“ฐิตินันท์” ชี้ดัชนีรัฐประหารซ้อน เหลิงอำนาจ-นาฬิกา-ข้อกังขาสืบทอดอำนาจ
18 กุมภาพันธ์ 2561
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
การเลื่อนโรดแมปออกไปครั้งแล้วครั้งเล่าของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ-องคาพยพกลายเป็นช่วงคาบลูกคาบดอก-เผชิญหน้า
“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์” จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขามองโลก-แจกแจงในฐานะนักวิชาการผู้ช่ำชองการเมืองระหว่างประเทศไม่กี่ บรรทัด แต่คลี่พลังกลุ่มการเมืองภาคประชาสังคมที่สงบเงียบและกำลังจะตื่นขึ้นจาก ภวังค์เพื่อยื่นคำขาด
Q : การเลื่อนโรดแมปการเลือกตั้งออกไปจะส่งผลในทางการเมืองอย่างไร
รัฐบาลเลื่อนโรดแมปมาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง ซึ่งปฏิกิริยาของคนทั่วไปต่อการเลื่อนเลือกตั้งครั้งแรก ๆ เหมือนกับว่า ยกให้ อะลุ่มอล่วย แต่การประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 61 เป็นหน้าต่างเวลาที่สำคัญมาก ฉะนั้นการยืดโรดแมปออกไป ทำให้ท่านนายกฯ เสียความน่าเชื่อถืออยู่พอประมาณและเกรงว่า จะสร้างความตึงเครียดมากขึ้น
เงื่อนไขสำคัญ คือ ประเทศอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงที่ทหารต้องอยู่ในอำนาจเพราะเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญยิ่ง เป็นช่วงละเอียดอ่อน ฉะนั้นทหารจึงได้รับความชอบธรรมอยู่ไม่น้อย
แต่เมื่อรัฐบาลทหารอยู่มานานมาก 3 ปีกว่าเกือบจะ 4 ปี ทุกคนจึงเริ่มเห็นว่า ควรจะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเสียที และการที่รัฐบาลโฆษณาว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 61 และบอกว่าจะอยู่ไม่นาน ประกอบกับไม่สามารถแก้ปัญหา 3 เรื่องหลักซึ่งที่เป็นเหตุผลของการยึดอำนาจได้สำเร็จ และนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 60 กระแสที่เกิดขึ้นจึงเริ่มทวงถามฉะนั้นคงไปต่อลำบาก
Q : ถ้ารัฐบาลยื้อเวลาอยู่ในอำนาจไปเรื่อย ๆ จะเกิดอะไรขึ้น
สถานการณ์จะตึงเครียดขึ้น เพราะการต่อต้าน การทวงคืนโรดแมปที่สัญญาเอาไว้ มีชนวนทำให้เกิดขึ้น เช่น เรื่องภาพลักษณ์ เรื่องรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล เป็นฟืนที่ใส่เข้ามาไปในกองไฟ สะสม เก็บกดเอาไว้ จากการไม่ได้พูดแต่ตอนนี้ถึงจุดที่…ไม่เอาแล้ว เป็นจุดที่อุ่นและกำลังไปหาความเดือด ดังนั้น เมื่อไม่มีทางออก ไม่มีการปลดปล่อย หรือ ลดการกดดันทางการเมืองและรัฐบาลทหารไม่ยอมไป ไม่มีความชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร ย่อมทำให้ตึงเครียดมากขึ้น
Q : ทำไมรัฐบาลถึงต้องการอยู่นาน ไม่ลงจากอำนาจ
ปัญหาของคนที่อยู่ในอำนาจ 1.กลัวโดนเช็กบิล เปิดโปงเรื่องไม่ชอบมาพากลจนคุมไม่ได้ 2.ต้องการจะแก้มือ 3.อยากจะทำต่อ เช่น ยุทธศาสตร์ 20 ปี 4.เหลิงอำนาจ หลงอำนาจจนยึดติดกับสิ่งที่พ่วงมากับการมีอำนาจ และ 5.พรรคพวก ลิ่วล้อ คนรอบกายทำให้อยู่ต่อ
Q : แล้วทางออกไม่ให้สถานการณ์ตึงเครียดคืออะไร
กำหนดการเลือกตั้งให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้ความตึงเครียดสะสม พรรคการเมืองกลับเข้าสู่โหมดการรณรงค์หาเสียง ทุกคนจะเตรียมใจไปทางนั้น
แต่การเลือกตั้งไม่ได้แก้ปัญหา เพราะปัญหาที่ตามมา คือ ระบบการเมืองเดิมกลับมาสู่วงจรเดิม 20 ปีที่ผ่านมาระบบการเมืองไทยไม่มีเลือดใหม่ เกิดเป็นวิกฤตศรัทธาต่อพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่วิกฤต
Q : ความตึงเครียดจะไปสู่จุดแตกหักหรือไม่
1.ขึ้นอยู่กับว่าจะขยายตัวได้มากเร็วและแรงขนาดไหน และรัฐบาลตอบสนองต่อประชาชนได้มากน้อยขนาดไหน 2.ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของรัฐบาลทหารเป็นอย่างไร เช่น เรื่องนาฬิกา คนทั่วไปและผลสำรวจไม่เชื่อคำอธิบาย ถ้ารองนายกฯไม่ลาออก ดันทุรัง ไม่รู้ไม่ชี้ จะกัดกร่อนความชอบธรรมไปเรื่อย ๆ และ 3.ข้อกังขาอื่น ๆ เช่น การลงพื้นที่ต่างจังหวัดของนายกฯ และการดำเนินนโยบายประชารัฐ ไทยนิยมยั่งยืน อนุมัติโครงการและงบประมาณเพื่อหาเสียงสนับสนุนทางการเมืองจากเครือข่าย นักการเมืองในต่างจังหวัดหรือไม่ ภาพที่ออกมาจึงเสมือนเป็นการปู พื้นก่อนการเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจ ยิ่งนายกฯไม่ให้ความชัดเจนว่า จะไม่ลงการเมืองและยอมรับว่าเป็นนักการเมืองแล้ว การเมืองไทยมีบทเรียนมาแล้วในอดีต ซึ่งประวัติศาสตร์ชอบซ้ำรอย คือ เมื่อคิดจะสืบทอดอำนาจคนจะไม่เอาด้วย
ประเด็นสำคัญ สังคมไทยเป็นประชาสังคมที่มีประสบการณ์ มีความยาวนานมากว่า 4 ทศวรรษ เช่น เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ปัญญาชน เติบโตและมีประสบการณ์มากับการต่อต้านเผด็จการทหาร สมัย 2516 สมัย 2535 ภาคประชาสังคมจึงมีขนาด มีพลัง ที่ไม่ควรดูถูก ดูแคลนและไม่ควรมองข้ามเพราะพลังทางสังคมเหล่านี้ กำลังกลับมาเพราะว่ารัฐบาลทหารอยู่ยาวนานเกินไป มีจุดอ่อนเยอะ ผลงานไม่เป็นรูปธรรม
Q : เหตุการณ์จะซ้ำรอยเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พฤษภาฯ 35
เหตุการณ์จะไม่ย้อนไปตรง ๆ เหมือนเหตุการณ์ในอดีต แต่มีเชื้อ มีวิญญาณอยู่ ที่จะไม่เอาเผด็จการทหารอย่างโจ๋งครึ่มแสดงให้เห็นมาแล้วตั้งแต่ 2516 และ 2535 เชื้อนี้ พลังนี้ ที่ผ่านมาเกิดความแตกแยก เงียบไปและไม่มีเอกภาพเพราะความแตกแยกทางการเมือง
ที่ผ่านมา มีความขัดแย้งภายในตัวเอง ที่สุดแล้วก็ไปบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยไปในตัว แต่ขณะนี้ เป็นศักราชใหม่ กรอบเวลาใหม่ที่จะต้องหาความลงตัวและกลุ่มพลังประชาสังคมเหล่านี้อาจจะตื่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะเห็นว่า โดนหลอก ส่วนหนึ่งผิดหวังกับรัฐบาลทหารที่ทำไม่ได้อย่างที่พูด ไม่แตกต่างจากรัฐบาลทหารยุคที่ผ่าน ๆ มา นายพลครองเมือง ตักตวงผลประโยชน์ให้กับตัวเองและเครือข่าย โดยไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
คนจึงเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องการเลือกตั้ง หมายถึง การมีส่วนร่วมและต้องการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ไม่ได้หมายถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยที่สวยหรู ซึ่งภาคประชาสังคมเป็นตัวแสดงที่สำคัญมาก
Q : พลังจากพรรคการเมืองในภาคประชาชน
พรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ทั้งคู่ไม่เอารัฐบาลทหารบนเงื่อนไขต่างกัน เพื่อไทยประกาศชัดเจนว่า ไม่เอาทหาร ไม่เป็นรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่เพื่อไทยมีเรื่องติดตัวเยอะ บนชัยชนะมีความขัดแย้งมาโดยตลอด มีข้อครหาทุจริต ผลประโยชน์ทับซ้อน
ประชาธิปัตย์เป็นพรรคตัวแปรที่สำคัญ 1.ทำให้เสียงไม่เอารัฐบาลทหารออกมามากขึ้น เป็นแนวร่วมที่สำคัญ ถึงแม้ภายในพรรคแบ่งออกเป็นฝั่งคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร แต่ฝั่งคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) คุณชวน (หลีกภัย) เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่า ต้องการการเลือกตั้งและการมีส่วนร่วม ต้องการเปลี่ยนรัฐบาลทหาร
2.ถ้าหากฝั่งคุณอภิสิทธิ์ คุณชวนบอกว่า รอมชอมกับทหารได้ ตกลงกับทหารได้ จะมีความชัดเจนไปอีกอย่างหนึ่ง คสช.จะสามารถสืบทอดอำนาจได้อีกแบบหนึ่ง โดยร่วมมือกับประชาธิปัตย์แต่บนเงื่อนไขของประชาธิปัตย์ คือ ต้องเอานโยบายของพรรคและประชาธิปัตย์ต้องเป็นผู้นำ ทหารต้องยอมให้คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ
Q : รัฐบาลไม่ลงจากอำนาจเพราะกำลังหาทางลง กลับเข้ามาสู่อำนาจต่อ
เป็นสัจธรรมของทุกประเทศ เมื่อทำอะไรแล้ว ถ้าไม่ตั้งใจให้แน่วแน่จริง ๆ อาจจะเฉ ไปผิดทาง หลงทาง และเมื่อถึงเวลานั้น ต้องพยายามคลำหาทางให้เจอเพื่อที่จะให้ออกได้ แต่มันจะติดกับดักตัวเอง ยิ่งคลำหาทางออก ยิ่งหลง ยิ่งหลง ยิ่งไม่ยอมออก
Q : ทำอย่างไรถึงจะให้ออกจากกับดักอำนาจ
ต้องระวังมาก ๆ ขณะนี้เพียงแค่เดือนกุมภาพันธ์ก็เกิดการประท้วงบ้างแล้ว และถ้าเกิดแรงต้านเพราะความไม่ชอบธรรม ความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายที่ขยายวงขึ้น เป็นสมการที่อันตรายเพราะรูปแบบการปกครองของรัฐบาลทหาร รัฐบาลทหารจะคิดทุกอย่างเป็นเรื่องของความมั่นคง รัฐบาลมีอำนาจมาก มีกำลังในมือ อาจนำไปสู่การใช้กำลัง ลูกน้องจะเอาใจนาย มองทุกอย่างเป็นศัตรู เป็นภัยคุกคาม ต้องจัดการในทุกรูปแบบ เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้น เผชิญหน้า ยื่นคำขาดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
Q : การลงพื้นที่ของนายกฯ เพื่อรวบรวมเสียงเครือข่ายการเมือง
เป็นสาเหตุที่ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งเพราะยังไม่มั่นใจว่าจะได้เสียงพอสนับสนุน หรือไม่ และยังไม่แน่ใจว่าถ้าได้เป็นนายกฯคนนอกแล้วการบริหารงานต่อไปจะราบรื่น
รัฐบาลทหารรู้อยู่แล้วว่าเพื่อไทยตรงข้ามทหารแต่เพื่อไทยก็สร้างความไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าเพื่อไทยจะได้เสียงเท่าไหร่เมื่อลงสนามเลือกตั้ง ยังกลัวว่ารอบนี้อาจจะมาอยู่ ทหารอาจจะทำผลสำรวจ (โพล) ของตัวเองแล้วผลออกมายังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ขณะที่ประชาธิปัตย์ยังเป็นแนวร่วมไม่เอาทหาร กังวลว่าเสียงจะยังไม่พอ จึงยังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง
Q : ความเป็นไปได้ในการเกิดรัฐประหารซ้อน
ขึ้นอยู่กับห้วงเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถ้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มีปัญหาที่แก้ไม่ตก มีข้อครหา ภาพลักษณ์เรื่องนาฬิกาที่ตรวจสอบไม่ได้ อธิบายคลุมเครือ รวมไปถึงความไม่ชอบมาพากลอื่น ๆ ถ้าไม่เกิดความชัดเจนกับเรื่องที่ทิ่มตา แทงใจประชาชน ถ้าหากรัฐบาลนี้ความชอบธรรมติดลบและไม่ยอมลงจากอำนาจ ก็อาจจะเป็นไปได้ อาจมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งต่อจากรัฐบาลนี้ก่อนการเลือกตั้ง
Q : ท่าทีของต่างประเทศต่อการยืดโรดแมปออกไปอีก 90 วัน
ที่ผ่านมาต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งสำหรับการเมืองไทย เพราะไทยอยู่ในสังคมโลกและเศรษฐกิจไทยเกินครึ่งพึ่งพาการส่งออกและการท่อง เที่ยวดังนั้นไทยกับนานาชาติภิวัตรกันอย่างเต็มตัว ประชาคมโลกมีบทบาทสูงกับเหตุการณ์บ้านเมืองไทย
ประเด็นสำคัญเรื่องการต่างประเทศอยู่ตรงที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศตะวันตก จีน ญี่ปุ่น รัฐบาลไทยไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไร ไทยเป็นประเทศที่ละเว้นและขาดไม่ได้แล้วในขณะนี้ สหภาพยุโรป (อียู) กลับมาฟื้นความสัมพันธ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการยืนยันวันเลือกตั้ง เพราะนายกฯไทยเปลี่ยนการเลือกตั้งมา 4 รอบและผิดสัญญามาตลอด แต่เป็นเพราะอียูต้องการคืนดีกับไทยมานานแล้วเพื่อรื้อฟื้นสัมพันธไมตรีให้ กลับมาเหมือนเดิม เพราะอียูเห็นจีนและญี่ปุ่นเดินหน้าเรื่องการค้าการลงทุน ออสเตรเลียเปลี่ยนท่าที ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาเยือน และมีความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกันตามปกติ
สังเกตเห็นได้ว่าเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไปเยือนทำเนียบขาว (ดีดนิ้ว) ทุกประเทศต้องปรับท่าที เพราะถ้าอเมริกาเอาด้วยกับรัฐบาลทหารไทยแล้ว อียูก็ต้องเอาด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเสียเปรียบ เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์การต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจขาดไทยไม่ได้ ขาดไทยแล้วเดินเครื่องไม่เต็มสูบ เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน ขนาดเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล
Q : ทฤษฎีโลกล้อมไทยใช้ไม่ได้ผล
การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยของไทย ต้องมาจากภายในมากขึ้นถึงจะประสบความสำเร็จ อย่าไปหวังต่างประเทศ เพราะเอาเข้าจริง ๆ รัฐบาลไหนมาเขาก็ต้องสัมพันธไมตรีด้วย คบค้าด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหากต้องการการมีส่วนร่วมกลับมา อยากได้การมีตัวแทนของประชาชน สิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ ต้องออกแรงเองเยอะขึ้น ต่างชาติหมดเบี้ยหน้าตักเพราะมาคืนดีกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์แล้ว และการยืดโรดแมปออกไปต่างชาติจะทำอะไรได้
ขณะนี้แม้ในต่างประเทศเอง ประชาธิปไตยกำลังมีปัญหา เผด็จการมาแรง ประชาธิปไตยอยู่ในภาวะถดถอย แต่การเรียกร้องการมีส่วนร่วมไม่ถดถอย เพราะฉะนั้นเผด็จการที่ไหนก็แล้วแต่ปราศจากการมีส่วนร่วมหรือการยอมรับของคน หมู่มากเขาก็อยู่ยากอยู่ดี
Q : แต่ทำไมกรณีคุณยิ่งลักษณ์กับคุณทักษิณสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้โดยไม่ถูกส่งตัวกลับ
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่านานาชาติไม่เอาด้วยกับความขัดแย้งภายในของไทย