วันเสาร์, กันยายน 14, 2562

4 วิธีจับผิดใบปริญญา-ประกาศนียบัตรปลอม ปั้นแต่งวุฒิการศึกษา - BBC Thai





เว็บไซต์ของ HEDD (Higher Education Degree Datacheck) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้บริการตรวจสอบคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งสถานะของสถาบันระดับอุดมศึกษาในสหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่วิธีการเบื้องต้น 4 อย่าง ในการพิสูจน์ว่าปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรที่ได้รับมาเป็นของจริงหรือไม่ ดังต่อไปนี้

1. แบบใบปริญญาที่ประหลาดผิดเพี้ยน

อันดับแรก HEDD แนะนำว่า ควรจะต้องตรวจดูตราประทับหรือตราที่สลักเป็นรอยนูนในปริญญาบัตรเสียก่อน ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรจะมีตราประทับดังกล่าวทำจากทองคำเปลว และเมื่อยกใบปริญญาขึ้นส่องกับแสงสว่างก็จะเห็นลายโฮโลแกรมหรือลายน้ำได้อย่างชัดเจน

ลายเซ็นของผู้ประสาธน์ปริญญาจะต้องเป็นลายมือที่เขียนด้วยน้ำหมึกปากกา ไม่ใช่ลายเซ็นที่พิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ และควรตรวจสอบกับมหาวิทยาลัยผู้มอบปริญญาบัตรด้วยว่า ตราสัญลักษณ์และตราประทับที่ใช้นั้นมีความถูกต้องตรงกับของมหาวิทยาลัยจริง โดยอาจเปรียบเทียบกับในเว็บไซต์ทางการของมหาวิทยาลัย หรือส่งไปตรวจสอบกับมหาวิทยาลัยต้นทางโดยตรงก็ได้

มีแนวโน้มว่ามหาวิทยาลัยปลอมในต่างประเทศ ชอบออกแบบปริญญาบัตรของตนเองโดยใช้ตัวอักษรแบบโกธิค (Gothic) เพื่อสื่อถึงประวัติของมหาวิทยาลัยที่มีความเก่าแก่และก่อตั้งมายาวนาน แต่แบบตัวอักษรเช่นนี้ค่อนข้างล้าสมัยแล้ว เพราะสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากในปัจจุบันได้หันมาใช้แบบตัวอักษรที่ทันสมัยกว่า

2. การใช้ภาษาที่น่าสงสัย

ใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรของจริงจะต้องไม่มีคำผิดหรือคำที่พิมพ์ตกหล่นปรากฏอยู่ นอกจากนี้ การใช้ภาษาอังกฤษแบบโอ่อ่าหรูหราจนเกินเหตุ หรือการใช้ภาษาโบราณเหมือนในยุคกลางอย่างฟุ่มเฟือย ก็เป็นอีกข้อสังเกตหนึ่งที่ส่งสัญญาณเตือนว่าปริญญาบัตรใบนั้นอาจเป็นของปลอม

ในกรณีของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร การใช้คำศัพท์ภาษาละตินในปริญญาบัตรมักเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่ามีสิ่งไม่ชอบมาพากลอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากการใช้ภาษาละตินถือเป็นธรรมเนียมที่ใช้กันในสถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐฯ เท่านั้น เช่นการเรียกเกียรตินิยมขั้นต้นว่า "คุมเลาเด" (cum laude)

แต่ในสหราชอาณาจักร สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ได้ยกเลิกการใช้คำศัพท์ละตินเหล่านี้ไปกว่าสิบปีแล้ว และหันมาใช้ภาษาอังกฤษแท้เช่นคำว่า "with honours" สำหรับผู้ที่ได้เกียรตินิยมแทน

สิ่งที่ต้องตรวจสอบอีกอย่างหนึ่งคือการเขียนชื่อมหาวิทยาลัย ซึ่งต้องดูให้แน่ใจว่ามีการลำดับคำและใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่หรือพิมพ์เล็กอย่างถูกต้อง เช่น "มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์" ควรจะต้องสะกดเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการว่า The University of Manchester ไม่ใช่ Manchester University รวมทั้งตัวอักษร T ในคำว่า The จะต้องเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เสมอ

3. ที่อยู่และตำแหน่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยปลอมมักจะให้ข้อมูลที่อยู่ที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งเรื่องนี้อาจตรวจสอบได้ง่าย ๆ โดยใช้ที่อยู่และรหัสไปรษณีย์ค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในแผนที่ดาวเทียม กูเกิล สตรีตวิว (Google Street View) ซึ่งแผนที่จะแสดงภาพจริงของสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยให้ได้เห็น

บ่อยครั้งที่แผนที่ดังกล่าวเปิดเผยความจริงว่า มหาวิทยาลัยอันเก่าแก่และทรงเกียรติเป็นเพียงห้องแถวเล็ก ๆ ในย่านที่ไม่น่าจะเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ได้ ที่อยู่ของบางมหาวิทยาลัยกลับกลายเป็นลานจอดรถ หรือพื้นที่เล็ก ๆ ใกล้วงเวียนกลับรถก็มี

การให้ที่อยู่แบบข้อมูลไม่ครบถ้วน การให้ที่อยู่ที่ดูคล้ายกับบ้านพักอาศัยของคนทั่วไป หรือการใช้ตู้ ปณ. (PO Box) ซึ่งเป็นบริการตู้ไปรษณีย์ให้เช่า สามารถเป็นสัญญาณเตือนว่ามหาวิทยาลัยแห่งนั้นไม่ใช่สถาบันการศึกษาที่แท้จริงได้

นอกจากนี้ การสังเกตชื่อโดเมนหรือโดเมนเนมของเว็บไซต์มหาวิทยาลัย ยังช่วยให้เราไม่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเอาได้ง่าย ๆ มหาวิทยาลัยปลอมหลายแห่งเลือกใช้ชื่อโดเมน Ascension Island เพื่อให้ได้ตัวย่อ ac ในที่อยู่เว็บไซต์ ซึ่งเหมือนกับตัวย่อจากชื่อโดเมน Academia ที่สถาบันการศึกษาใช้กัน

4. ใช้บริการตรวจสอบของมืออาชีพ

แม้จะมีวิธีการเบื้องต้นเพื่อดูว่าใบปริญญาเป็นของจริงหรือไม่ แต่หลายครั้งเราก็ไม่อาจจะแน่ใจได้ว่าการตรวจสอบด้วยตนเองนั้นถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนอาจจะหลงกลมิจฉาชีพซึ่งใช้เล่ห์เหลี่ยมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นทุกที เพื่อหลอกให้หลงเชื่อว่าวุฒิการศึกษาปลอมเป็นของจริงได้

HEDD รายงานว่า มหาวิทยาลัยปลอมบางแห่งถึงกับทำฐานข้อมูลเท็จออนไลน์ขึ้นมา เพื่อให้นายจ้างและองค์กรที่รับสมัครงานเข้าไปตรวจหาชื่อผู้สมัครงานได้ จากรายชื่อผู้สำเร็จการศึกษาที่ทำปลอมเตรียมไว้แล้ว ซึ่งก็จะพบชื่อคนที่ต้องการตรวจสอบปรากฏอยู่ทุกครั้ง

การที่บุคคลและองค์กรทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้เสมอ ทำให้ HEDD แนะนำว่าเราอาจเลือกใช้บริการผู้ตรวจสอบมืออาชีพที่ไว้วางใจได้ ซึ่งในสหราชอาณาจักรมีหน่วยงานของรัฐในลักษณะนี้อยู่พอสมควร และมีฐานข้อมูลที่ละเอียดเพียงพอในการตรวจสอบคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษา หรือตรวจสอบสถานะของมหาวิทยาลัยว่ามีอยู่จริงหรือก่อตั้งถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

"สถานการณ์น่าเป็นห่วงขึ้นทุกที เพราะธุรกิจขายใบปริญญาปลอมเหล่านี้กำลังเติบโตขึ้น และใช้เทคนิคในการหลอกลวงที่ซับซ้อนแนบเนียนขึ้นทุกขณะ" นายจอร์จ กอลลิน หนึ่งในคณะกรรมการบริหารสภาตรวจสอบและรับรองสถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐฯ กล่าวแสดงความกังวล

"โรงงานปั๊มปริญญาปลอมทำรายได้อย่างมหาศาล เพียงแค่ลงทุนก่อตั้งเว็บไซต์เท่านั้น คุณก็สามารถขายวุฒิการศึกษาให้กับลูกค้าทั่วโลกได้ในราคาแพง ธุรกิจแบบนี้ในสหรัฐฯ สามารถเรียกค่าปลอมวุฒิแพทยศาสตรบัณฑิตได้ถึงครั้งละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 304,000 บาท)"

"ยากที่จะเชื่อได้ว่าผู้ครอบครองวุฒิการศึกษาปลอมเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นฝ่ายถูกมหาวิทยาลัยเก๊หลอกลวง อันที่จริงพวกเขาทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่ากำลังจ่ายเงินซื้อคุณวุฒิในทางลัด การลงเรียนหลักสูตรปริญญาเอกทางไกลเพียงอาทิตย์เดียวแล้วสำเร็จการศึกษาได้ทันทีนั้น ทุกคนรู้อยู่ว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าใครหลงเชื่อว่านี่คือการศึกษาของจริงก็นับว่าโง่เต็มที" นายกอลลินกล่าวทิ้งท้าย