วันจันทร์, สิงหาคม 01, 2559

‘พ่อมดพลังงาน’





คสช. จัดให้แล้ว ‘พอใจไหม’ พรุ่งนี้นำมันลดราคาลงลิตรละ ๔๐ สตางค์เกือบทุกชนิด ยกเว้น อี-๘๕

อันนี้ถามพวกปฏิรูปพลังงานเป็นหลักใหญ่นะ เห็นเรียกร้องกันมายาวเรื่องราคาน้ำมันบ้าง เรื่องสัมปทานปิโตรเลี่ยมบ้าง ล้วนบอกว่าสองปี คสช. ไม่ยอมทำอะไรเหล่านี้เท่าไหร่ (แบบว่า) ไปเข้าทางทักษิณ

ถึงขนาดมีคนไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม

พันโท พ.ญ.กมลพรรณ ชีวะพันธุ์ศรี “ขอให้ดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สนช. (ผู้ที่ยกมือผ่านร่างฯ) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน

ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ”...เนื่องจากคนเหล่านี้เสนอ พรบ.ปิโตรเลี่ยมและ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลี่ยม (ผ่านอนุมัติของ สนช. เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙) “ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์มากขึ้น”

จึงได้เกิดกระบวนการล่าชื่อให้ครบหมื่นคนเพื่อเสนอร่างกฎหมายกิจการปิโตรเลี่ยมใหม่ (ที่บอกว่า) โดยภาคประชาชน คือมีเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คปพ. เป็นผู้ร่าง





ถ้าย้อนไปอีกปีกว่าๆ จะพบว่ากลุ่มเดียวกันนี้ (ที่ร่วมมือกับ กปปส. เป่านกหวีดปิดกรุงเทพและเรียกร้องทหารเข้ามายึดอำนาจ เพื่อจัดให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเมื่อสองปีก่อนโน้น) เริ่มแสดงอาการไม่พอใจ คสช. ต่อคำสั่งต่ออายุสัมปทานแปลงน้ำมัน ตามที่ กมธ. ปฏิรูปพลังงานเสนอ

อ้างว่า เสียงส่วนใหญ่ของสภาปฏิรูป (สปช.) ไม่เห็นด้วย แต่ประยุทธ์ไม่เอา “จะเอาต่ออายุสัมปทานแปลงน้ำมัน”

และในระยะหลังๆ เครือข่ายนี้จึงวิพากษ์หัวหน้า คสช. หนักหน่อย แต่เอาไปโยงใยกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

ถึงขนาดบอกว่า “พลเอกประยุทธคือพ่อมดคนที่สองของประเทศไทย เป็นลูกมือรับใช้ทักษิณ ย้ำทำให้กิจการพลังงานของทักษิณและเป็นของกลุ่มทุนมากขึ้น”




ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ยังไม่มีข้อมูลแท้ๆ มาพิสูจน์ข้อกล่าวหาได้อย่างจะจะ ทั้งที่มีต่อประยุทธ์และทักษิณ แต่ในทางวิชาการ อจ. กานดา นาคน้อย นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัต เสนอบทความเกี่ยวกับบทบาทของทหารในกิจการพลังงานไว้เป็นซีรี่ส์

ล่าสุดตอนที่ ๔ เรื่อง ธุรกิจพลังงานของกองทัพไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกในประชาไท ซึ่งอาจารย์กรุณาให้ไทยอีนิวส์นำมาตีพิมพ์ซ้ำ เป็นองค์ประกอบการค้นคว้าหาความจริงว่าใครกันคือ ‘พ่อมดพลังงาน’

ทุนกองทัพไทย (4): ธุรกิจพลังงานของกองทัพ

กานดา นาคน้อย
30 กรกฎาคม 2559
บทความนี้เป็นตอนที่ 4 ในซีรีส์ ‘ทุนกองทัพไทย’ บทความ 3 ตอนแรกอธิบายถึงกรรมสิทธิ์ ทุนของกองทัพไทยในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ [1] ทีวี สถานีวิทยุ [2] รวมทั้งสิทธิครอบครองที่ดินประมาณ 5 ล้านไร่ [3] เพื่อชี้ให้เห็นว่ากองทัพไทยคือกลุ่มทุนขนาดใหญ่และผูกขาดบางภาคธุรกิจมานานกว่าครี่งศตวรรษ

ความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ เพราะกองทัพในประเทศทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นไม่ถือหุ้นบริษัทและไม่ลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ

บทความนี้อธิบายเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานของกองทัพไทย กล่าวคือ ธุรกิจน้ำมันและธุรกิจไฟฟ้า การสำรองพลังงานสำคัญต่อการป้องกันประเทศ เพราะกองทัพเคลื่อนทัพไม่ได้ถ้าไม่มีน้ำมัน และฐานทัพดำเนินงานไม่ได้ถ้าไม่มีไฟฟ้า แต่การสำรองพลังงานเพื่อการป้องกันประเทศแตกต่างจากการขายพลังงานเพื่อหารายได้

ธุรกิจน้ำมันของกองทัพ

กองทัพเป็นผู้ผลิตน้ำมันตั้งแต่พ.ศ. 2499 เนื่องจาก ‘กรมการพลังงานทหาร’ ได้รับโอนกิจการขุดเจาะและกลั่นน้ำมันที่อ.ฝาง จ.เชียงใหม่จากกรมโลหะกิจ (ซึ่งต่อมาคือกรมทรัพยากรธรณีสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม) [4] การโอนกิจการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก กรมการพลังงานทหารได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ รวมทั้งกองสำรวจและผลิตได้สำรวจพบแหล่งน้ำมันเพิ่มเติมที่อ.ไชยปราการ ต่อมาก็ขยายการสำรวจแหล่งน้ำมันไปที่ จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.เชียงราย และจ.พะเยา

ในระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมากรมการพลังงานทหารมีกองสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาจนถึงปัจจุบัน ปีนี้กรมการพลังงานทหารมีแผนการผลิตน้ำมันดิบ 329,400 บาร์เรล [5] แม้ว่าเทียบแล้วไม่ถึง 1% ของสัดส่วนการผลิตจากแหล่งน้ำมันอื่นๆ โดยรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน [6] แต่ปริมาณน้ำมันดิบดังกล่าวก็มีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาทเมื่อคำนวณด้วยราคา 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ถ้าประเมินด้วยมูลค่าปีละ 500 ล้านบาทในระยะเวลา 60 ปีก็จะคิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 30,000 ล้านบาท

ถ้าการเบิกจ่ายผลผลิตจากโรงกลั่นของกรมการพลังงานทหารมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันประเทศก็สอดคล้องกับหน้าที่ของกองทัพ แต่ถ้ามีการขายน้ำมันดิบหรือขายผลผลิตจากโรงกลั่นของกรมการพลังงานทหารให้ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยราชการอื่น ก็จะเกิดคำถามว่า

รายได้จากการขายเป็นรายได้กองทัพหรือส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้รัฐบาล?

ส่วนธุรกิจขายปลีกน้ำมันที่เรียกว่า ‘ปั๊มสามทหาร’ ไม่ได้สังกัดกรมการพลังงานทหาร แม้ว่าใช้รูปทหารเป็นสัญลักษณ์เพื่อส่งเสริมลัทธิทหารนิยม ปั๊มสามทหารสังกัด ‘องค์การเชื้อเพลิง’ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี พ.ศ. 2503

องค์การเชื้อเพลิงมีหน้าที่ขายปลีกน้ำมัน จัดหาและกลั่นน้ำมัน [7] ฉันไม่มีสถิติว่าองค์การเชื้อเพลิงรับซื้อน้ำมันจากกรมการพลังงานทหารมากน้อยแค่ไหน องค์การเชื้อเพลิงดำเนินงานจนกระทั่งรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรจัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทยมาแทนที่ในปี พ.ศ. 2520 [8] ต่อมาก็กลายเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในพ.ศ.2521 ยุครัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ [9] ปั๊ม ปตท.จึงเข้ามาแทนที่ปั๊มสามทหารในที่สุด

ธุรกิจไฟฟ้าของกองทัพ

หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด กองทัพบกริเริ่มโครงการใช้ที่ดินในครอบครอง 4,460 ไร่เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์หรือที่เรียกว่า ‘โซลาร์ฟาร์ม’ ร่วมกับภาคเอกชน[10] มีการทำเรื่องขอให้กระทรวงพลังงานรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในที่ดินกองทัพบก ไม่ปรากฏชัดเจนว่าในภายหลังกระทรวงพลังงานตัดสินใจอย่างไร

การทำธุรกิจมีความเสี่ยง ถ้าธุรกิจโซลาร์ฟาร์มของกองทัพบกขาดทุนเหมือนธุรกิจธนาคารทหารไทยที่เผชิญปัญหาหนี้เสียจนเข้าขั้นวิกฤตในอดีต รัฐบาลจะ“อุ้ม”ธุรกิจโซลาร์ฟาร์มของกองทัพหรือไม่?

ถ้ากองทัพบกมีโครงการผลิตโซลาร์ฟาร์มเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในฐานทัพก็จะสอดคล้องกับหน้าที่ของกองทัพ แต่การใช้ที่ดินในครอบครองของกองทัพบกทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มเพื่อขายไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่ากองทัพไม่ได้ใช้ที่ดินส่วนนั้นซ้อมรบหรือฝึกกำลังพล

ชัดเจนว่าที่ดินส่วนนั้นไม่ได้ใช้เพื่อการป้องกันประเทศซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทัพ ทำให้ประเมินได้ว่ากองทัพครอบครองที่ดินมากเกินความจำเป็น หน่วยราชการอื่นควรรับโอนดินส่วนนั้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นให้สอดคล้องกับหน้าที่ของภาครัฐ

บทความตอนหน้าของซีรีส์ ‘ทุนกองทัพไทย’ จะอธิบายถึง ‘แรงงาน’ ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดของกองทัพไทย

หมายเหตุ
[1] ทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 1)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1332607776
[2] ทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 2)
http://www.prachatai.com/journal/2012/04/40226
[3] ทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 3)
http://prachatai.com/journal/2015/06/59565
[4] ประวัติความเป็นมา”กรมการพลังงานทหาร”
http://ded.mod.go.th/introduce/history.aspx
[5] แผนงานปฏิบัติงานเจาะและผลิตประจำปี 59: http://ep.npdc.mi.th/documents/work/Plan/ActionPlan59.pdf
[6] รายงานสถิติพลังงานของประเทศไทย
http://www2.eppo.go.th/info/YearBook/index.html
[7] พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเชื้อเพลิง พ.ศ. 2503
http://dl.parliament.go.th/handle/lirt/27941
[8] พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2520/A/017/51.PDF
[9] พระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2521/A/152/1.PDF
[10] “จี้พลังงานเปิดรับซื้อไฟเพิ่ม” ฐานเศรษฐกิจ
http://prdnews.egat.co.th/…/corporate-www.thanonline.com.pdf

http://www.prachatai.com/journal/2016/07/67156