วันอังคาร, กันยายน 03, 2562

"ถีบลงเขา เผาลงถังแดง" ของยุคนี้ - ดีเอสไอพบเบาะแสสำคัญคดีอุ้มหาย "บิลลี่" นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง หลังพบกระดูกมนุษย์ถูกฆ่าแล้วเผายัดถังน้ำมัน 200 ลิตรในอุทยานแก่งกระจาน



ด่วน! พบหลักฐานสำคัญโยง “บิลลี่” ตาย


2 กันยายน 2562
Thai PBS


กรมสอบสวนคดีพิเศษ พบหลักฐานสำคัญโยง ”บิลลี่” แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เสียชีวิตหลังหายตัวไป 5 ปี โดยพบถังน้ำมัน 200 ลิตรภายในมีโครงกระดูกมนุษย์ ใกล้สะพานแขวนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

วันนี้ (2 ก.ย.2562) มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมแถลงข่าวด่วนที่เชื่อว่า “บิลลี่” นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสียชีวิตแล้ว หลังหายตัวนาน 5 ปี

แหล่งข่าวจากดีเอสไอ ยืนยันว่า จากการสอบสวนเรื่องนี้แบบเกาะติด ตั้งแต่ปี 2557 และล่าสุดเมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบหลักฐานสำคัญจนนำไปสู่การค้นหาหลักฐานบริเวณใกล้สะพานแขวน ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวชื่อดังในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน





พบถังน้ำมันภายในมีชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์

หลักฐานที่พบประกอบด้วย ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร โดยในถังมีขิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ รวมถึงหลักฐานอื่นๆในถังที่ถูกนำไปทิ้งไว้ในน้ำใกล้กับสะพานแขวน ซึ่งเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของดีเอสไอ คาดว่าจะเป็นของบิลลี่

ทั้งนี้จากการตรวจ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับนายบิลลี่ และชิ้นส่วนทั้งหมดอยู่ระหว่างตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดเพื่อยืนยันเรื่องเอกลักษณ์บุคคลอีกครั้ง คาดว่าดีเอสไอเตรียมจะมีการแถลงข่าวการค้นพบในช่วงบ่าย วันพรุ่งนี้ (3 ก.ย.)

สำหรับคดีนายบิลลี่ หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2557 ทำให้นางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ “มีนอ” ภรรยาของบิลลี่ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีการไต่สวนการหายตัวไปของบิลลี่ แต่ต่อมาศาลยกคำร้อง โดยระบุว่าหลักฐานไม่เพียงพอ จากนั้นในเดือนเม.ย. 2561 ทางดีเอสไอ ได้มีมติรับคดีการหายตัวของบิลลี่ไว้เป็นคดีพิเศษ และมีการสอบสวนทางลับมาอย่างต่อเนื่อง



ดีเอสไอเกาะติด-หลังบิลลี่หาย 5 ปี
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ในวงเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับแอมเนสตี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนา “คนก็หายกฎหมายก็ไม่มี” เนื่องในวันผู้สูญหายสากล 30 ส.ค.ของทุกปี และมีการพูดถึงประเด็นการหายตัวของบิลลี่

พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ ผอ.กองอำนวยการปฎิบัติการพิเศษภาค ในฐานะผู้ดูแลคดีการหายตัวไปบิลลี่ กล่าวว่า อยากให้ทุกท่านค่อยๆ นึกตามแล้ว จะเข้าใจกับสิ่งที่ดีเอสไอทำ และกำลังจะมีผลใกล้ๆนี้ อย่างแรกคือเป้าหมายสุดท้ายของเคสบิลลี่

“เชื่อว่าทุกคนอยากรู้ว่า บิลลี่ไปไหน อยากให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาอย่างแรกถ้าไม่ได้ตัวบิลลี่ว่าหายไปไหน การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคือรับสารภาพว่าได้จับตัวบิลลี่ และปล่อยไปโทษ 1-10 ปี ถ้ารับสารภาพโทษ 1 ปี ลดลงครึ่งหนึ่งรอลงอาญา 6 เดือน”
พ.ต.ท.เชน กล่าวว่า ซึ่งคงไม่อยากให้เป็นแบบนี้ ดีเอสไอ จึงต้องกลับมาหาว่าบิลลี่หายไปไหน ซึ่งตอนนี้มีพยานหลักฐานแล้วว่าบิลลี่ไปไหน ข้อหาก็จะแตกต่าง ถ้ารู้ว่าเขาไปไหน อาจเป็นการฆาตกรรมโดยวางแผน โทษคือประหารชีวิต 

“ต้องรอให้ผู้บังคับบัญชาแถลงข่าว หรือการดำเนินการใดๆ แต่ไม่ต้องห่วงผล ออกมาทางบวก ให้ทุกท่านสบายใจได้ เรื่องนี้จบ”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ครบรอบ 1 ปี "บิลลี่" ถูกบังคับสูญหาย
"ผู้หญิงนักสิทธิ" เป้าโจมตีจากแรงผลักดันที่เจ็บปวด

ooo


เหตุการณ์ถีบลงเขา เผาลงถังแดง





11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ไทยโพสต์

เหตุการณ์ "ถังแดง" หรือรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "เผาลงถังแดง" เป็นเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ที่ใช้วิธีการรุนแรงนอกกระบวนการกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ต้องสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์ในเขตจังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงในช่วงเวลาของทศวรรษ 2510 ปฏิบัติการที่ถูกกล่าวถึงในแง่ลบนี้คือ การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐด้วยวิธีการจับกุมผู้ต้องสงสัยมาใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ซึ่งใส่น้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ในก้นถังประมาณ 20 ลิตร แล้วจึงเผาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้น โดยที่ผู้ต้องสงสัยบางส่วนถูกทรมานจนเสียชีวิตมาก่อนหน้านั้น ในขณะที่บางส่วนซึ่งยังไม่เสียชีวิตก็จะถูกเผาทั้งเป็น

การเลือกใช้ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อผู้ต้องสงสัยในเวลาดังกล่าว เป็นผลมาจากการหล่อหลอมความคิดเรื่องความชิงชังและความเป็นศัตรูระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐกับกลุ่มประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นผู้ปฏิเสธอำนาจของรัฐบาล สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในยุคของสงครามเย็นซึ่งการต่อสู้กันทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและทางการทหารระหว่าง 2 ขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ คือประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์กำลังแพร่หลายทั่วไปทั้งในระดับสากลและภายในประเทศ สำหรับพื้นที่จังหวัดพัทลุงและพื้นที่ใกล้เคียงนั้นก็เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวที่สำคัญทั้งทางการเมืองและทางการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่สำคัญในการปฏิบัติการทางการเมืองและการทหารของรัฐบาลไทยเช่นกัน

นับตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เริ่มมีการเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้น ซึ่งที่เริ่มตื่นตัวทางการเมืองเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนและความไม่พอใจที่กองทัพญี่ปุ่นคุกคามประเทศจีนและประเทศไทยในช่วงสงคราม กลุ่มชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้เริ่มรวมตัวกันอย่างลับๆ เพื่อดำเนินการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อสงครามสงบลงคนเหล่านี้ซึ่งซึมซับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มากขึ้นก็เริ่มเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองตามระบอบคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ เช่น ตรัง หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง เป็นต้น และเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและมีสมาชิกของพรรคเข้ามาปฏิบัติการทางการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ก็ทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทางการเมืองดังกล่าวและเข้าร่วมดำเนินงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากปัจจัยในเรื่องความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและความไม่พอใจต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ ทั้งในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันและกดขี่ข่มเหงประชาชนในพื้นที่

อ่านต่อได้ที่

https://www.thaipost.net/main/detail/40709