โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
ตั้งรัฐบาลได้ไม่นาน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง แม้จะยังไม่เห็นชัดเจนมากนัก
แต่เสียงวิจารณ์หนักๆ เริ่มกระจายมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
คือไม่ใช่มีเสียง"ตำหนิ ติ ด่า"เฉพาะจากฟากคนเสื้อแดงหรือกลุ่มต้านรัฐประหาร แต่ความจริง ณ วันนี้ คือ ผู้ที่เคยสนับสนุนและให้โอกาสกับคสช. ก็เริ่มรับไม่ได้กับบางเรื่องแล้วเหมือนกัน
เจ้าหน้าที่ทหารที่ทำงานสนับสนุน คสช. และรู้จักคุ้นเคยกับสื่อ เริ่มส่งไลน์หรือโทรศัพท์สอบถามความเห็นผู้สื่อข่าว เพราะทราบดีว่าทัศนะของคนทำข่าวย่อมสะท้อนให้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของสังคม
คำถามสั้นๆ แต่สะท้อนนัยอย่างชัดเจนยิ่ง คือ"คะแนนนิยมรัฐบาลเริ่มตกแล้วใช่ไหม?"
มีการประเมินกันว่าเรื่องร้อนๆ เฉพาะหน้า 3 เรื่องที่ทำให้รัฐบาลและ คสช.ถูกตั้งคำถามมาก คือ 1.การขึ้นราคาพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ 2.การแต่งตั้ง"คนนอก"เข้าไปเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม และ 3.ข่าวยุบ อบจ.-อบต.
ข้อแรก เรื่องพลังงาน เป็นประเด็นขัดแย้งทางความคิดที่หาจุดลงตัวยาก ถือว่าพอยอมรับได้ แต่ข้อ 2 กับ ข้อ 3 นี่สิ ต้องบอกว่ารัฐบาลไม่น่าทำเลย
ข้อ 2 เกิดขึ้นแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ต้องบอกว่ารัฐบาลเสียคะแนนไปแล้ว และเสียแนวร่วมที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างดีไปเยอะพอสมควร
ขณะที่ข้อ 3 แม้จะยังไม่เกิดขึ้น และผู้เกี่ยวข้องอ้างว่าสื่อ"มโน"ไปเอง แต่ข่าวนี้ก็มีปรากฏร่องรอยมาตลอด
โดยเฉพาะครั้งหลังสุดว่าด้วยโมเดลยุบ อบจ.รวมกับเทศบาล และใช้ระบบ"กึ่งลากตั้ง"กับเทศบาล 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล โดยเทศบาลจะเป็น อปท.แบบเดียวที่เหลืออยู่ ยกเว้นแบบพิเศษ ต้องบอกว่าเอกสารที่หลุดออกมาเป็นเอกสารการประชุมทางราชการ
ฉะนั้นถึงแม้จะปฏิเสธแต่ก็คงปฏิเสธได้ไม่เต็มปาก!
สิ่งที่จะวัดอนาคตของรัฐบาลจึงอยู่ สปช. หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่าออกแบบการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาอย่างไร
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ประเด็นที่ถูกวิจารณ์ทั้ง 3 เรื่อง ยังเป็นประเด็นที่โยงกับการทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีคนชอบและไม่ชอบ โดยเฉพาะนโยบายที่มีความอ่อนไหว
ทว่าสิ่งที่ทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาล และ คสช.ดิ่งลงเร็ว ก็คือ การเล่นพรรคเล่นพวก แต่งตั้งคนที่ถูกตั้งคำถามเรื่องความรู้ความสามารถ หรือคนที่ประชาชนไม่รู้ว่ามีความสามารถอะไร เข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญ
หลายกรณีปรากฏใน สปช. บางกรณีปรากฏในการบริหารราชการกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ
เพราะประเด็นนี้คือสิ่งที่ คสช.ประกาศเอาไว้ว่าตนเองมี"ธรรมาภิบาล"สูงกว่านักการเมือง ขณะที่การย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งต้องหลุดจากตำแหน่ง
การแต่งตั้ง โยกย้าย หรือปรับย้ายอย่างไม่มีเหตุผลรองรับที่ดีพอในยุค คสช. จึงเป็นเรื่องย้อนรอยคำพูดตัวเอง ย้อนรอยพฤติกรรมของตน
เหมือนกับความพยายาม"ดิ้น"ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยหัวหอกคือคนที่เป็นที่ปรึกษา คสช. ย่อมทำให้ คสช.ทั้งคณะเสียเครดิตไปด้วย
ขณะที่เนื้องานแท้ๆ ของรัฐบาลก็เริ่มถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าจะทำจริงหรือไม่ ทำจริงแค่ไหน?
อย่างเช่น การเก็บภาษีมรดก กับภาษีที่ดิน ซึ่งปรับมาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไปๆ มาๆ ผู้รู้บอกว่าอาจหาเงินเข้ารัฐได้ไม่เยอะจริง เพราะเขียนกฎหมายแบบเกรงใจคนร่ำรวย เกรงใจผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง
สุดท้ายอาจเป็นอย่างที่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยพูดปลอบเอาไว้ในรายการคืนความสุขฯ ทำนองว่าอย่าเพิ่งตกใจ อย่าเชื่อข่าวลือ เพราะจะเก็บภาษีเหล่านี้"เป็นสัญลักษณ์"ของการสร้างความเท่าเทียมเท่านั้น
ถอดรหัสแล้วได้ความว่า แหล่งรายได้ที่จะรีดกันจริงๆ คงหนีไม่พ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ"วีเอที"ที่คนจนในฐานะผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเท่านั้นที่รับกรรม และผลักภาระไปให้ใครไม่ได้เลย...
หรือนี่คืออนาคตประเทศไทยภายใต้โลโก้ คสช.