วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 01, 2561

สำเนียก ได้แล้ว #คสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์!





Prinya Thaewanarumitkul


#คสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์!

การที่ในประเทศไทยยอมรับกันเป็นการทั่วไปว่าคณะผู้ยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น มาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ตัดสินไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 (คำพิพากษาศาลฎีกา 45/2496) และ พ.ศ. 2505 (คำพิพากษาฎีกา 1662/2505) ซึ่งทำให้เกิดบรรทัดฐานว่า ผู้ที่ยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองสำเร็จย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดในรัฐ ทำอะไรก็ไม่มีวันผิด และประกาศอะไร หรือมีคำสั่งอะไรมาบังคับประชาชน ก็ทำได้ทั้งสิ้น โดยศาลจะยอมรับเป็นกฎหมายใช้บังคับประชาชนให้

บรรทัดฐานนี้ความจริงก็มีปัญหามากอยู่แล้ว พอท่านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงกล่าวให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 ที่ผ่านมาว่า 'คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์' ผมเกรงว่าจะทำให้เกิดทัศนะความเข้าใจที่จะคลาดเคลื่อนไปกันใหญ่ ในฐานะอาจารย์กฎหมายจึงขออนุญาตพูดถึงเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในแวดวงนักศึกษากฎหมาย และเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปด้วย

ที่ว่าคลาดเคลื่อนก็เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งผ่านประชามติ และพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 มีมาตรา 3 บัญญัติไว้ว่า #อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ รัฏฐาธิปัตย์ คือประชาชนชาวไทย ไม่ใช่ คสช. ครับ!

แล้วความจริง รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก็มีมาตรา 3 บัญญัติไว้เหมือนกันว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ดังนั้น คสช. ไม่เพียงแต่ไม่ใช่รัฐาธิปัตย์มาตั้งแต่ 6 เมษายน 2560 เท่านั้น แต่ไม่ใช่รัฐาธิปัตย์มาตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวคือวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 แล้วครับ!

ที่ คสช. ยังมีอำนาจไม่จำกัดก็เพราะ รัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ไปเขียนบทเฉพาะกาลให้มาตรา 44 ยังอยู่จนกว่าคณะรัฐมนตรีใหม่หลังเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ แต่การที่ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ไม่ได้แปลว่า คสช. จะยังเป็นรัฐาธิปัตย์ และจะทำอะไรก็ได้

ที่สำคัญที่สุด เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว คสช. ก็ควรต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน - ประชาชนซึ่งเป็น 'รัฏฐาธิปัตย์' ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ คสช. เอามาให้ประชาชนลงประชามติ และใช้บังคับในขณะนี้ครับ