วันพุธ, สิงหาคม 07, 2567

พล.อ. เวเกอร์ อุซ-ซามาน ผู้บัญชาการกองทัพบังกลาเทศ ซึ่งเป็นผู้ประกาศแจ้งการลาออกของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บอกว่า จะมีการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงบอกว่า ไม่ยอมรับรัฐบาลทหารโดยเด็ดขาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับประเทศเอเชียใต้แห่งนี้ เรารู้อะไรแล้วบ้าง ?


บีบีซีไทย - BBC Thai
10 hours ago
·
พล.อ. เวเกอร์ อุซ-ซามาน ผู้บัญชาการกองทัพบังกลาเทศ ซึ่งเป็นผู้ประกาศแจ้งการลาออกของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ส.ค.) บอกว่า จะมีการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงบอกว่า ไม่ยอมรับรัฐบาลทหารโดยเด็ดขาด
.
ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับประเทศเอเชียใต้แห่งนี้ เรารู้อะไรแล้วบ้าง ? อ่านต่อที่ https://bbc.in/4da2wNn
.....

ประท้วงบังกลาเทศ นายกรัฐมนตรีหนีออกนอกประเทศ เรารู้อะไรบ้าง



6 สิงหาคม 2024
กหบีบีซีไทย

บังกลาเทศตกอยู่ในความโกลาหล หลังจากนางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีหญิงผู้ดำรงตำแหน่งมายาวนานกว่า 15 ปี ต้องลาออกจากตำแหน่งและเดินทางออกนอกประเทศ หลังเกิดการประท้วงของนักศึกษา ซึ่งนำมาสู่เหตุนองเลือดที่เลวร้ายที่สุดของบังกลาเทศนับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศเมื่อปี 1971

พล.อ. เวเกอร์ อุซ-ซามาน ผู้บัญชาการกองทัพบังกลาเทศ ซึ่งเป็นผู้ประกาศแจ้งการลาออกของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ส.ค.) บอกว่า จะมีการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ยังต้องติดตามรายละเอียดต่อจากนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงบอกว่า ไม่ยอมรับรัฐบาลทหารโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม บังกลาเทศเคยมีการก่อรัฐประหารโดยกองมาแล้วหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2007

ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้กองทัพบังกลาเทศใช้ความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์พร้อมกับเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้น ส่วนสหภาพยุโรปเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างเป็นระเบียบและสันติเพื่อให้นำไปสู่รัฐบาลผ่านการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย

ขณะที่ยังไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียต่อวิกฤตการเมืองดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ฝูงชนจำนวนมากบุกเข้าไปในบ้านพักของนางฮาสินาในกรุงธากาตั้งแต่เมื่อวาน (5 ส.ค.) และเกิดจลาจลไปทั่วเมืองหลวงของบังกลาเทศ

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับประเทศเอเชียใต้แห่งนี้ เรารู้อะไรแล้วบ้าง ?

นายกรัฐมนตรีลาออกและเดินทางออกนอกประเทศ

นางฮาสินา อายุ 76 ปี จากพรรคสันนิบาตอวามี (Awami League) ได้ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วหลังเกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยเธอได้เดินทางออกนอกประเทศด้วยเฮลิคอปเตอร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 ส.ค.) ซึ่งล่าสุดเดินทางถึงอินเดียแล้ว และคาดว่าเธอจะเดินทางไปยังกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร แต่ข้อมูลนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

ไม่ชั่วโมงภายหลังการลาออกของนางฮาสินา ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน ได้สั่งให้ปล่อยตัวอดีตนายกรัฐมนตรีและนักศึกษาทุกคนที่ถูกคุมขังระหว่างการประท้วงต่อต้านระบบโควต้าสำหรับตำแหน่งงานภาครัฐ

ด้านพันธมิตรของนาฮาสินากล่าวว่า เธอจะไม่กลับไปเล่นการเมืองอีกแล้ว โดยที่ผ่านมาอดีตนายกรัฐมนตรีมีอายุทางการเมืองมากกว่า 20 ปี ก่อนที่จะขึ้นสู่อำนาจเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1996

นายซาจีบ วาเซ็ด จอย ลูกชายของนางอดีตนายกรัฐมนตรีฮาสินาบอกกับบีบีซีว่า “เธออายุ 70 ปลาย ๆ และเธอผิดหวังมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเพียรทำงานมาอย่างหนัก ผมคิดว่า เธอพอแล้วหลังมีคนเสียงส่วนน้อย (minority) กลุ่มหนึ่ง ลุกขึ้นมาต่อต้านเธอ”

“ผมกับครอบครัวของผมก็พอแล้ว” นายซาจีบ กล่าว

แม้นักวิจารณ์กล่าวว่า การปกครองของนางฮาสินามีลักษณะก่อให้เกิดการบังคับสูญหายผู้คนอย่างน้อย 600 คน เกิดการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมซึ่งคร่าชีวิตผู้คนหลายร้อยคน รวมทั้งบดขยี้ฝ่ายค้านและผู้วิจารณ์รัฐบาลด้วคดีความและจับคุมขัง แต่นายวาเซ็ดซึ่งรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาปกป้องแม่ของเขาว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง

“เธอพลิกโฉมบังกลาเทศในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา”

“เมื่อเธอเข้าสู่อำนาจ ถือว่าประเทศนี้เป็นรัฐล้มเหลวและยากจน”

“แต่จนถึงวันนี้ บังกลาเทศกลายเป็นหนึ่งในเสือที่กำลังมาแรงของเอเชีย”

ประชาชนบุกบ้านพักนายกรัฐมนตรี เกิดจราจลทั่วเมืองหลวง

ผู้คนนับพันบุกเข้าไปในบ้านพักของอดีตนายกรัฐมนตรี

หลังการลาออกของนางฮาสินา ผู้คนต่างออกมาเฉลิมฉลองกันตามท้องถนน ผู้คนนับพันคนบุกรุกเข้าไปในบ้านพักของเธอจนเกิดการขโมยทรัพย์สิน และบางส่วนของตัวบ้านพักถูกทำลายเสียหาย

มีรายงานว่าด้วยว่าเกิดการทำลายและจุดไฟเผาสถานที่ราชการและที่ทำการตำรวจหลายแห่งในกรุงธากา นอกจากนี้ ผู้ประท้วงยังพยายามรื้อรูปปั้นนายชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน ผู้เป็นบิดาของนางฮาสินา และยังเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศและเป็นประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศด้วย

มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนด้วยกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ตัวเลขที่รายงานยังมีความไม่แน่นอน โดยสำนักข่าวเอเอฟพีบอกว่ามีผู้เสียชีวิต 66 คน ขณะที่สื่อท้องถิ่นอย่างธากาทริบูนระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 135 คน

ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 300 คน นับตั้งแต่เกิดการประท้วงในเมืองหลวงของบังกลาเทศ


ผู้ประท้วงยังพยายามรื้อรูปปั้นนายชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน ผู้เป็นพ่อของนางฮาสินา ซึ่งเป็นบิดาผู้ก่อตั้งประเทศ

เทพาปรียา ภัทชารยา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากศูนย์การอภิปรายนโยบาย (Center for Policy Dialogue) ในกรุงธากา บอกกับบีบีซีว่า ขณะที่ผู้คนบนท้องถนนกำลัง “ปิติยินดี” กับการลาออกของนายกรัฐมนตรี แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดการโจมตีชาวฮินดูซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ ซึ่งกลายเป็นความท้าทายใหม่ของผู้ที่จะเข้ามาปกครองต่อจากนี้

“มีความรู้สึกว่าอินเดียสนับสนุนรัฐบาลของนางชีค ฮาสินา อย่างเต็มตัว ผู้ประท้วงไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างอินเดียและพลเมืองฮินดูในบังกลาเทศได้ จึงนำไปสู่การบุกทำลายวัดฮินดูและทำร้ายผู้คน”

“ตอนนี้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ ไม่มีใครบังคับใช้กฎหมายและรักษาให้เกิดความสงบเรียบร้อย รัฐบาลใหม่จะต้องออกมาปกป้องชาวฮินดูซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย” เทพาปรียา กล่าว

ชนวนการประท้วงเกิดจากอะไร ?

นักศึกษาหลายพันคนประท้วงระบบโควต้าสำหรับตำแหน่งงานภาครัฐมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีจุดเริ่มต้นจากการประท้วงที่เริ่มต้นขึ้นอย่างสงบภายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก่อนที่จะกลายเป็นความวุ่นวายไปทั่วประเทศ

ภายใต้ระบบโควต้าดังกล่าว ได้กำหนดให้มีการสงวนตำแหน่งงาน 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานในหน่วยงานภาครัฐ ไว้สำหรับญาติของทหารผ่านศึกจากสงครามประกาศอิสรภาพของประเทศจากปากีสถานในปี 1971

นักศึกษาโต้แย้งว่า ระบบนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ และขอให้มีการรับสมัครงานตามความสามารถ

ผู้ประสานงานการชุมนุมกล่าวว่า ตำรวจและปีกนักศึกษาของพรรคสันนิบาตอวามี (Awami League) ที่รู้จักกันในนามสันนิบาตนักศึกษาแห่งบังกลาเทศ (Bangladesh Chhatra League) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลของนางฮาสินาได้ใช้กำลังรุนแรงต่อผู้ชุมนุมซึ่งทำกิจกรรมการประท้วงอย่างสงบ ก่อให้เกิดความโกรธแค้นเป็นวงกว้าง และดึงให้ผู้คนจากทุกวงการเข้าร่วมการประท้วงดังกล่าว

หลังจากเกิดการประท้วงอย่างรุนแรงทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ศาลสูงสุดของบังกลาเทศมีคำวินิจฉัยให้ลดโควต้าสำหรับตำแหน่งงานภาครัฐสำหรับญาติของทหารผ่านศึกลงเหลือ 5% จากเดิมที่กำหนดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานภาครัฐทั้งหมด

รายละเอียดของคำพิพากษาศาล ระบุให้ 93% ของตำแหน่งในภาครัฐควรมาจากการสรรหาคัดเลือกด้วยระบบคุณธรรม 5% เป็นโควต้าสำหรับญาติของทหารผ่านศึกจากสงครามประกาศอิสรภาพของประเทศจากปากีสถาน ส่วนอีก 2% สงวนไว้ให้กับชนกลุ่มน้อยกลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนพิการ


ผู้ประท้วงออกมาเฉลิมฉลองบนท้องถนนหลังการลาออกของนางชีค ฮาสินา

แต่นั่นยังไม่สามารถทำให้ผู้ชุมนุมยกเลิกการประท้วงได้ เพราะพวกเขามองว่าภายใต้ระยะเวลา 15 ปีของการปกครองโดยนางฮาสินานั้นเต็มไปด้วยการทุจริตและเอื้อพวกพ้องที่ใกล้ชิดกับพรรคสันนิบาตอาวามี ถึงแม้รัฐบาลของนางฮาสินาสร้างความความเปลี่ยนแปลงในบังกลาเทศอย่างมากก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาขึ้น รายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หรือในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกรายงานว่ามีประชาชนมากกว่า 25 ล้านคนพ้นจากเส้นความยากจน

นอกจากนี้ ยังพบว่า คนรับใช้ของนางฮาสินาถูกกล่าวหาว่ามีเงินถึง 1.23 พันล้านบาท และมักเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งสื่อมวลชนในบังกลาเทศต่างมองว่าเงินจำนวนมากขนาดนี้ อาจสะสมมาจากการล็อบบี้สัญญารัฐบาล การทุจริต หรือติดสินบน

ผู้ใกล้ชิดกับนางฮาสินาที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่างอดีตผู้บัญชาการทหาร อดีตผู้บัญชาการตำรวจ เจ้าหน้าที่ภาษีอากรอาวุโส และเจ้าหน้าที่รับสมัครงานของรัฐ เป็นต้น

ประชาธิปไตยภายในประเทศที่ถดถอยมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งชนวนที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประท้วง


มีรายงานว่า มีผู้ชุมนุมถูกคร่าชีวิตกว่า 300 คน นับตั้งแต่เกิดการประท้วงของนักศึกษาเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายคนชี้ว่า พื้นที่สำหรับกิจกรรมประชาธิปไตยได้หดตัวลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

“สำหรับการเลือกตั้ง 3 ครั้งติดต่อกัน ไม่มีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม” มีนาคชิ กังกูลี ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียใต้ของฮิวแมนไรต์วอทช์ (Human Rights Watch) กล่าวกับบีบีซี

ในปี 2021 สหรัฐอเมริกาได้คว่ำบาตรกองพันเคลื่อนที่เร็ว (Rapid Action Battalion) ซึ่งเป็นหน่วยตำรวจชั้นยอดที่ถูกกล่าวหากระทำการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมอย่างโหดเหี้ยม

ส่วนผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศต่างเผชิญกับการคุกคามที่เพิ่มขึ้น หลายคนถูกจับกุม ถูกติดตามตัวและสอดแนม รวมทั้งรัฐบาลยังประกาศใช้กฎหมายที่เข้มงวดต่อนักข่าวซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพสื่อ

นางฮาสินาคือใคร ?

นางชีค ฮาสินา

นางฮาสินาเกิดในครอบครัวมุสลิมและมีสายเลือดเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่เกิด เพราะพ่อของเธอคือนายชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน ผู้นำชาตินิยมผู้เป็นบิดาแห่งชาติของบังกลาเทศ และตัวเธอเองก็มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกรุงธากาด้วย

เธอคือไม่กี่คนที่รอดชีวิตจากเหตุลอบสังหารบิดาและสมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่กองทัพก่อรัฐประหารในปี 1975 เนื่องจากนางฮาสินากับน้องสาวอยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้เผชิญกับการก่อนรัฐประหารโดยกองทัพหลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2007

นางฮาสินาลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในอินเดียและเดินทางกลับไปบังกลาเทศในปี 1981 ซึ่งต่อมาเธอได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคสันนิบาตอาวามี และจับมือกับพรรคการเมืองอื่น ๆ จัดชุมนุมประท้วงบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในยุคสมัยที่นายพลฮุสเซน มูฮัมเหม็ด เออร์ชาด เป็นผู้นำรัฐบาล

การขึ้นเป็นผู้นำประชาชนในครั้งนั้น ทำให้นางฮาสินาได้กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงทางการเมืองอย่างรวดเร็ว

เธอได้รับเลือกตั้งและเข้าสู่อำนาจเป็นครั้งแรกในปี 1996 และได้รับความชื่นชมจากผลงานการลงนามในข้อตกลงแบ่งปันน้ำกับอินเดีย รวมถึงข้อตกลงสันติภาพกับผู้ก่อความไม่สงบซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลของเธอก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า มีข้อตกลงทางธุรกิจมากมายที่เอื้อต่อการทุจริตและจำนนต่ออินเดียมากเกินไป


นางเบกุม คาเลดา เซีย อดีตนายกรัฐมนตรีและศัตรูทางการเมืองของนางฮาสินา

ในปี 2001 นางฮาสินาพ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับอดีตพันธมิตรทางการเมืองที่ผันตัวมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองตัวฉกาจของเธอ นั่นคือนางเบกุม คาเลดา เซีย จากพรรคชาตินิยมบังกลาเทศหรือบีเอ็นพี (Bangladesh Nationalist Party-BNP)

ผู้หญิงทั้งสองคนต่างครองอำนาจทางการเมืองของบังกลาเทศมานานกว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “การต่อสู้ของเบกุม” โดยคำว่าเบกุมหมายถึงผู้หญิงชนชั้นสูงของมุสลิม

ผู้สังเกตการณ์บอกว่า การแข่งขันทางการเมืองของนางคาเลดา เซีย และนางชีค ฮาสินา ก่อให้เกิดการระเบิดรถประจำทาง การบังคับสูญหาย และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม จนผู้คนรู้สึกว่าเหตุรุนแรงเหล่านั้นแทบจะเป็นเรื่องปกติ

นางฮาสินากลับสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2009 จากการเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลชั่วคราว แต่ในช่วงที่เธอเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องอดทนกับการถูกจับกุมหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงความพยายามลอบสังหารหลายหนด้วยกัน โดยพบว่าในปี 2004 ความพยายามลอบสังหารส่งผลให้การได้ยินของนางฮาสินาได้รับความเสียหาย

เธอยังเป็นผู้รอดชีวิตจากความพยายามบังคับให้ลี้ภัยออกนอกประเทศ และรอดจากคดีความจำนวนมากที่กล่าวหาว่าอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้กระทำการทุจริต

(https://www.bbc.com/thai/articles/ckgjjl2z75eo)