วันอังคาร, สิงหาคม 06, 2567

เปิดเอกสาร #รัฐบาลเพื่อไทย ตอบ UN เรื่องการยื่นยุบพรรคเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำมาตรา 112 รัดกุม เหมาะสมแล้วที่จะมีโทษรุนแรง - เหรอคับ บัสบาสคงอยากถาม #พรรคเพื่อไทย เอาอะไรมาคิด ?


.....
iLaw
11 hours ago
·
ไทยตอบ UN ยื่นยุบก้าวไกลเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ย้ำ ม.112 มีโทษแรงเหมาะสมแล้ว
.
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) ส่งข้อแสดงความกังวลถึงรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสินในประเด็นการใช้ข้อกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตอบกลับเป็นข้อชี้แจงเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567
.
ข้อกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติถูกส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านกลไกพิเศษ (Special Procedures) ภายใต้ประเด็นหลักสองด้านด้วยกัน คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มโดยสงบ เป็นเอกสารรายงานการสื่อสารเลขที่ AL THA 5/2024 ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุว่า การยุบพรรคก้าวไกลและการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอะที่สุดอาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย พื้นที่สาธารณะ เสรีภาพในการแสดงออก และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการเลือกตั้งของประเทศไทย (We are alarmed that if the party currently leading the opposition and the largest group in the House of Representatives, is disbanded, this would have a chilling effect on democracy and civic space in Thailand, including the right to freedom of expression, in particular political expression.)
.
ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ยังกล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ซึ่งพรรคก้าวไกลมีนโยบายเสนอให้แก้ไขและเป็นที่มาของคดีขอให้ยุบพรรคการเมือง โดยระบุว่า เราเป็นกังวลว่ากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จะถูกใช้โดยรัฐบาลเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองปิดปากประชาชนและฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาที่หนัก (We are concerned that the lèse-majesté laws are being used by the government as a political tool to stifle dissent and political opponents and carry extremely heavy penalties for those charged.)
.
เอกสารฉบับนี้ยังระบุย้ำเตือนประเทศไทยอย่างชัดเจนว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งรวมถึงกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยเช่นกัน ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติจึงเรียกร้องให้ประเทศไทยชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นภายใน 60 วัน
.
รัฐบาลไทยตอบกลับความกังวลของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าการใช้ข้อกฎหมายยื่นยุบพรรคก้าวไกลโดยกกต. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พร้อมย้ำข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี
.
ขณะเดียวกับความกังวลว่าการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ รัฐบาลไทยระบุว่าการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีไว้ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นเสาหลักของชาติสำหรับประชาชนคนไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งกฎหมายนี้ยังมีไว้สำหรับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ จึงมีบทลงโทษที่รุนแรงหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว
.
อ่านการชี้แจงข้อกล่าวหาของรัฐบาลไทยที่: https://www.ilaw.or.th/articles/40795