วันพุธ, กันยายน 11, 2562

มารู้จักแนวคิด 'สหพันธรัฐไท' ที่มาของ 6 คดีร้ายแรง จำเลย 17 คน คนหาย 4 คน





แนวคิด 'สหพันธรัฐไท' ที่มาของ 6 คดีร้ายแรง จำเลย 17 คน คนหาย 4 คน

ภาพจำแรกของคำว่า 'สหพันธรัฐไท' ที่ถูกรายงานข่าวออกมา คือ เสื้อยืดสีดำที่มีแถบขนาดเล็กสี ขาว-แดง-ขาว ที่หน้าอกด้านซ้ายของวรรณภา คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 การควบคุมตัววรรณภาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชุดคดีสหพันธรัฐไท หลังจากนั้นมีคนถูกทหารจับกุม, ถูกค้นบ้านและเยี่ยมบ้าน มีทั้งคนสูญหาย ผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งตัวกลับจากมาเลเซีย ชวนย้อนดูความเป็นมาของความฝันให้ประเทศเป็นสหพันธรัฐ และชะตากรรมของเจ้าของความฝันเหล่านั้น

• อะไรคือสหพันธรัฐไท

ตามรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐไทระบุว่า สหพันธรัฐไทเกิดจากกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล คสช. ซึ่งได้หลบหนีและไปเคลื่อนไหวในประเทศลาว คือ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ 'ลุงสนามหลวง', สยาม ธีระวุฒิ หรือ 'สหายข้าวเหนียวมะม่วง', กฤษณะ ทัพไทย หรือ 'สหายยังบลัด', วัฒน์ วรรลยางกูร หรือ 'สหาย 112' และวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ 'สหายหมาน้อย' โดยใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสาร ความฝันของกลุ่มสหพันธรัฐไท คือ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข แบ่งแยกพื้นที่ประเทศไทยออกเป็นสิบมลรัฐ สัญลักษณ์ของสหพันธรัฐไทคือ ธงสี ขาว-แดง-ขาว

แนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นนี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายเป็นคำยืนยันจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยระบุว่า สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายเพราะประเทศไทยไม่ใช่สหพันธรัฐ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นอาณาจักรหนึ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ แต่สหพันธรัฐถือเป็นการแบ่งแยกเป็นรัฐต่างๆ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น และสัญลักษณ์ของประเทศไทยเป็นธงไตรรงค์เท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายกบฏล้มล้างการปกครองหรือไม่

• ปฏิกิริยาของไทยต่อสหพันธรัฐไท

เดือนสิงหาคม 2561 เป็นช่วงแรกที่ปรากฏการรายงานเรื่องสหพันธรัฐไท โดยฝ่ายข่าว คสช. สืบพบการรวมกลุ่มภายใต้ชื่อ สหพันธรัฐไท ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง โน้มน้าวให้ประชาชนเห็นด้วยในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐ มีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เช่น การทำเสื้อและสติกเกอร์ของกลุ่ม แจกจ่ายให้สมาชิกกลุ่มและเผยแพร่ความคิดผ่านใบปลิว

ปฏิกิริยาแรกๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยมีต่อกลุ่มสหพันธรัฐไท คือ การปิดกั้นข้อมูลของเว็บไซต์ของชูชีพหรือลุงสนามหลวงด้วยเหตุผลว่า เนื้อหาบนเว็บไซต์ขัดต่อกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และสนับสนุนการก่อการร้าย ขณะเดียวกันมีการกวาดจับกลุ่มคนที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไทในไทยไปสอบปากคำในค่ายทหาร ก่อนจะปล่อยตัวและดำเนินคดีบุคคลห้าคน คือ กฤษณะ, ‘สมศักดิ์’, ประพันธ์, วรรณภาและจินดา ในความผิดยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 โดยกล่าวหาว่า ทั้งหมดเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไทที่มีชูชีพเป็นแกนนำกลุ่ม

คดีนี้ถือเป็นคดีแรกของในชุดคดีสหพันธรัฐไทเท่าที่สามารถติดตามได้ทั้งหมดหกคดี จำเลยห้าคนถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 จากการสื่อสารแนวคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยให้เป็นระบบสหพันธรัฐผ่านโลกออนไลน์และการแจกจ่ายใบปลิวและเสื้อยืด และเป็นสมาชิกของสหพันธรัฐไท ในเดือนกันยายน 2561 ทั้งหมดได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

ต่อมาช่วงวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ข้อมูลจากการสืบสวนพบว่า มีบุคคลที่อาจเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มสหพันธรัฐไทเคลื่อนไหวแสดงออกตามห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ปรากฏบุคคลที่ทำกิจกรรมซึ่งพิจารณาแล้วว่า มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท เช่น การถือป้ายข้อความ “Thai Federation” และสวมใส่เสื้อดำที่บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน และการสวมเสื้อดำในห้างสรรพสินค้าต่างๆ รวมทั้งการชูธง ขาว-แดง-ขาว ต่อมาตำรวจได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหากลุ่มบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่า 13 คนในฐานความผิดยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209

อ่านทั้งหมด : https://freedom.ilaw.or.th/node/723