ฟัง!สมลักษณ์ จัดกระบวนพล พูด"การถอนถอนที่จะเกิดขึ้น ไม่มีความคาบเกี่ยวกับประชาชนเลย"
มติชนออนไลน์
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาและนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา มาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณา ว่า
ขณะนี้รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว จะนำมาใช้บังคับหรืออ้างอิงนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะเหมือนเป็นการอ้างกฎหมายเก่า เมื่อบทบัญญัตินั้นถูกยกเลิกไปแล้ว การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งก็ต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย แม้จะมีการอ้างมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ว่าให้สนช. ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา แต่มองว่าในการถอดถอนไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของวุฒิสมาชิกโดยทั่วไป เพราะในรัฐธรรมนูญหลายฉบับก็ไม่ได้มีอำนาจในส่วนตรงนี้ มีแต่อำนาจถอดถอนการกลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น โดยอำนาจในการถอดถอนเพิ่งจะเริ่มต้นมีในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษ ดังนั้นเมื่อจะให้มีอำนาจพิเศษรัฐธรรมนูญต้องบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษด้วย เมื่อไม่มีย่อมจะมาใช้ตีความไม่ได้ โดยเฉพาะการตีความว่าสนช.มีอำนาจในการถอดถอนนักการเมืองซึ่งกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญที่ถูกยกเลิกไปแล้ว เป็นการตีความเพิ่มอำนาจตัวเองพร้อมกันนั้นยังเป็นการตีความที่เป็นผลร้ายของนักการเมืองที่กระทำความผิดตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้ว
น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่าถ้าถามว่าป.ป.ช.มีอำนาจหรือไม่ก็ต้องตอบว่ามีเพราะป.ป.ช.ยังมีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542รองรับอยู่แต่เมื่อป.ป.ช.ส่งมาให้สนช.พิจารณามองว่าไม่มีอำนาจที่จะถอดถอนได้ซึ่งโดยหลักเกณฑ์ของการปกครองก็ไม่ควรจะดำเนินการเพราะผู้ที่จะถูกถอนถอนนั้นมาจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง ส่วนสนช.นั้นมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ไม่ได้มาจากประชาชนซึ่งในปี2540 ส.ว.นั้นมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แต่พอมาปี 2550 ส.ว.มาจากการเลือกตั้งจำนวนครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดจึงทำให้ส.ว.มีความคาบเกี่ยวกับประชาชน
เมื่อนักการเมืองที่มาจากประชาชน คนที่จะทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งก็ควรให้มีความคาบเกี่ยวกับประชาชนด้วย แต่การถอนถอนที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นไม่มีความคาบเกี่ยวกับประชาชนเลย
ดังนั้น จึงขอให้สนช.ระมัดระวังเรื่องนี้ให้ดีว่ามีอำนาจโดยตรงหรือไม่ เพราะหากสนช.ตีความว่าสามารถถอดถอนได้ก็เหมือนกับการลงโทษ
เพราะผลนอกจากถอดถอนออกจากตำแหน่งที่พ้นไปแล้วยังมีผลห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก 5 ปีด้วย ซึ่งเป็นโทษที่หนักมากพอสมควรเลย ดังนั้นต้องใช้วิจารณญาณให้ดีด้วย
หมายเหตุ : สมลักษณ์ จัดกระบวนพล - อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์