วันศุกร์, สิงหาคม 16, 2567

มาตรฐานทางจริยธรรม – เขียนเองใช้เองตัดสินเอง


Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล
21 hours ago
·
มาตรฐานทางจริยธรรม – เขียนเองใช้เองตัดสินเอง และสุ่มเสี่ยงจะถูกใช้กลั่นแกล้ง
‘มาตรฐานทางจริยธรรม’ นับเป็นกลไกใหม่เอี่ยมของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คาดว่าจะนำมาป้องปรามคอร์รัปชัน โดยมาตรา 76 วรรคสาม ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกําหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมา
เรื่องนี้มีปัญหาตั้งแต่ระดับหลักการเช่นกัน เพราะมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ไม่เพียงใช้บังคับกับฝ่ายการเมือง (ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีหรือ ครม.) แต่ยังใช้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเองด้วย เข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ชัดเจน เพราะเขียนเองและใช้บังคับกับตัวเอง ผลประโยชน์ทับซ้อนที่แย่กว่านั้นไปอีกระดับก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้ออกกติกา จะไปใช้กติกาที่ตัวเองเขียนในคดีที่คนยื่นถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยข้อหาละเมิดกติกา
เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผู้เขียนเห็นศาลเขียนกติกาเอง ใช้กติกานั้นกับคนอื่นและตัวเอง และมีอำนาจตัดสินคนอื่นตามกติกาที่ตัวเองเขียน ใครเรียนหลักการเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ คานอำนาจมาน่าจะต้องกลับไปถามอาจารย์ว่า เราจะเรียกระบอบการปกครองที่ยอมให้เกิดเรื่องแบบนี้ว่าอะไรดี
มาตรฐานทางจริยธรรมที่ว่านี้ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 2561 เนื้อหาน่าเป็นห่วงไม่แพ้ปัญหาเชิงหลักการ โดยเฉพาะการระบุในข้อ 27 ว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ทั้งที่เนื้อหาในหมวด 1 เป็นอุดมการณ์กว้างๆ เช่น ข้อ 6 “ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ซึ่งกว้างเป็นทะเลจนเราไม่อาจเข้าใจตรงกันได้เลยว่า ‘พฤติกรรม’ แบบไหนที่จะนับว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อนี้ ทำแบบไหนที่จะถือว่า “ไม่พิทักษ์รักษาไว้… ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประชาชน”
ในเมื่อเราเข้าใจตรงกันไม่ได้จากการอ่านตัวบท จึงสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่มาตรฐานทางจริยธรรมนี้จะถูกใช้ในการกลั่นแกล้งทางการเมือง
— บางตอนของบทความ “การฉ้อฉลเชิงอำนาจยุค คสช. (1) เมื่อกลไกต่อต้านคอร์รัปชันถูกบ้่นทอน” (2563)

ลิงค์บทความ https://themomentum.co/fraud-ncpo/