วันอาทิตย์, กันยายน 08, 2562

อุเบกขา หรือ วางอุเบกขา





สมมตินะ สมมติว่าภาพนี้ เป็นแค่ภาพที่อยู่ในจินตนาการ อยู่ในความคิดและความรู้สึก ซึ่งไม่ได้ถูกรังสรรค์ออกมาเป็นภาพวาดจริงจริง (เอาเฉพาะแค่ภาพนี้ไม่นับรวมภาพอื่น)

เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งนับถือพระพุทธเจ้า และมองเห็นความเป็นฮีโร่ในตัวของพระองค์ เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพลังพิเศษ คือสามารถขจัดปัดเป่า หรือบำราบทุกข์บำรุงสุขให้เกิดแก่คนหมู่มากได้ สามารถประทานพระธรรมเทศนาอันเปรียบดั่งศัตราวุธ เพื่อต่อสู้กับเหล่าร้ายคือกิเลสตัณหาในหัวใจของมนุษย์ให้หมดสิ้น

อาตมาอยากถามพวกคุณว่า เด็กผู้หญิงคนหนึ่งคนนี้ เธอมีสิทธิ์ที่จะมองพระพุทธเจ้าในแบบของเธอเช่นนี้ได้หรือไม่ มีสิทธิ์ที่จะเคารพพระพุทธเจ้าของเธอในฐานะอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์คนหนึ่งได้หรือเปล่า หรือเคารพได้แต่พระพุทธรูปที่ตั้งชื่อเป็นหลวงพ่อนั่นหลวงพ่อนี่ ตามที่มีอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น

ภาพวาดมันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเงาสะท้อนแห่งจินตนาการและความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายใน เช่นกัน ความเคารพศรัทธาไม่มีรูปแบบและมันเป็นนามธรรมอันลึกซึ้งมากกว่าที่ใครจะมาแบ่งแยกความสูงความต่ำ ความละเอียดวิจิตร หรือความเลวทรามหยาบกระด้าง ตลอดจนถึงการแสดงออก อันใครก็ไม่รู้ที่มาจำกัดแค่การกราบไหว้บูชา

อาตมานึกถึงเรื่องเล่าในตำนานแห่งมหาชมพูบดีสูตรนะ เรื่องเล่าที่บอกว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเนรมิตตนเองเป็นพระมหาราชาธิราชเจ้า เพื่อปราบพญาชมพูบดี

ในความเป็นธรรมาธิษฐาน พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิ์ และพระธรรมของพระองค์เปรียบเหมือนเดชานุภาพซึ่งสามารถเอาชนะเหล่าท้าวพญาทั้งหลายได้

คนโบราณเขาก็ลึกซึ้งและมีความกล้าหาญมากนะ ถึงได้สร้างพระพุทธรูปปางทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ขึ้นมา มีสวมชฎา และใส่เครื่องอาภรณ์อย่างพร้อมสรรพ

ในความคิดของอาตมา ถ้ามองให้เห็นอย่างลึกซึ้ง พระพุทธรูปที่ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ กับพระพุทธรูปที่สวมชุดอุลตร้าแมนดูจะไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ด้วยทั้งสองอย่างล้วนแต่เป็นเครื่องสื่อให้เห็นถึงความมีภาวะพิเศษอันเป็นพระคุณธรรมอย่างประเสริฐสุดของพระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งคู่

เราอาจมองพระพุทธเจ้าด้วยความรู้สึกที่มีต่อพระองค์ที่ต่างกัน บ้างเห็นเป็นเทพ บ้างเห็นเป็นพรหม บ้างเห็นเป็นสมณะนักบวช แต่ในความต่างกันนี้ อาตมาขอยอมรับว่า อาตมาไม่อาจตำหนิเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เธอเห็นพระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่สำหรับเธอได้ แม้อาตมาจะไม่ได้เห็นเช่นเดียวกันกับเธอ

ประเด็นของอาตมามีแค่นี้ ซึ่งโยมอาจเห็นต่างก็ได้ แต่ขอให้สุภาพไม่หยาบคาย

ปล. อาตมาสังเกตเห็นฉากหลังของภาพนี้ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของสินค้าแบรนด์เนมยี่ห้อหนึ่ง ถ้าเข้าใจไม่ผิด อาตมาคิดว่า ที่วาดออกมาแบบนี้ เพราะเธอต้องการจะสื่อว่า พระพุทธเจ้าได้หันหลังให้กับความหรูหราฟุ่มเฟือยอันเป็นไปในทางวัตถุนิยมทั้งหมดแล้ว นับตั้งแต่ที่ทรงตัดสินใจสละราชสมบัติออกบวชและได้ตรัสรู้มา



ไพรวัลย์ วรรณบุตร

(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2566433433643191&set=a.1388703178082895&type=3&theater)