วันศุกร์, ตุลาคม 10, 2557

โอนลี่อินกระบือแลนด์..."พิชิต"ตั้งข้อสังเกต เหตุใดป.ป.ช.ส่งเรื่องถอดถอน"ยิ่งลักษณ์" ซัด! มีที่ไหนมองข้ามกม.แม่ ใช้กม.ลูกแทน


"พิชิต"ตั้งข้อสังเกต เหตุใดป.ป.ช.ส่งเรื่องถอดถอน"ยิ่งลักษณ์"ซัด! มีที่ไหนมองข้ามกม.แม่ ใช้กม.ลูกแทน

ภาพ สำนักข่าวอิศรา
เรื่อง มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายพิชิต ชื่นบาน ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) และที่ปรึกษากฎหมายทีมทนายความคดีโครงการรับจำนำข้าว ตั้งข้อสังเกตต่อข่าวของสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่อง ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปยัง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะในการทำความเข้าใจ ว่า

1. ทำไมต้องเร่งรีบ รวบรัด ทั้งๆ ที่มีข้อโต้แย้งถึงรายงานและสำนวนการสอบสวนของอัยการสูงสุดว่าคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด (8 พ.ค.) นั้น มีข้อไม่สมบูรณ์ การไต่สวนพยานหลักฐานที่ผ่านมายังไม่สิ้นกระแสความในหลายประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ และข้อไม่สมบูรณ์ถือเป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ อันเป็นมูลเหตุที่มีการกล่าวหาในคดีอาญา และคดีถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อเหตุของการส่งเรื่องสำนวนและรายงานยังไม่สมบูรณ์ ผลที่สภา สนช.จะไปดำเนินการถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ จะสมบูรณ์ได้อย่างไร เพราะเมื่อองค์กรในกระบวนการยุติธรรมในทางอาญาด้วยกันยังโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายอยู่

นอกจากนี้ คดีถอดถอนก่อนการชี้มูลความผิด นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปผูกรวมไว้กับคดีอาญา ทั้งๆที่เป็นคนละกรณีกัน และทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ โต้แย้งการรวมคดีมาตลอด ป.ป.ช. ไม่รับฟัง แต่เมื่อคดีอาญาถูกอัยการสูงสุดชี้ว่ามีข้อไม่สมบูรณ์ ทำไมเวลานี้ ป.ป.ช. กลับจะแยกสำนวนถอดถอนออกจากสำนวนคดีอาญาไม่รอว่าผลที่สุดคดีอาญาจะมีผลเป็นประการใด แม้เทคนิคทางกฎหมาย ป.ป.ช. จะอ้างว่าทำได้แต่ต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมด้วย

2. มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขัดแย้งในตัวเอง อย่างมีข้อสังเกต กล่าวคือ เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดว่านางสาวยิ่งลักษณ์ฯกระทำผิดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270

แต่จากการให้เหตุผลในการส่งเรื่องคดีถอดถอนให้แก่ สนช. มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันนี้กลับไม่กล่าวถึงมูลเหตุให้ถูกถอดถอนว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ฯ กระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 อีก กลับอ้างกฎหมายลูกคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

มีคำถามว่าทำไมต้องใช้เทคนิคทางกฎหมาย โดยไปอ้างกฎหมายลูกที่มีลำดับรองจากรัฐธรรมนูญในการส่งเรื่องให้สภา สนช. เพราะเหตุใด ป.ป.ช. จึงสละประเด็นที่มีการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ทิ้งเสีย โดยไม่ยืนยันมติการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่ากระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178

ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า ป.ป.ช. มุ่งใช้เทคนิคทางกฎหมายที่สละประเด็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทิ้งมาอ้างกฎหมายลูกคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแทนนั้น น่าจะเป็นเพราะมีข้อโต้แย้งในหลักการทางกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ถูกยกเลิกและสิ้นสุดลงแล้ว

ดังนั้น คำตอบเรื่องนี้น่าจะตัดสิ้นได้ว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ป.ป.ช. มีมติว่าอย่างไร ซึ่งคำตอบคือ ป.ป.ช. มีมติว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงโดยเฉพาะ มาตรา 270 เรื่องการถอดถอนจึง ไม่อาจดำเนินการใดๆ ต่อไปได้อีก

วันนี้แม้จะหลีกเลี่ยงและทิ้งประเด็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา178ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะมติชี้มูลครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 57 ระบุไว้ชัดแจ้งแล้ว

ตนจึงเรียกร้องต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แม้ว่าเรื่องนี้ ป.ป.ช. จะอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 6 ที่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐสภา รวมทั้งข้อบังคับการประชุมของสภา สนช. ว่ามีอำนาจหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ก็ตาม

แต่เพื่อการอำนวยความยุติธรรมและดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมซึ่งคสช.ผู้แต่งตั้งสภาสนช. ก็มีเจตนารมณ์ตามคำสั่งที่ 63/2557 อยู่ด้วยจึงขอเรียกร้องให้ สภา สนช. ตรวจสอบมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 57 ว่ามูลเหตุแห่งการดำเนินคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ ป.ป.ช. กล่าวหาและมีมติคือ เรื่องกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ใช่หรือไม่หากใช่ก็ต้องพิจารณาว่าเมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงแล้วสภา สนช. จะดำเนินคดีถอดถอนได้หรือไม่ เพราะหากเหตุไม่สมบูรณ์ผลก็ย่อมไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่หลีกเลี่ยงการดำเนินคดีแต่การดำเนินคดีก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วย