วันจันทร์, สิงหาคม 12, 2567

ถ้าหากข้าพเจ้า เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.ซีพีเอฟ



ถ้าหากข้าพเจ้า เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.ซีพีเอฟ

AUG 11, 2024
The Momemtum
ผู้เขียน สฤณี อาชวานันทกุล

ในปี 2567 ข่าวสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดข่าวหนึ่งในรอบหลายปี เนื่องจากเป็นหายนะครั้งใหญ่ต่อระบบนิเวศทางน้ำและวิถีชีวิตชาวประมงทั้งประเทศ หนีไม่พ้นการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของ ‘ปลาหมอคางดำ’ สัตว์รุกรานต่างถิ่นที่ลุกลามไปแล้วถึง 17 จังหวัดทั่วประเทศและผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่า ก่อความเสียหายไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปลาต่างถิ่นรุกรานชนิดนี้มีหลักฐานการแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2555 หรือกว่า 12 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งกลายเป็น ‘ข่าวใหญ่’ เมื่อไม่นานมานี้เนื่องจากความเสียหายลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงต้องให้เครดิตการสืบสวน ‘ต้นตอ’ ของเรื่องนี้อย่างไม่ลดละของสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส การทำงานเชิงลึกของมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) รวมถึง ‘คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย’(คณะอนุ กมธ.แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ)

ณ กลางเดือนสิงหาคม 2567 มหากาพย์เรื่องนี้ยังไม่จบในทุกมิติ ทั้งในด้านมาตรการแก้ไขปัญหา มาตรการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ก่อเหตุ (เรื่องหลังสุดนี้ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากภาครัฐ มีแต่การแถลงข่าวของสภาทนายความ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ว่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง) แต่ก็มีความคืบหน้าที่น่าติดตามอย่างต่อเนื่อง แม้หลายเรื่องจะไม่ปรากฏในหน้าสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่



ยกตัวอย่างเช่นการเปิดเผยบนเพจเฟซบุ๊กมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 เกี่ยวกับไฟล์บทความปริศนาชื่อ ‘ปลาหมอสีคางดำ’ บนเซิร์ฟเวอร์ของกรมประมง ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนหรือหน่วยงานต้นสังกัด แต่บทความนิรนามดังกล่าวกลับถูกใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงของสำนักข่าวจำนวนมากว่า ‘มีการส่งออกปลาหมอคางดำปีละหลายหมื่นตัว’ รวมถึงผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ก็อ้างแบบเดียวกัน

มูลนิธิชีววิถีตั้งข้อสังเกตว่า ไฟล์บทความปลาหมอสีคางดำ ชิ้นนี้ถูกนำเข้าระบบของกรมประมงในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ราว 2 เดือนก่อนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะออกรายงานสรุป การตรวจสอบกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำในเดือนเมษายน 2561 (ดาวน์โหลดรายงานการตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ กสม.)

มูลนิธิชีววิถีตั้งข้อสังเกตว่า ไฟล์นี้ผิดปกติมาก ไม่มีชื่อผู้เขียน หน้าตาบทความคล้ายบทความหลักของอีกท่าน แต่อารมณ์ประมาณอยู่ๆ ก็จงใจใส่ข้อมูลการส่งออกปลาหมอคางดำโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย เจตนาใช้ชื่อบทความว่า ปลาหมอสีคางดำ ซ้ำยังเลือกภาพประกอบปลาคางหมอดำที่ดูมีสีสันใส่ประกอบอย่างจงใจ รู้เลยว่าตั้งใจให้เป็นไฟล์ที่จะถูกใช้อ้างอิงเรื่องการส่งออกปลาหมอคางดำ และขณะนี้มีการใช้ไฟล์นี้อย่างกว้างขวาง อ้างว่ามาจากกรมประมง ทั้งที่ผู้เขียนและอัปโหลดไฟล์เป็นบุคคลนิรนาม

ซีพีเอฟตกเป็นเป้าสายตาและเสียงครหาของประชาชนจำนวนมากว่า น่าจะเป็น ‘ต้นตอ’ ของหายนะสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของปลาหมอคางดำครั้งแรกเกิดขึ้นในตำบลเดียวกันกับศูนย์ทดลองของบริษัท ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยย้อนไปในปี 2560 ซีพีเอฟเข้าชี้แจงกับ กสม.ว่า ได้ทำลายซากปลาที่ตายไปหมดแล้วและมีการสร้างอาคารทับจุดฝังกลบ แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครสามารถยืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้ว่า อาคารดังกล่าวสร้างขึ้นเมื่อใด สร้างขึ้นก่อนหรือหลังการกำจัดซากปลา และตั้งอยู่บนจุดฝังกลบซากปลาจริงหรือไม่’ ดังข้อสังเกตในข่าวบีบีซีไทย อีกทั้งกรมประมงก็ชี้แจงต่อคณะอนุ กมธ.แก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำว่า ไม่เคยได้รับตัวอย่างปลาที่ซีพีเอฟอ้างว่า ดองโหลฟอร์มาลีนและส่งให้แล้ว 50 ตัวอย่าง

ด้านซีพีเอฟออกมาประกาศความร่วมมือกับกรมประมง ในการกำจัดปลาหมอคางดำและแถลงว่ากำลัง ‘พิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย’ กับผู้ที่เผยแพร่ภาพและข้อมูลเท็จ ทำให้สังคมเข้าใจผิดและชื่อเสียงบริษัทเสียหาย โดยตอนหนึ่งผู้บริหารแถลงว่า ‘หลังจากการตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยเมื่อต้นเดือนมกราคม 2554 และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดแล้ว บริษัทไม่มีกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับปลานี้อีกเลย ดังนั้น การกล่าวอ้างว่ามีการเลี้ยงต่อเนื่องถึงปี 2560 จึงเป็นข้อมูลเท็จ เสมือนการโกหกที่สร้างความเข้าใจผิดเชิงลบในสังคมต่อองค์กร

ในฐานะที่ติดตามเรื่องนี้มาข้ามปี และในฐานะที่สนใจประเด็นบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ผู้เขียนเห็นว่า ซีพีเอฟในฐานะผู้นำเข้าปลาหมอคางดำตามกฎหมายและดำเนินการวิจัยกับปลาชนิดนี้ ในจุดที่ใกล้เคียงกับการระบาดครั้งแรกสามารถออกมาแสดง ‘ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม’ ได้มากกว่าที่ปรากฏในหน้าสื่อมาก หากทำตามจรรยาบรรณธุรกิจ แนวปฏิบัติว่าด้วยบรรษัทภิบาลสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานสากลต่างๆ ที่บริษัทประกาศรับ

ผู้เขียนลองจินตนาการดูว่า ถ้าหากผู้เขียนเป็นประธานกรรมการตรวจสอบซีพีเอฟที่เป็นอิสระจริงๆ ตามเจตนารมณ์เบื้องหลังตำแหน่ง ‘กรรมการอิสระ’ ของบริษัทจดทะเบียน เพิ่งมารับตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบของบริษัทไม่นาน เพิ่งมารับรู้กรณีที่บริษัทถูกพาดพิงเกี่ยวโยงกับการระบาดของปลาหมอคางดำ จากหน้าเพจมูลนิธิชีววิถีและข่าวของไทยพีบีเอส ไม่ต่างจากคนไทยคนอื่นๆ อีกหลายล้านคนทั่วประเทศ ผู้เขียนจะทำอะไรในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบของบริษัทบ้าง

(ถึงตรงนี้ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับบรรษัทภิบาลอาจสงสัยว่า ทำไมผู้เขียนต้องสมมติตัวเองเป็นประธานกรรมการตรวจสอบ ไม่ใช่ตำแหน่งอื่น คำตอบก็คือในโครงสร้างบริษัทสมัยใหม่ คณะกรรมการตรวจสอบนับเป็น ‘ด่านสุดท้าย’ ภายในองค์กร ของการติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายในของบริษัท รวมถึงการทำตามกฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งย่อมหมายรวมถึง ‘หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี’ (2560) ด้วย อีกทั้งกรรมการตรวจสอบทุกคนเป็นกรรมการอิสระโดยตำแหน่ง ซึ่งในหมวกนี้ควรสามารถทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจภายในคณะกรรมการของบริษัท แสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นอิสระ และสามารถเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยได้อย่างแท้จริง)

ถ้าหากผู้เขียนเป็นประธานกรรมการตรวจสอบของซีพีเอฟ ในสถานการณ์นี้ผู้เขียนจะดำเนินการ 3 อย่างเกี่ยวกับกรณีปลาหมอคางดำดังต่อไปนี้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการดำเนินธุรกิจของบริษัท คลายข้อสงสัยของสาธารณะ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นว่า ฝ่ายจัดการและบุคลากรทุกระดับของบริษัท จะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ‘ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงตรง โปร่งใส และจริงใจ อีกทั้งไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการชวนเชื่อหรือหลอกลวงผู้อื่น ดังที่ระบุในจรรยาบรรณธุรกิจของซีพีเอฟ (CPF Code of Conduct)



1. เสนอให้คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อตอบคำถามต่อคณะกรรมการของบริษัทเอง และตอบสังคมด้วยว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่ปลาหรือไข่ปลาหมอคางดำในบริเวณฟาร์มยี่สารของบริษัท จะหลุดออกสู่คลองใกล้เคียงระหว่างปี 2553-2554 รวมถึงเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใสเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยที่บริษัทใช้กับปลาหมอคางดำที่นำเข้ามาทดลองวิจัย และการจัดการของบริษัทหลังจากที่หยุดการวิจัยไปแล้ว

สำหรับองค์ประกอบของคณะทำงานเฉพาะกิจที่ว่านี้ บริษัทควรเชิญผู้เชี่ยวชาญภายนอก รวมถึงตัวแทนมูลนิธิชีววิถี และนักวิชาการแขนงต่างๆ ที่เป็นอิสระ มาร่วมเป็นสมาชิกคณะทำงานด้วย โดยการทำงานของคณะทำงานควรมีกำหนดเวลาแน่นอน และเผยแพร่รายงานต่อสาธารณะเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ

ทั้งนี้ เพื่อแสดงความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง โปร่งใส และจริงใจ ตามจรรยาบรรณธุรกิจขององค์กร ไม่ต่างจากที่บริษัทชั้นนำอื่นๆ ทำ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่บริษัทตกเป็นจำเลยสังคม ยกตัวอย่างเช่น บริษัท บีพี ของอังกฤษ แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบกรณีน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ในอ่าวเม็กซิโกเมื่อปี 2553 ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกบริษัทกว่า 50 คน และเมื่อการทำงานเสร็จสิ้น บริษัทก็เผยแพร่รายงานการตรวจสอบของคณะทำงานนี้บนเว็บไซต์บริษัท ซึ่งสรุปผลการวิเคราะห์สาเหตุอย่างละเอียดและเสนอแนะแนวทางแก้ไข และเอกสารชิ้นนี้ก็ยังดาวน์โหลดได้จนถึงปัจจุบัน

2. ประกาศช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กรณีปลาหมอคางดำเป็นกรณีพิเศษ และกำหนดมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations’ Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ซึ่งซีพีเอฟประกาศว่า สนับสนุนตามนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัท หลักการชี้แนะ UNGP ระบุอย่างชัดเจนว่า บริษัทที่รับหลักการชี้แนะไปนั้นจะต้องมี ‘กลไกรับเรื่องร้องเรียนระดับปฏิบัติการ สำหรับปัจเจกบุคคลและชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ’(หลักการชี้แนะข้อ 29) เพื่ออำนวยให้บริษัทสามารถรับมือกับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เนิ่นๆ และเยียวยาได้โดยตรง สำหรับกรณีการละเมิดสิทธิที่บริษัทอาจเป็นต้นเหตุโดยตรง หรือมีส่วนก่อให้เกิดผลกระทบ

ทั้งนี้การประกาศว่า ยินดีรับเรื่องร้องเรียน ไม่ใช่การยอมรับว่าบริษัทเป็นต้นเหตุของปัญหาแต่อย่างใด แต่เป็นการประกาศความมุ่งมั่นต่อสาธารณะว่า บริษัทจริงใจที่จะตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทุกกรณี รวมถึงเป็นการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน (CG Code) ซึ่งหลักปฏิบัติข้อ 5.2 ระบุว่า ‘คณะกรรมการควรติดตามดูแลให้ฝ่ายจัดการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสะท้อนอยู่ในแผนดำเนินการ (operational plan) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทุกฝ่ายขององค์กรได้ดำเนินการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลัก และแผนกลยุทธ์ (strategies) ของกิจการ’ และหลักปฏิบัติ 6.5 ก็ระบุว่า ‘คณะกรรมการควรกำกับดูแล ให้กิจการมีกลไกในการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินการกรณีมีการชี้เบาะแส’

3. แนะนำฝ่ายจัดการว่า ควรปรับปรุงกลยุทธ์การสื่อสารองค์กรในภาวะวิกฤติอย่างเร่งด่วน โดยหันมาเน้นการสื่อสารข้อเท็จจริง การร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และแสดงความจริงใจที่บริษัทจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องราวในอดีตอย่างโปร่งใส (ตามแนวทางข้อ 1) เพื่อตอบข้อกังขาต่างๆ ของสังคม มากกว่าการขู่ฟ้องคนที่อาจใช้ข้อมูลเท็จหรือเข้าใจผิด และเลิกพาดพิงบริษัทอื่น หรือผู้ประกอบการรายอื่นที่อาจมีส่วนสร้างปัญหาเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากผู้ประกอบการหรือบริษัทกี่ราย ซีพีเอฟก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบตามจรรยาบรรณธุรกิจของตนเอง และ CG Code ที่จะแสดงความซื่อสัตย์ โปร่งใส และจริงใจ ในการดำเนินธุรกิจของตัวเองได้เลย