วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 22, 2567

"คงอีกหลายปีที่พวกเราจะได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า จงอดทนและดำเนินชีวิตด้วยความหวัง ที่นี่พ่อก็จะอดทนและดำเนินชีวิตด้วยความหวังเช่นกัน รักและคิดถึงลูกทั้งสอง" - อานนท์ นำภา ในฐานะพ่อ จดหมายจากกรงขัง และฝันถึงลูกในค่ำคืน



อานนท์ นำภา ในฐานะพ่อ จดหมายจากกรงขัง และฝันถึงลูกในค่ำคืน

“พ่อทำไมถึงอยู่ในคุก แล้วพ่ออยู่ที่ไหนของเรือนจำ แล้วหนูต้องรออีก 10 ปี ใช่ไหม?”

ข้อความง่ายๆ ที่เด็กหญิงคนหนึ่งเขียนถึงพ่อของเขาในสมุดโน๊ตเล่มเล็ก ด้านบนของข้อความมีภาพวาดของเด็กหญิงวัยกำลังน่ารักยืนกอดพ่อในชุดนักโทษสีน้ำตาลก่ำและเท้าทั้งสองถูกตรึงด้วยโซ่ รูปหัวใจดวงน้อยสีแดงสองดวงถูกจัดวางอยู่ด้านข้างคงหมายถึงความรักความคิดถึงของทั้งสองที่มีต่อกัน

ภาพและข้อความถูกโพสต์บนหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา หรือ ทนายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จากคดีอาญา มาตรา 112 ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงสั่งจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา
 

จดหมายของปราณที่เขียนถึงอานนท์ (ภาพ: อานนท์ นำภา)

21 ชั่วโมง ก่อนหน้า โพสต์ของอานนท์ได้ระบุว่า “เขียนจดหมายจากเรือนจำ ฉบับลงวันที่ 3 ธ.ค. 2566” พร้อมกับแนบภาพข้อความในจดหมายที่เขียนถึงลูกและภรรยา ความว่า

“เขียนตอนสี่ทุ่มของคืนวันที่ 3 ธันวาคม 2566 อากาศร้อนอบอ้าว ยังดีที่พัดลมยังทำหน้าที่ของมันอย่างขะมักเขม้น ในห้องขังมียุงนิดหน่อย ยังดีที่แม่ของพวกเธอซื้อยากันยุงแบบทาฝากเข้ามาเช่นกัน และยังดีที่มีเพื่อนร่วมห้องขังอีกหลายสิบคนช่วยแชร์เจ้ายุงเหล่านั้นไป

ช่วงวันหยุดยาว พ่อคิดถึงลูกทั้งสองมากเป็นพิเศษ และคงต้องทนคิดถึงอีกหลายวันกว่าจะได้พบหน้า แม่ของพวกเธอเขียนจดหมายมาเล่าให้พ่อฟังแล้วเรื่องที่ปราณลงแข่งว่ายน้ำและชนะได้เหรียญทองแดงมา ความจริงเรื่องแพ้ชนะก็อีกเรื่อง แต่ต้องถือว่าชนะใจตัวเองแล้วที่กล้าลงแข่งขัน เป็นพ่อคงไม่กล้าสมัครแบบนั้น แม่ของพวกเธอกว่าจะก้าวลงแข่งในเรื่องต่างๆ ก็ตอนเรียน ม. 5 แหนะ

จบเทอมนี้ ปราณก็จะขึ้น ป.3 ส่วนเจ้าขาลคงอีก 2 ปีกว่าจะเข้าเตรียมอนุบาล ตอนที่ปราณเข้าอนุบาลปราณเรียนเร็วกว่าเพื่อนในชั้นถึง 1 ปี แต่ลูกพ่อก็สามารถผ่านมันมาได้ พ่อยังจำได้ในวันที่ปราณแข่งกีฬาสีต้องขึ้นแสตนเชียร์ ปราณยังร้องไห้ขี้มูกโป่งอยู่เลย ตอนนี้ลูกพ่อโตขึ้นมากแล้ว ขอให้ปราณมีพลังเช่นนี้ และใช้พลังนั้นให้คุ้มค่ากับการได้ถือกำเนิดมา

ส่วนเจ้าขาลน้อยๆ นอกจากจะใช้ห้องพิจารณาของศาลเป็นที่นัดพบสำหรับเรา เธอยังโชคดีที่เจอศาลที่ใจดีไม่ว่าตอนที่พ่ออุ้มและเล่นกันกับเธอ ตอนนี้ขาลเริ่มตั้งไข่หัดเดินก็ได้เก้าอี้ยาวในห้องพิจารณานั่นแหละที่ใช้เกาะเดิน แต่ช่วงหลังเจ้าขาลเริ่มส่งเสียงบ่อยครั้งจึงต้องให้แม่อุ้มออกจากห้องพิจารณา

เสียดายที่ช่วงวันหยุดยาวเราไม่ได้ไปเที่ยวด้วยกันคงยาวถึงปีใหม่ และคงอีกหลายปีที่เราได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า จงอดทนและดำเนินชีวิตด้วยความหวัง ที่นี่พ่อก็จะอดทนและดำเนินชีวิตด้วยความหวังเช่นกัน

รักและคิดถึงลูกทั้งสอง

อานนท์ นำภา

แดน 4 พิเศษกรุงเทพ


จดหมายของอานนท์ที่ผ่านการสแกนและเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก (ภาพ: อานนท์ นำภา)

นี่เป็นเพียงข้อความในจดหมายฉบับล่าสุดเท่านั้น หากย้อนกลับไปถึงจดหมายฉบับก่อนหน้าที่อานนท์เขียนและถูกสแกนเผยแพร่ เขายังคงพร่ำคิดถึงลูกทั้งสองและภรรยาโดยตลอด อย่างข้อความบางตอนที่ถูกเขียนในจดหมาย ระบุวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ความว่า

“ทุกครั้งที่พ่อจะถูกส่งตัวไปศาล พ่อจะยืนดูต้นกระบองเพชรต้นเล็กๆ ตรงประตูทางออกรอขึ้นรถของเรือนจำ เขาปลูกกระบองเพชรไว้ 5-6 กระถาง ช่วงนี้มันออกดอกดูสวยแปลกตาทำให้คิดถึงแม่ของพวกเธอ แม่ของพวกเธอชอบปลูกต้นกระบองเพชรต้นเล็กๆ ที่ระเบียงบ้านของเรา ป่านนี้คงมีสักต้นที่ออกดอกรับลมหนาว ต้นไม้ที่แม่ปลูกคงทอดยอดเขียวขจี ไม่รู้ว่านกสองตัวที่ชอบบินมานอนริมระเบียงยังอยู่มั้ย”

ส่วนในข้อความที่เขียนในจดหมาย ระบุวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ความว่า

“ขากลับจากส่งปราณตอนเช้าอยากฟังรายการเรื่องเล่าเช้านี้ของสรยุทธ พอถึงบ้านอยากชงนมให้อิสรานนท์ อยากอาบน้ำให้อิสรานนท์ก่อนไปศาล อยากพาทุกคนไปเที่ยวเล่น ไปเดินห้าง เดินสวนรถไฟ อยากนอนกับลูกทั้งสองทุกคืน ในเรือนจำความฝันทำให้พ่อมีความสุขจนไม่อยากลืมตา อยากฝันอยู่อย่างนั้น เพราะรู้ว่าพอตื่นมาพ่อจะไม่มีโอกาสทำหน้าที่พ่ออย่างในความฝัน คืนนี้ก็เช่นกัน เราจะเจอกันในความฝันนะ ปราณ อิสรานนท์”

อานนท์เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The MATTER ถึงชีวิตของคนเป็นพ่อที่ต้องอยู่ในคุกรอคำพิพากษาและความรู้สึกที่มีต่อแก้วตาทั้งสอง ผ่านการเขียนจดหมายวันละฉบับด้วยว่า

“ลองคิดดูสิ ถ้าผมติด 4 ปี จดหมายมันก็อาจจะเป็น 1,000 กว่าฉบับ มันก็เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อเหมือนกัน ลูกสาวผมไม่ชอบตำรวจ ไม่ชอบศาล เพราะคิดว่าทำให้พ่อต้องติดคุก ผมก็ต้องพยายามอธิบาย พูดทุกวัน ขอให้แม่เขาสอนว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร และก่อนเข้าเรือนจำผมก็คุยกับลูกสาวคนโตนะ ก็บอกให้เขาช่วยดูแลแม่”

ความต่อเนื่องของจดหมายจากพ่อที่เขียนถึงลูกหลายฉบับ กระทั่งถึง 1,000 กว่าฉบับ ดังที่อานนท์กล่าวในบทสัมภาษณ์ อิสรภาพของชีวิตที่ไม่มีกรงกั้น ชีวิตประจำวันที่สมควรแก่ความสุขของพ่อและลูกทั้งสอง คงเป็นหมุดหมายปลายทางสำคัญในวันที่ม่านฟ้าแห่งความยุติธรรมถูกเปิดออก แม้ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา อานนท์ได้ให้ทนายความยื่นถอนประกันในคดีที่เหลืออยู่เพื่อความชัดเจนที่จะยืนหยัดต่อสู้ และพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาได้รับคือการรับโทษ แต่ไม่ใช่การรับผิด

ที่มา Isaan Record
https://theisaanrecord.co/2023/12/05/arnon-nampa/
โดย ธีรศักดิ์ มณีวงษ์