ที่มา FB
Oak Panthongtae Shinawatra
หลายคนถามผมว่า นายกฯ ทักษิณ มองร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างไรครับ...??
ถ้าเอาสั้นๆ ก็เช่นเดียวกับอดีตนายกฯ ท่านอื่นๆ ที่ได้แสดงความคิดเห็นไปแล้วคือ "ไม่รับร่าง รธน." ครับ
เหตุผลคือ มีอยู่หลายข้อในร่างฯ รวมถึงคำถามพ่วง ที่จะทำให้ประชาธิปไตยถดถอยกว่าเดิม รัฐบาลต่อไปทำงานลำบาก การยึดโยงกับประชาชนลดลง และสามารถสืบทอดอำนาจเผด็จการได้ง่าย ส่วนที่คุยนักคุยหนาว่าเป็นรธน.ปราบโกงนั้น พลิกดูทุกมาตราก็จะเห็นว่าไม่ได้มีความเด็ดขาดดังเช่นที่ฟอร์เวิร์ดกันไปมาในโซเชียลมีเดีย ที่คุยโม้ว่าจะลงโทษนักการเมืองที่ทุจริต จะเห็นมีก็แต่ "การนิรโทษกรรม ให้กับนักการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันเท่านั้น"
ส่วนหลักการในการร่างฯ ทั้งหมดที่คุณพ่อผมพูดไว้ ก็จะมีที่ผมจับใจความและสรุปไว้ได้ ประมาณนี้ครับ
1. หน้าที่หลักของรัฐธรรมนูญแบบอารยะ คือการส่งเสริมชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และจะต้องมีข้อกำหนดเป็นหลักประกันว่า ผู้แทนของปวงชนจะต้องเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง (แล้ว สว. ลากตั้งทั้ง 250 คน ตั้งมาเพื่อ...??)
2. รัฐธรรมนูญ คือหลักประกันว่าการตัดสินใจต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคม และการตัดสินใจนั้นๆ จะต้องเกิดขึ้นจากฉันทามติของประชาชน
3. รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นอย่างชาญฉลาด ควรสร้างหลักประกันว่า การเมืองจะกำกับดูแลเฉพาะทางด้านนโยบาย โดยส่งเสริมให้สถาบันราชการมีเสถียรภาพ และสามารถทําหน้าที่เป็นกลไกหลักของการปกครองบ้านเมือง ภายใต้ธรรมาภิบาลได้
4. รัฐธรรมนูญที่ดีควรเป็นไปตามหลัก “นิติธรรม” โดยต้องถูกเขียนขึ้น จากการตระหนักถึงคุณค่าของหลักนิติธรรม เพื่อเป็นหลักประกันถึงกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือได้ และเป็นรากฐานของการส่งเสริมชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
5. รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นไปตามหลักการของ “เสรีภาพทางความคิด” เพื่อเป็นหลักประกันของการสร้างทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ที่ดี และเพื่อการสร้างสรรค์มูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
6. ที่สําคัญที่สุดคือ รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรที่จะยกร่างโดยตัวแทนของประชาชน ไม่ใช่แต่งตั้งคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมาร่างกฎหมายแม่บท แล้วจึงค่อยไปเลือกตัวแทนประชาชนมาออกกฎหมายลูก ซึ่งจะต้องทำตามกรอบที่คนเพียงกลุ่มเดียวกำหนด ถือเป็นการไม่เชื่อถือและยึดมั่นในการตัดสินใจของประชาชน
ทีนี้เราลองมาดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าตรงหรือขัดแย้งกับหลักการดังกล่าวอย่างไรบ้าง
>> ดูเหมือนผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชนชาวไทย เลือกที่จะใช้ระบบราชการเดิมๆ กำหนดทิศทางแต่เพียงผู้เดียว ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมมีส่วนในกระบวนการตัดสินใจใดๆ เท่าที่ควร
>> ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจงใจให้อํานาจในการตรวจสอบ แก่วุฒิสมาชิกและองค์กรต่างๆ เพื่อควบคุมงานทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ไปจนถึงงานธุรการรายวันของรัฐบาล ซึ่งจะทําให้การบริหารประเทศแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะในบริบทของโลกปัจจุบันที่มีความซับซ้อน และพลวัตความเปลี่ยนแปลงสูง
>> รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ “สิทธิส่วนบุคคล” ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางด้าน “ความมั่นคงของรัฐ” และ “ความสงบเรียบหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” (มาตรา 34 และมาตรา 36) ซึ่งสามารถตีความครอบคลุมได้อย่างหละหลวมและกว้างขวาง เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยอ้างเหตุผลทางด้านความมั่นคงเข้าไปตรวจสอบ หรือสอดแนมช่องทางการสื่อสารฯ อันเป็นสิทธิส่วนบุคคลได้
(ตรงนี้คุณพ่อผมอธิบายว่า สังคมสมัยใหม่ “การรักษาความเป็นส่วนตัว” ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นรากฐานหนึ่งของการสร้างความเจริญรุ่งเรืองที่เป็นจริงให้แก่สังคมเศรษฐกิจนั้นๆ ความชัดเจนของกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล ถือเป็นสิ่งสําคัญและขาดไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจในอนาคต ที่จะมีการทําธุรกรรมผ่านระบบดิจิตัลที่ซับซ้อน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเพื่อสร้างความเจริญ เติบโตทางเศรษฐกิจในโลกสมัยใหม่)
สรุปปิดท้าย คุณพ่อผมได้กล่าวไว้ว่า
"ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะเห็นแสงแห่งอนาคตที่ชัดเจนได้หากขาดซึ่งรัฐธรรมนูญที่เกื้อหนุนให้ ประชาชนมีความหวังในชีวิต
และขาดซึ่งรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมศักยภาพในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ในสังคมและระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับนานาอารยประเทศ ทั่วโลก"
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างรัฐธรรมนูญ ที่เราจะใช้ไปอีกหลายสิบปีข้างหน้าครับ