยุติธรรมมาตั้งแต่ต้น

นิธิ ยังตอบคำถามต่อเรื่องพื้นที่ภูมิศาสตร์ของการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งยังคงหนาแน่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนบน และดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

นอกจากนี้สำหรับผู้ที่หวังจะเห็นสังคมที่มีเสรีภาพ พื้นที่การแสดงความคิดเห็น และประชาธิปไตยที่มากขึ้น นิธิกล่าวว่า ก็ไม่ควรสิ้นหวังเสียทีเดียว ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่คนระดับล่างจะไม่มีปากมีเสียงเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เขาอธิบายว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้นเปลี่ยนไปมาก และไม่ได้เปลี่ยนในสมัยทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เปลี่ยนมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ยุคหลัง 6 ตุลา 19 หรือยุครัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ จนถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่คนไทยหลุดจากสังคมเกษตรกรรมแบบเลี้ยงตนเอง มาสู่เศรษฐกิจตลาด เมื่อคนเข้าสู่เศรษฐกิจตลาดคนจะกลับไปอยู่อย่างเก่าไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เขาจึงต้องมีอำนาจต่อรองในระดับหนึ่ง คุณจึงหลีกสิ่งเหล่านี้ไม่พ้น คุณต้องให้อำนาจต่อรองแก่เขา แต่ปัญหาที่ผ่านมา ชนชั้นนำไทยไม่มีความสามารถพอที่จะสร้างระบบที่จะกุมการต่อรองของประชาชนได้ในระดับที่สูง

ถาม: เท่าที่ติดตามผลคะแนนประชามติตลอดช่วงเย็นที่ผ่านมา คิดว่ามันสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง?

นิธิ: มันสะท้อนให้เห็นว่าการจัดทำประชามติที่ไม่ได้เปิดให้มีการถกเถียงพูดคุยกันอย่างเสรีมันก็จะให้ผลแบบนี้แหละ คือ คนจำนวนมากเลือกเอาสิ่งที่ง่ายที่สุดไว้ก่อน ทั้งง่ายแก่ตัวเขา ง่ายแก่ประเทศชาติบ้านเมือง ง่ายต่ออะไรก็แล้วแต่ เช่น ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากไปกว่านี้ โดยที่ไม่ได้คิดหรือรู้ว่าจริงๆ แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หมายความว่าอย่างไรกันแน่

ขณะเดียวกันนั้นสิ่งที่ คสช.ต้องการก็คือ ความชอบธรรมที่จะเอาไปอ้างทั้งในเมืองไทยและในโลกนี้ได้ ซึ่งมันก็ได้ผลเพียงครึ่งเดียว อ้างในเมืองไทยอาจพอฟังได้ แต่อ้างในโลกนั้นยากเพราะทุกคนก็มองเห็นอยู่ว่ามันเป็นการทำประชามติที่ไม่ยุติธรรมมาตั้งแต่ต้น

เมื่อดูคะแนนรายภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนบน และพื้นที่สามจังหวัด คะแนนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ค่อนข้างหนาแน่น เราจะแปลความจากคะแนนนี้อย่างไร ?

นิธิ: นี่เป็นการคิดโดยข้อมูลยังไม่พร้อม และยังไม่ได้คิดอย่างละเอียดรอบคอบ แต่ผมกำลังสงสัยว่าสิ่งที่สะท้อนออกมาคือ ระดับของการถูกผนวกรวมเข้าไปในชาติไทย หมายความว่า จังหวัดที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ดินแดนที่่ไม่สามารถนับตัวเองเท่ากันกับคนในภาคกลางว่าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย จะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ที่ชัดเจนคือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนที่เสมอภาคหรือเท่าเทียมกับคนในส่วนอื่นในประเทศไทย ภาคเหนือตอนบนก็ตาม ภาคอีสานก็ตาม ระดับการถูกผนวกรวมมาในชาติไทยมันไม่เท่าเทียมกัน แล้วคนในสามจุดที่พูดถึงนี้ คือ คนที่เขารู้สึกว่าเขายังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่เท่าเทียมกับส่วนอื่น อันนี้ตอบแบบคิดทันที ก็ไม่รับรองว่าจะใช่หรือไม่ใช่

ก่อนที่จะมีการลงประชามติ ฝ่ายการเมืองจำนวนมาก พรรคการเมืองหลักประกาศไม่รับ แต่ผลกลับมารับมากกว่าไม่รับ มันสะท้อนว่าเขาไม่ได้ฟังฝ่ายการเมืองไหม ?

นิธิ: เวลาที่คุณมีการเลือกตั้ง ไม่ว่าท้องถิ่นหรือระดับชาติ นักการเมืองมีโอกาสสื่อสารกับประชาชนมากกว่านี้แยะ นักการเมืองทำให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงในผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน บางคนอาจจะบอกว่า ซื้อเสียง แต่ผมไม่เชื่อว่ามันจะเป็นเรื่องซื้อเสียงแต่เพียงอย่างเดียว มันเกิดความเชื่อมโยงกับประชาชนในแง่ว่าเราจะผลักดันผลประโยชน์บางอย่างร่วมกัน ฉะนั้นเขาก็เลือกนักการเมือง แต่อยู่ๆ คุณบอกให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่ให้นักการเมืองเข้าไปเดินสาย สร้างเครือข่ายในการเชื่อมโยงกับประชาชน ถามว่าประชาชนมีความรักนักการเมืองขนาดนั้นเหรอ ไม่ใช่ ประชาชนที่ไหนๆ ในโลกก็ไม่ได้รักนักการเมืองขนาดนั้นทั้งสิ้น แต่นักการเมืองจะให้สัญญาแก่การสร้างเครือข่ายเพื่อผลักดันผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง เมื่อมันไม่มีสิ่งนี้ ผมว่าคุณสุเทพก็ไม่มีความหมาย พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่มีความหมาย พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีความหมาย ผมไม่คิดว่าจะมีคนไทยคนไหนชื่มชมคุณทักษิณก็ได้ คุณอภิสิทธิ์ก็ได้ คุณสุเทพก็ได้ โดยที่สามคนนี้ไม่มีโอกาสส่งคนมาเชื่อมโยงเพื่อสร้างเครือข่ายของผลประโยชน์บางอย่างร่วมกัน

จริงๆ ประชาธิปไตยก็เรื่องแค่นี้แหละ คือเรื่องการที่เราร่วมกันในการสร้างจุดยืนที่เราคิดว่ามีประโยชน์ต่อตัวเราหรือต่อส่วนร่วมก็แล้วแต่ ผลประโยชน์ต่อตัวเราหรือผลประโยชน์ต่อส่วนรวม ทีนี้ถ้าคุณบอกว่าแบบนี้ไม่ให้คุณทำ อยู่ๆ จะมีคนรักคุณทักษิณ คุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ ขนาดนั้นไม่มีหรอก และขณะเดียวกันผมก็ไม่เชื่อว่าจะมีใครรักคุณประยุทธ์มากขนาดนั้น เป็นแต่เพียงว่าในท่ามกลางสิ่งที่อยู่ๆ เสนอให้คุณเลือกระหว่างรัฐธรรมนูญที่คุณอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง คุณก็เลือกเอาสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณมากที่สุด เช่น อย่างน้อยก็ไม่ได้ขัดใจใคร อย่างน้อยก็จะได้เลือกตั้งซักที อะไรก็แล้วแต่ต่างคนต่างคิดมองประโยชน์ที่ไม่เหมือนกัน และเป็นการเปิดโอกาสให้ตัดสินใจโดยขาดข้อมูลทุกฝ่าย จนกระทั่งว่ามันไม่ใช่การตัดสินใจจริง เราไม่เลือกเมียด้วยการจับสลาก ก็ไม่มีใครเลือกรัฐธรรมนูญด้วยวิธีแบบนี้เหมือนกัน

มองโครงสร้างทางการเมืองหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านอย่างไรบ้าง ยังไม่นับว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายชุด

นิธิ: กลุ่มผลประโยชน์หลักของประเทศนี้ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพ นายทุนระดับใหญ่ๆ อำนาจตามประเพณีอะไรก็แล้วแต่จำนวนหนึ่ง กลุ่มเหล่านี้ได้สมัครสมานสามัคคีในการระวังไม่ให้ประชาชนเป็นคนเลือกเองมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว คำถามก็คือ บัดนี้เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่าคนกลุ่มนี้ยอมถอยออกไปให้ประชาชนเลือกโดยเสรีไหม ไม่ ที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐธรรมนูญ 40 ก็ตาม 50 ก็ตาม ประชาชนออกจะเลือกตามใจตัวเอง เลือกตามผลประโยชน์ตนเอง ตามความชอบตนเองมากขึ้น แล้วก็มองผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำน้อยลง ดังนั้น การรัฐประหารครั้งนี้คือการร่วมมือกันของกลุ่มชนชั้นนำ ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ในการรักษาสิทธิหรืออำนาจที่เหนือกว่าคนอื่นๆ ให้คงอยู่ต่อไป รัฐธรรมนูญที่เขียนออกมีจุดมุ่งหมายนี้ชัดเจน ตรงไปตรงมา ประชาชนทั่วไปมีสิทธิเลือกจำนวนหนึ่งแต่การเลือกของคุณจะไม่มีผลตัดสินเด็ดขาด ยังมีสถาบันที่มาจากการแต่งตั้งจำนวนหนึ่งมาคอยกำกับควบคุมเอาไว้ ไม่ให้การตัดสินใจของประชาชนมีผลอย่างจริงังต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะ จะมีคนคอยกำกับอยู่ข้างบนตลอดเวลา เป็นการดิ้นจะเฮือกสุดท้ายหรือไม่ก็แล้วแต่ของกลุ่มชนชั้นนำทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของไทยในการจะรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ให้ได้ ในท่ามกลางการเปิดให้ดูเหมือนประหนึ่งว่าเป็น ประชาธิปไตย

ความพยายามในการจัดระเบียบอำนาจกันใหม่นำมาสู่การทำประชามติรัฐธรรมนูญ มองว่าภาวะแบบนี้จะอยู่นานไหม หรือจะมีตัวแปรหรือปัจจัยอื่นที่ทำให้สถาปัตยกรรมอำนาจที่เขาพยายามจะจัดสรรกันใหม่ไม่ยั่งยืน

นิธิ: ผมทำนายตรงๆ ไม่ได้ แต่ผมบอกได้อย่างหนึ่งว่า วิธีการควบคุมอำนาจแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปไม่ได้ในโลกปัจจุบัน วิธีที่กลุ่มชนชั้นนำทั้งหลายจะกุมอำนาจได้มันซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่านี้แยะ ไม่ใช่วิธีการอย่างที่คุณมีอำนาจนอกระบบรัฐสภามาคุมตัวรัฐสภาอีกทีแบบตรงไปตรงมาแบบนี้ มันเป็นไปไม่ได้ จริงๆ แล้วก็ต้องยอมรับว่าในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษมันก็มีอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำที่แฝงมาในรูปต่างๆ ในการคุมเอาไว้ เช่น ประธานาธิบดีอเมริกันใช้เงินเป็นร้อยล้านเหรียญในการหาเสียง คิดเหรอว่าคนธรรมดาที่ไหนจะสามารถแข่งขันได้ ยังไงๆ ก็มีกลุ่มอำนาจลับๆ เบื้องหลังในการชักใยประธานาธิบดี วุฒิสมาชิก ฯลฯ แน่ๆ เป็นแต่เพียงมันมองไม่เห็นถนัด แต่ของเรามันมองเห็นถนัดเกินไปกว่าที่จะเป็นไปได้ในโลกปัจจุบันนี้แล้ว คุณต้องกลับไปคิดใหม่ว่าจะทำยังไงให้กลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม กุมอำนาจได้โดยมองไม่เห็นถนัด ผมคิดว่าเขาไม่ได้คิดเรื่องนี้ดีพอ แล้วกลุ่มชนชั้นนำไทยก็ใจแคบเกินกว่าจะยอมให้รักษาอำนาจที่แท้จริงไว้ในมือ แล้วปล่อยส่วนอื่นๆ ให้ประชาชนเล่น ทำแบบนี้ไม่เป็น จะเอาทุกอย่าง เรื่องเล็กเรื่องน้อย เอาหมด ตรงนี้แหละที่จะเป็นปัญหา คุณเข้าไปสู่โลกยุคใหม่ไม่ได้เพราะเหตุนี้

คนที่หวังอยากเห็นการมีเสรีภาพมากขึ้น มีประชาธิปไตยมากขึ้นในสังคม เขายังมีความหวังได้อยู่ไหม?

นิธิ: ผมว่าก็ไม่ควรสิ้นหวัง ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็นไปไม่ได้อีกแล้วในการที่จะบอกว่าคนระดับล่างสุดจะไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลยแบบที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนมาก ไม่ใช่เปลี่ยนเมื่อสมัยที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ ด้วย มันเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่สมัยหลัง 6 ตุลาเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ พล.อ.เปรม เป็นต้นมา ก็ค่อยๆ เปลี่ยนมากขึ้นๆ พูดง่ายๆ ว่าคนไทยหลุดจากการผลิตแบบเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงตนเองมาสู่เศรษฐกิจตลาด พอคนมาอยู่แบบนี้แล้วจะเป็นแบบเก่าไม่ได้ ทำให้เขาต้องมีอำนาจต่อรองปริมาณหนึ่ง อาจไม่เต็มที่เหมือนเสรีชนทั่วไป แต่ต้องมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ด้วยเหตุดังนั้นคุณหลีกหนีสิ่งนี้ไม่ผล คุณต้องให้อำนาจต่อรองกับเขา เป็นแต่เพียงคุณจะซ่อนอำนาจคุณยังไงถึงจะกุมการต่อรองไว้ให้ได้ ไอ้นี่ต่างหากคือตัวปัญหาที่แท้จริงที่ชนชั้นนำไทยไม่มีกึ๋นหรือความสามารถพอที่จะกุมอำนาจการต่อรองของประชาชนได้ในระดับที่สูง อย่าลืมว่าชนชั้นนำเป็นคนส่วนน้อยเสมอ แต่คนที่เขามีกึ๋นเขาจะสามารถกุมได้แบบที่คนข้างล่างแทบจะไม่รู้สึกตัว ชนชั้นนำของเราเห็นแก่ตัวเกินไป โง่เกินไป แล้วก็ขี้ขลาดเกินไป ไม่กล้าที่จะเข้าไปสู่ระบบที่คุณดึงเชือกอยู่ข้างหลังโดยไม่มีใครเห็น