บักดอน ฝากถามต่างชาติ “เป็นเพราะอะไรถึงไม่เข้าใจไทย เนื่องจากการทำประชามติครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประชาชนออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก ทำไมจึงเลือกปฏิบัติ”
ถ้าเขาตอบแบบทรั้มพ์ ย้อนศรที่ละประเด็น ต้องว่า
ประเด็นแรก เลือกปฎิบัติเพราะเป็นประเทศที่รัฐบาลมาจากการยึดอำนาจ ปกครองด้วยกฎหมายเผด็จการ และไล่บี้ทำร้ายผู้เห็นต่าง
แล้วยังโกหกพกลมว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน ตอหลดตอแหลว่าเป็นประชาธิปไตย
สอง ประชาชนไปใช้สิทธฺ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่น้อยแต่ก็ไม่ได้เรียกว่ามาก ที่ควรจะไปกันอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์เป็นพวกบอยคอตและนอนหลับทับสิทธิ ที่เห็นว่าประชามติเป็นเพียงกลเม็ดของ คสช. เพื่อชุบตัวให้ดูดีในสายตาของชาติประชาธิปไตย
ดังปรากฏในรายงาน อีสานโพล ว่า คนอีสานที่ไม่ไปออกเสียงประชามติ มีถึง ๗๘.๕ เปอร์เซ็นต์เป็นเพราะ “ไม่เห็นชอบคำถามพ่วง”
เตือนความจำกันอีกครั้งว่า ‘คำถามพ่วง’ คือประกาศิตสำคัญเพื่อการกุมอำนาจของ คสช. ต่อไปอีกนาน
โดยกำหนดว่าจะต้องมีวุฒิสภาด้วยการสรรหา (ที่ลงเอยก็มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.) จำนวนครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ (๒๕๐ คน) ติดอาวุธด้วยอำนาจโหวตเลือกตัวนายกฯ
(http://isaanrecord.com/2016/08/08/esaan-poll-referendum/)
ภาคอีสานนี่แหละที่คะแนนรวมทั้งภาค ‘ไม่รับ’ ร่าง รธน. มากกว่า ‘รับ’ แล้วยังมีสามจังหวัดภาคใต้ติดชายแดน กับอีกสองจังหวัดภาคเหนือ
สาม ที่ว่าเรียบร้อยก็เพราะใช้วิธีการข่มขู่ (ด้วยโทษจำคก ๑๐ ปี) ห้ามค้าน ห้ามวิจารณ์ คนส่วนหนึ่งกลัวกันหงอ อีกส่วนหนึ่งหลงคารม กกต. และ กรธ. คิดว่าถ้าผ่าน รธน. ก็จะได้เลือกตั้งกันเสียที
สี่ ที่ว่าเขาไม่เข้าใจไทย นั่นเป็นเพียงการกระหวัดลิ้นของบักดอน ซึ่งซึมซับมาจากการได้เป็นลิ่วล้อ คสช. สองปีกว่า
ที่จริงต่างประเทศน่ะเขาเข้าใจสภาพการณ์ในไทยลึกซึ้งทีเดียว ว่าเป็นกรรมของประชาชนที่นอกจากจะโดนเผด็จการ คสช. ปู้ยี่ปู้ยำแล้ว ยังมีลิ่วล้ออย่างบักดอนคอยโป้ปดต่อชาวโลกแก้ต่างให้
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐจึงได้ออกแถลงการณ์ทันทีหลังจากรู้ผลประชามติ ว่า
“สหรัฐยังคงเป็นห่วงว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ถี่ถ้วนพร้อมมูลอย่างควร เพราะไม่อนุญาตให้มีการอภิปรายโต้แย้งอย่างเปิดเผยก่อนจะมีการผ่านร่าง”
นางเอลิซาเบ็ธ เค็นเนดี้ ทรูโด โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐแถลงเมื่อวันที่ ๘ ส.ค. ด้วยว่า
“เราใคร่หนุนให้ผู้มีอำนาจในประเทศไทยก้าวไปสู่ขั้นตอนต่อไป เพื่อเร่งนำประเทศไทยกลับคืนสู่การมีรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และ
“เราขอกระตุ้นอย่างหนักแน่นให้รัฐบาลไทยยกเลิกข้อจำกัดต่อสิทธิมหาชนต่างๆ เสียที อันรวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการชุมนุมโดยสันติ”
(https://www.yahoo.com/…/us-urges-thailand-restore-civilian-…)
แม้แต่สหพันธ์นักศึกษาพม่าก็ยังออกแถลงการณ์ “เรียกร้องให้นักศึกษาไทยและประชาชนไทยยืดหยัดต่อสู้” พวกเขาให้เหตุผลว่า
“รัฐบาลทหารของไทยได้ร่างรัฐธรรมนูญโดยเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองเพื่อจะเป็นผู้นำทางการเมืองอย่างถาวร โดยประสบการณ์ของพวกเราแล้ว ผลลัพธ์นั้นจะนำพาไปสู่การถดถอยของประชาธิปไตย...
เราเชื่อว่าสิทธิประชาธิปไตยก็จะถูกลดทอน เหตุการณ์อันเลวร้ายจากการปิดกั้นนักกิจกรรม นักการเมือง ผู้ที่มีความเห็นต่าง และปัญญาชนหัวก้าวหน้า ก็จะยิ่งเลวร้ายลงไปอีก”
(https://www.facebook.com/newdemocracymovement/photos/a.958539464196431.1073741828.958469920870052/1190131917703850/?type=3&theater)
ต่อประเด็นที่บักดอนบอกว่า “อยากให้นานาประเทศเคารพเสียงของคนไทยเหมือนที่เขาเคารพเสียงประชาชนในประเทศต่างๆ ที่มีการทำประชามติ เพราะเสียงของคนไทยก็ไม่แตกต่างกับมาตรฐานของประเทศอื่น”
อันนี้ก็ต้องแย้งหน่อยว่า เสียงคนไทยมีคุณค่าไม่ต่างกับเสียงของชนชาติไหน แต่คนที่ไปออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการในประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ได้ออกเสียงให้แก่ร่าง รธน.ที่แสดงเนื้อแท้ให้เห็น ว่ามีการหมกเม็ดเนื้อหาเผด็จการ และใช้ถ้อยคำกำกวมให้ตีความพลิกแพลงได้
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักวิชาการนิติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์วิเคราะห์ผลสะท้อนจากการผ่านร่าง รธน. มีชัยครั้งนี้ แสดงว่าการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลทหารได้ผล
“คนไทยจำนวนน้อยนักที่อ่านเนื้อหาในร่างฯ ก่อนจะไปลงคะแนน ได้แต่ดูเอาจากรายการโทรทัศน์ที่สนับสนุนรัฐบาลเท่านั้น” รายงานของ SEA Globe ตอนหนึ่งอ้างคำ อจ.เข็มทอง
“จากนี้ไปชีวิตคนไทยจะมีแต่ความไม่แน่นอน...ในทางการเมือง จะได้พบกับรัฐบาลที่อ่อนแอ ตุลาการที่แข็งกร้าว อันจะนำมาสู่การปะทะระหว่างมวลชนรากหญ้าส่วนใหญ่กับชนชั้นนำส่วนน้อย”
(http://sea-globe.com/thai-constitution-convoluted-path-pea…/)
จึงเป็นธรรมชาติที่เกิดการรณรงค์ “สงวนสิทธิไม่ยอมรับ-นับผล” ขึ้นทางอินเตอร์เน็ตที่ change.org เนื่องจากเห็นว่าเป็น “ประชามติที่ไม่ฟรี-ไม่แฟร์”
https://www.change.org/p/ลงชื่อสงวนสิทธิไม่รับผลประชามติ
โดยมีข้อเสนอให้ทำประชามติใหม่ “ภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว”
และนำรัฐธรรมนูญ ๓ ฉบับ คือฉบับปี ๒๕๔๐ ฉบับปี ๒๕๕๐ และฉบับปี ๒๕๕๙ นี้ มาให้ประชาชนเลือกว่าต้องการนำฉบับไหนมาใช้