วันจันทร์, สิงหาคม 12, 2567

หลวงวิจิตรวาทการชี้ ระบอบไพร่ทาสและศักดินา ต้นเหตุความเสื่อมโทรมของไทย



“ระบอบการปกครองแบบอยุธยา ที่ตกทอดมาจนถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นระบอบที่บาปกรรมทำความเสื่อมโทรมให้แก่ชาติและนิสัยใจคอของพลเมืองไทย”

วาทะของ หลวงวิจิตรวาทการ (11 สิงหาคม 2441 – 31 มีนาคม 2505) จาก คำสอนเรื่อง ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย บทที่ 2 เรื่องแรงงาน โดยระบอบที่หลวงวิจิตรวาทการกล่าวถึงนี้คือ ระบอบ ไพร่ ทาส และศักดินา โดยเฉพาะการเกณฑ์แรงงานในสมัยอดีต ซึ่งแรงงานนับเป็นปัจจัยสำคัญในทางเศรษฐกิจ

ทัศนะหลวงวิจิตรวาทการต่อไพร่-ทาส-ศักดินา

หลวงวิจิตรวาทการ แบ่งแรงงานออกเป็น 2 ประเภท คือ ไพร่ และทาส ในประเด็น “ทาส” นี้ มีสิ่งที่หลวงวิจิตรวาทการวิเคราะห์ วิพากษ์ และวิจารณ์ ไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ โดยเริ่มกล่าวอธิบายถึงต้นกำเนิดของทาสว่ารับมาจากเขมร หรืออีกนัยหนึ่งคือ การกำเนิดขึ้นของระบอบเทวราชา หลวงวิจิตรวาทการอธิบายว่า

“วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยเราอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่เราควรภาคภูมิใจ คือ ไทยเราแต่เดิมมาไม่มีทาส ในสมัยสุโขทัยเราไม่มีทาส สมัยสุโขทัยมีไพร่ มีข้า แต่จารึกสุโขทัยทุกแห่งเขียนว่า ‘ไพร่ฟ้า’ หรือ ‘ข้าไทย’ พลเมืองสมัยสุโขทัยมีสิทธิเป็นไพร่ของฟ้า ซึ่งอาจจะหมายความสวรรค์หรือองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง ส่วนคำว่า ‘ข้า’ หมายถึงคนรับใช้ ซึ่งถึงแม้เป็นคนรับใช้ ก็ยังมีฐานะเป็นไทย ไม่ใช่ทาส เมื่อทางกรุงศรีอยุธยามีทาส พวก ‘ข้า’ คือคนรับใช้ ในสมัยอยุธยาก็แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ ‘ข้าไทย’ และ ‘ข้าทาส’ ข้าไทย หมายถึงคนรับใช้ที่มิใช่เป็นทาส เรียกตามแบบที่เรียกในสมัยสุโขทัย ส่วนข้าทาส คือทาสจริง ๆ …

เรื่องทาสไม่ใช่เรื่องของไทย แต่เป็นเรื่องที่เราเอาอย่างมาจากขอม พร้อมกับที่เราเอาแบบอย่างเรื่องพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราชเข้ามาใช้ในสมัยอยุธยา ได้กล่าวมาแล้วว่าระบอบการปกครองของไทยเราแต่โบราณกาลดึกดำบรรพ์จนถึงสมัยสุโขทัยนั้นเป็นระบอบที่พ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์กับพลเมืองใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก มาถึงสมัยอยุธยาพระมหากษัตริย์กับพลเมืองอยู่ห่างกันคนละโลก เมื่อพระมหากษัตริย์สูงขึ้น พลเมืองก็ต่ำลง เมื่อพระมหากษัตริย์กลายเป็นเทพเจ้า พลเมืองก็กลายเป็นสัตว์ ลัทธิที่ถือว่ารัฐเป็นครอบครัวอันหนึ่งก็หมดไป

หลวงวิจิตรวาทการ แบ่งทาสออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 
1. ทาสสินไถ่ คือทาสที่ขายตัวเองลงเป็นทาส หรือถูกนำมาขายเป็นทาส (พ่อแม่นำลูกมาขายลงเป็นทาส) 
2. ทาสในเรือนเบี้ย คือเด็กที่เป็นทาสโดยกำเนิด 
3. ทาสที่ได้ด้วยการรับมรดก คือถือว่าทาสเป็นทรัพย์ ทาสจึงเป็นสิ่งที่รับมรดกกันได้ 
4. ทาสที่มีผู้ให้ คือมีลักษณะเดียวกันกับทาสที่ได้ด้วยการรับมรดก

5. ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ คือทาสที่มีผู้ไถ่โทษหรือไถ่ค่าปรับให้ เช่น ผู้ต้องโทษไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ก็จะมีผู้เอาเงินมาใช้ให้ แล้วผู้ต้องโทษต้องไปเป็นทาสแทน 
6. ทาสที่ช่วยจากทุพภิกขภัย คือมีลักษณะเดียวกันกับทาสสินไถ่ แต่สาเหตุที่ขายตัวเองลงเป็นทาสเนื่องจากปัญหาทุพภิกขภัย คือไม่มีข้าวกิน และ 
7. ทาสเชลย คือทาสที่กวาดต้อนจากการทำสงคราม

หลวงวิจิตรวาทการ เรียกการปกครองนี้ว่า “การปกครองแบบเทวดาปกครองสัตว์” และได้อธิบายซึ่งชี้ให้เห็นถึงผลลัพท์ของระบอบไพร่ทาสและศักดินาที่มีต่อสังคมไว้ความว่า

“ระบอบที่เอาคนชาติเดียวกันลงเป็นทาส ซึ่งเป็นระบอบอยุธยาและใช้ต่อมาจนถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รวมเวลากว่า 500 ปีนั้น ไม่แต่จะทำความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนพลเมืองตลอดมาเท่านั้น ยังทำให้ลักษณะนิสัยของพลเมืองเสื่อมโทรมลงไปเป็นอันมาก ลักษณะพึ่งตัวเอง อย่างที่พระมหากษัตริย์วงศ์พระร่วงผู้ครองกรุงสุโขทัยได้ทรงจารึกไว้ในศิลา เป็นคำสั่งสอนประชาชนนั้นได้หมดไป ลักษณะพากเพียรพยายามก่อร่างสร้างตน อันเป็นลักษณะสำคัญของไทยในสมัยกรุงสุโขทัย อย่างที่พ่อขุนรามคำแหงทรงเขียนไว้ว่า ‘ด้วยรู้ ด้วยหลวก ด้วยแกล้ว ด้วยหาญ ด้วยแคะ ด้วยแรง’ นั้นได้หมดไปด้วย

ระบอบที่เอาคนลงเป็นทาส หรือทำงานเข้าเดือน ให้ผลประโยชน์แก่นายนี้ ได้สร้างนิสัยเกียจคร้านอ่อนแอให้แก่ชาวไทย เพราะทาสและไพร่เคยต้องทำงานโดยถูกบังคับทำแล้วก็ไม่เป็นผลอะไรแก่ตัว ผลที่ได้จากแรงงานอันเหนื่อยยากของตัวต้องตกเป็นของนายทั้งนั้น ไม่รู้ว่าจะอุตสาหะทำไปทำไม หลบได้เป็นหลบ เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง การทำงานเป็นของน่าอายน่าขายหน้า เพราะแสดงว่าเป็นไพร่เป็นทาสจึงต้องทำงาน

การนอนกินหรือมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทำอะไรถือว่ามีเกียรติ การอวดได้ว่า ‘ไม่ทำอะไรฉันก็มีกิน’ เป็นการแสดงเกียรติศักดิ์อย่างสูง คนที่จะเอาตัวรอดก็คือประจบให้นายรัก ย่อมผ่อนหนักเป็นเบา และบางทีก็เลื่อนฐานะสูงขึ้นไป ลัทธิแสวงหาที่พึ่งได้เกิดขึ้นและฝังแน่นอยู่ในนิสัยของพวกเรา ใครที่ผดุงฐานะของตัวขึ้นได้ก็เชื่อกันว่าเพราะมีที่พึ่งดี ไม่ใช่เพราะการก่อร่างสร้างตนเอง ลักษณะอ่อนแอเช่นว่านี้เป็นผลเนื่องมาจากระบอบที่เอาคนชาติเดียวกันเป็นไพร่เป็นทาสมาตลอดเวลา 500 ปี

ชาติไทยเราไม่ถนัดในการค้าและอุตสาหกรรม ก็เพราะเราต้องเป็นทาสเป็นไพร่ ทำงานให้นายมาตลอด 5 ศตวรรษ และงานที่ทำนั้นก็เป็นแต่งานขุดดินฟันหญ้า ทำไร่ ทำนา แล้วผลประโยชน์ทั้งหมดก็ตกอยู่แก่นาย ระบอบการปกครองแบบอยุธยา ที่ตกทอดมาจนถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นระบอบที่บาปกรรมทำความเสื่อมโทรมให้แก่ชาติและนิสัยใจคอของพลเมืองไทย ซึ่งจะต้องการเวลาอีกช้านานกว่าจะสร้างลักษณะอย่างพลเมืองในระบอบสุโขทัยให้กลับมีขึ้นได้ใหม่…”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หลวงวิจิตรวาทการ วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ระบอบไพร่ทาสและศักดินาโดยมุ่งไปที่เรื่องของการเกณฑ์แรงงานและระบอบเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลตามมา ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เกิดระบอบอุปถัมภ์ และการที่แรงงานถูกบังคับเกณฑ์ จึงไม่มีแรงจูงใจในการผลิต ก็นับว่าค่อนข้างเป็นการสูญเปล่า เพราะ “ไม่รู้ว่าจะอุตสาหะทำไปทำไม“

อย่างไรก็ตาม หลวงวิจิตรวาทการ ก็ได้ยกย่องการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นการ “พลิกแผ่นดิน” ซึ่งเป็นการขจัดระบอบที่ล้าหลังเหล่านั้น ดังที่กล่าวสรุปไว้ในตอนท้ายว่า

“การเลิกเรื่องไพร่เรื่องทาสเป็นการแก้ปัญหาแรงงาน ซึ่งเป็นโรคร้ายของไทยเรามาตลอดเวลา 5 ศตวรรษ ชนชาติไทยได้กลับเป็นเสรีชน ชีวิตเศรษฐกิจของชาวไทยได้ตั้งต้นในทางรุ่งเรืองแจ่มใส ตั้งแต่รัชกาลของ ‘สมเด็จพระปิยมหาราช’ เป็นต้นมา”

ที่มา
https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_63472

เผยแพร่ วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2567