หนังสือ ‘เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ของ สมชาย ปรีชากุล อาจจะทำให้เราเข้าใจคำถามที่ว่า “แล้วทำไมสถาบันตุลาการจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ (โดยสุจริต) ไม่ได้” เป็นอย่างดีhttps://t.co/JAgUjgS5pC— The Momentum (@themomentumco) September 1, 2019
อ่านซ้ำ : เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
IN FOCUS
เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับการใช้อำนาจตุลาการอันมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญนั้นก็คือ การก่อตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไปจนถึงคดียุบพรรคไทยรักไทย ในปีพ.ศ. 2549 ซึ่งกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจตุลาการที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย และจุดเริ่มต้นของการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจตุลาการในการเมืองไทย
ในขณะที่คำถามสำคัญที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ พยายามทำให้เราเห็นก็คือ การใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามขาของการใช้อำนาจอธิปไตย จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่ เพราะในขณะที่อีกสองขาที่เหลือ ซึ่งก็คือ อํานาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร นั้นเป็นสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมได้อย่างปกติ
ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ คงไม่มีหนังสือเล่มไหนที่จะเข้ากับสถานการณ์มากไปกว่า เมื่อตุลาการ เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ของสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ติดตามความสัมพันธ์ระหว่างการใช้อำนาจตุลาการและปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยมาหลายทศวรรษ ก่อนจะกลั่นออกมาเป็นตัวหนังสือเพื่อชี้ให้เห็นว่าทำไมเราจึงต้องตั้งคำถามในการใช้อำนาจตุลาการในสังคมไทย
ในแบบเรียนสังคมศึกษาที่เราได้ร่ำเรียนกันมา กล่าวว่า “อํานาจอธิปไตย คืออํานาจสูงสุดในการบริหารประเทศแบ่งออก เป็น 3 ฝ่าย มีสถาบันที่ใช้อํานาจอธิปไตยทั้ง 3 แทนประชาชน ก็คือ อํานาจนิติบัญญัติ อันได้แก่ รัฐสภา ทําหน้าที่ตรากฎหมายขึ้นใช้ในประเทศ อำนาจบริหาร อันได้แก่ คณะรัฐมนตรี (รัฐบาล) ทําหน้าที่บริหารประเทศ และอํานาจตุลาการ อันได้แก่ ศาล ทําหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี โดยสถาบันทางการเมืองทั้งสามฝ่ายต่างมีความเป็นอิสระจากกันในการปฏิบัติงาน แต่ก็มีกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน”
ซึ่งเราก็ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง และที่สำคัญก็คือความคิดฝังหัวที่ว่าองค์กรตุลาการนั้น คือองค์กรอันสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ที่เราไม่ควรก้าวล่วงและวิพากษ์วิจารณ์ บวกรวมไปกับ ‘เรื่องเล่า’ ทั้งหลายที่เรามักได้ยินและรับรู้มาว่าผู้ใช้อำนาจตุลาการ จะต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติเหมาะสม เราจะไม่พบผู้พิพากษาในสถานบันเทิงเริงรมย์ หรือแม้กระทั่งการคบค้าสมาคมกับคนทั่วไป
ชีวิตของการเป็นตุลาการ ผู้พิพากษา มักจะต้องโดดเดี่ยวออกจากสังคมที่อาจจะมีผลทำให้ความ ‘ยุติธรรม’ เอนเอียงไปได้ ไม่ว่าจะด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัว ความสนิทชิดเชื้อ หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์นั้นๆ จนดูเหมือนว่าชีวิตของการเป็นตุลาการ ผู้พิพากษา คล้ายกับนักบวชที่ต้องถือครอง ‘ศีล’ เพื่อรักษาสถานะบางอย่างทางสังคม ซึ่งทำให้สถานะของตุลาการ ผู้พิพากษา มีความศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งมากขึ้นไปอีก
สถานะความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจตุลาการที่เกิดขึ้นโดยโครงสร้างสังคมนี้ คืออีกหนึ่งประเด็นที่สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้ให้เห็นในบทนำของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมสถาบันตุลาการถึง ‘ไม่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์’ ได้ ดังเช่นสถาบันอื่นๆ ในขณะที่หากเปรียบเทียบกันระหว่างสามสถาบันที่ใช้อํานาจอธิปไตยในระนาบเดียวกันแล้ว จะพบว่า อํานาจนิติบัญญัติ โดยรัฐสภา และอำนาจบริหาร โดยคณะรัฐมนตรี (หรือรัฐบาล) นั้นกลับเป็นสถาบันที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้มาโดยตลอด ภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่ทำไมสถาบันตุลาการถึงได้อยู่นอกเหนือไปจากบริบทนี้
เนื้อหาที่สำคัญในหนังสือเล่มนี้ก็คือ การหยิบยกเอาเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีสถาบันตุลาการเข้ามาเกี่ยวข้องจนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ โดยเกิดขึ้นตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2549 เป็นต้นมา นั่นก็คือการก่อตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไปจนถึงคดียุบพรรคไทยรักไทย และสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามนั้นอีกหลากหลายเหตุการณ์ เพื่อชี้ให้เห็นว่าการใช้อำนาจตุลาการและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมาโดยตลอด แม้จะมีการกล่าวว่าอำนาจตุลาการเป็นอิสระจากสิ่งอื่นๆ ทั้งปวงก็ตาม จุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘ตุลาการภิวัฒน์’ นั้นก็มาพร้อมกับจุดเริ่มต้นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ ‘อำนาจตุลาการ’ ด้วยเช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดสิ่งตะขิดตะขวงใจต่อผู้อ่านและนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ก็คือ แล้วมุมมองของผู้เขียนที่นำเอาเหตุการณ์ทางการเมืองและการใช้อำนาจตุลาการมาอรรถาธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันในหนังสือเล่มนี้ เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเพียงการการสร้างเนื้อหาโดยใช้ทฤษฎีสมคบคิด อันเป็นไปด้วยอคติทางการเมืองส่วนตัว ด้วยเพราะในแต่ละเหตุการณ์ที่หยิบยกขึ้นมาใช้ในหนังสือเล่มนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ก่อให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและความแตกแยกแนวคิดทางการเมืองในสังคมไทยทั้งสิ้น จึงไม่เป็นการเกินเลยหากมีผู้อ่านที่มีแนวคิดทางการเมืองอีกแบบจะมองว่าหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งข้อแก้ต่างทางการเมืองของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งผู้เขียน สมชาย ปรีชาศิลปกุลในฐานะนักกฎหมายก็ได้อธิบายไว้ในคำนำหนังสือเล่มนี้ว่า
“บทความทั้งหมดเขียนขึ้นจากอคติบางประการ หรือกล่าวให้ เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ก็คือในมุมมองที่เห็นว่าระบบความรู้ที่มีต่อสถาบันตุลาการในแวดวงวิชาการของสังคมไทย ยังคงมีอยู่อย่างจำกัดและคับแคบ เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการพิจารณาจากการมองว่าสถาบันตุลาการนั้น เป็นกลางอยู่ในโลกของตรรกะทางกฎหมาย และลอยพ้นจากสังคมอย่าง สิ้นเชิง ซึ่งมุมมองในลักษณะดังกล่าวดูจะอับจนต่อการให้คำอธิบายกับ ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้นกับการดำรงอยู่และปฏิบัติการของตุลาการในสังคม ไทย”
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามความพยายามของหนังสือเล่มนี้ที่จะนำพาเราไปสู่ความคิดเริ่มต้นที่ว่า “แล้วสถาบันตุลาการจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้หรือไม่” หรือแม้แต่แล้วทำไมเหตุใดสถาบันตุลากการถึงศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งจนไม่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและเพียงพอที่จะทำให้การอ่านโดยปราศจากอคติทางการเมือง ก่อให้เกิดสิ่งที่สำคัญเหนือไปกว่าใครถูกใครผิด ซึ่งก็คือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยข้อขัดแย้งและการถกเถียงกันเช่นนี้
ไม่ว่าการอ่านหนังสือเล่มนนี้จะก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างไรสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปได้ดีและอันทรงพลังของหนังสือเล่มนี้ก็คือประโยคของนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ Ran Hirshcl ที่ผู้เขียนนำมาใช้ในหนังสือเล่มนี้ ที่กล่าวไว้ว่า
“อำนาจตุลาการไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า แต่ถูกสร้างขึ้นมาทางการเมือง” (Judicial power does not fall from the sky; it is politically constructed.)
ซึ่งอาจจะตอบคำถามได้ว่าแล้วทำไมสถาบันตุลาการจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ (โดยสุจริต) ไม่ได้