วันศุกร์, สิงหาคม 16, 2567
ตุลาการธิปไตย!
@sunaibkk
·13h
ตุลาการธิปไตย!
.....
Kasian Tejapira
17 hours ago
·
ตุลาการภิวัตน์ —> ตุลาการธิปไตย
%%%%%%%
เมื่อ 18 ปีก่อนที่เริ่มกระบวนการให้ศาลแทรกแซงการเมืองและอ.ธีรยุทธ บุญมีขนานนามมันว่า “ตุลาการภิวัตน์” ผมได้ร้องเตือนอันตรายที่ตุลาการภิวัตน์ —> ตุลาการธิปไตย (judicial review —> judicial rule) ไว้แต่ต้นในบทความ “มองหลากมุมตุลาการภิวัตน์: ความเสี่ยงของตุลาการธิปไตย”, มติชนรายวัน, 9 มิถุนายน 2549. ดังความบางตอนว่า:
“อย่างไรก็ตาม หากมองดูประสบการณ์ของประเทศต้นตำรับประชาธิปไตยตะวันตกชุดเดียวกัน จากอีกมุมหนึ่ง ก็จะพบว่ามีข้อควรคำนึงเกี่ยวกับกระบวนการตุลาการภิวัตน์เช่นกัน ดังต่อไปนี้คือ:-
1) พึงระมัดระวังว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์อาจเปิดช่องให้นำไปสู่ "ตุลาการธิปไตย" หรือการปกครองโดยฝ่ายตุลาการ (judicial rule) ไม่เพียงแค่การตรวจสอบเชิงหลักกฎหมายของฝ่ายตุลาการ (judicial review) เท่านั้น
2) หากถึงขั้นนั้น แทนที่ศาลจะเป็นกลไกอันจำเป็นและเป็นประโยชน์เพื่อเหนี่ยวรั้งจำกัดลัทธิเสียงส่วนใหญ่ การณ์จะกลับกลายเป็นว่าศาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (an unelected court) จะเข้าแทนที่เสียงข้างมากในฐานะกลไกหลักทางด้านนิติบัญญัติไปเสีย
3) กล่าวในทางทฤษฎี กระบวนการตุลาการภิวัตน์เป็นคุณตรงที่ มันช่วยหลีกเลี่ยงป้องกันลัทธิยึดติดตัวบทหรือยึดติดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของรัฐธรรมนูญเป็นเกณฑ์แบบแห้งแล้ง เถรตรง ตายตัวถ่ายเดียว (textualism and originalism) ทว่าในทางกลับกันตุลาการภิวัตน์ก็อาจมีโทษหากล้ำเส้นเกินเลยกลายเป็นลัทธิเอาอำนาจตุลาการไปเคลื่อนไหวทางสังคม และ/หรือการเมืองแบบไม่บันยะบันยัง (unconstrained judicial activism)
4) ความเสี่ยงอันตราย (risk) ในกรณีหลังอยู่ตรงฝ่ายตุลาการอาจถูกชักจูงให้ดำเนินกระบวนการตุลาการภิวัตน์ไขว้เขวไปตามอุดมการณ์ของเสียงข้างน้อยต่างๆ (minoritarian ideologies) หรือแม้แต่กระแสอารมณ์วูบไหวชั่วครู่ชั่วยามของเสียงข้างมาก (the majoritarian passions of the moment) ก็เป็นได้ อาทิ การที่ศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา ยืนยันรับรองคำสั่งให้กักกันชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นทั้งหมดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่คำสั่งนั้น ตั้งอยู่บนความระแวงสงสัยรวมหมู่มากกว่าหลักฐานหนักแน่นอันใด
5) ฉะนั้น กล่าวให้ถึงที่สุด ที่พึ่งในการต่อต้านทัดทานลัทธิเสียงข้างมาก (majoritarianism) อาจมิใช่กระบวนการตุลาการภิวัตน์โดยตัวมันเอง (เพราะฝ่ายตุลาการก็อาจโน้มเอียงผิดพลาดได้ ดูข้อ 4) แต่เป็นวัฒนธรรมในการตีความและใช้กฎหมายซึ่งวิวัฒน์คลี่คลายไปอย่างเชื่องช้า”
(ดู https://midnightuniv.tumrai.com/midnight2544/0009999980.html ขอขอบคุณเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และรศ. สมเกียรติ ตั้งนโม ผู้ล่วงลับที่เก็บรวบรวมข้อมูลงานเขียนวิชาการมากมายไว้ให้ได้ค้นคว้าในอินเทอร์เน็ตนะครับ)