เอาแต่ ‘อุ่นไอรัก’
กุ๊กกิ๊กกันอยู่นั่นแหละ บิ๊กตูบกะบิ๊กแป๊ะ ชาวบ้านจะพาลอดตายกันถ้วนหน้าไม่ช้าหรอก
สัญญานไม่ดีตั้งแต่ต้นปีเลยเชียว
สำนักสถิติฯ เผยตัวเลขว่างงานเดือนมกราคม
๖๑ หนักกว่าปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อมกราคม ๖๐ ไทยมีคนว่างงานเพิ่มอีก ๔
แสน ๗ หมื่นกว่า ถ้าวัดเฉพาะจากเมื่อเดือนธันวา ๖๐ ถึงสิ้นมกรา ๖๑ ก็จะมีคนว่างงานเพิ่มจากเดิม
๑ แสน ๑ หมื่นกว่า
(รายละเอียดที่ https://www.thairath.co.th/content/1204452)
ซึ่งการว่างงานก็เป็นดัชนีสำคัญในการมองภาพเศรษฐกิจประเทศโดยรวม
ที่ Council on Foreign Relations หรือสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
วิเคราะห์ว่า
“ขณะที่เศรษฐกิจไทยแสดงถึงการฟื้นตัว
แต่นโยบายของรัฐบาล คสช.กลับสร้างความเจริญเติบโตได้น้อย ในนอกพื้นที่กรุงเทพฯ และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก
ซึ่งรัฐบาล คสช.มีแผนกระตุ้นการลงทุนขนานใหญ่”
นโยบายหรือโครงการของรัฐบาลย่อมสะท้อนสมรรถภาพ
วิสัยทัศน์ และประสิทธิภาพของคนที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะตัวหัวหน้ารัฐบาล
และแน่ละประสิทธิภาพในการทำงานของคนในทีมรัฐบาลเหล่านี้
จะเป็นเครื่องชี้บอกว่าประเทศว่าก้าวหน้าหรือล้าหลังด้วย
ความที่เป็นคนช่างพูด เมื่อวันก่อนพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา พูดถึงรายงานของกรมควบคุมมลพิษ เรื่องปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม.
ซึ่งพบว่า ‘เกินค่ามาตรฐาน’ เป็นจำนวนมาก ว่าเกิดจากการเผาฟางและไม้แห้ง อันเป็นการนำประสบการณ์ที่ได้เห็นจากข่าวการเผาหญ้าของชาวไร่ชาวนาในภาคเหนือมาอ้าง
มาวานนี้นายธารา บัวคำศรี
ผอ.กรีนพี้ชประจำเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้ออกมาตอกหน้าบิ๊กตูบอย่างแรง “เวรกรรมประเทศไทย
รอบๆ กรุงเทพฯ ไม่มีจุดความร้อนสักนิดเดียว พูดไปเรื่อย” เขาหมายถึงการตรวจสอบทางอีเล็คโทรนิค
ซึ่งตามรายงานระบุว่า “ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ
เวลา ๑๒.๐๐ น.
ตรวจวัดได้ระหว่าง ๕๖ – ๘๓ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เกินเกณฑ์มาตรฐาน ๖ พื้นที่...โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสถานี”
ทั้งที่ “ในช่วงนี้จุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียมยังไม่พบในเขต
กทม. และปริมณฑล แถมกรมควบคุมมลพิษบอกว่ายังทำให้ดัชนีคุณภาพอากาศทันสมัยไม่ได้
ต้องรอไว้ชาติหน้าตอนเย็นๆ อ้าวไหนว่ายุค ๔.๐”
ผู้อำนวยการภูมิภาคขององค์กรปกป้องสภาพแวดล้อมที่ได้รับการยกย่องทั่วโลก
ยังกล่าวในเชิงชักนำให้นายกรัฐมนตรีประเทศไทยกลับจากการ ‘ย้อนยุค’ มาสู่เทคโนโลยี่
๔.๐ ว่า
“มันพลิกโลก
เราสามารถรู้แบบ real-time
ได้ว่าคุณภาพอากาศในขณะนี้ดีหรือไม่ จะมีผลต่อสุขภาพเราอย่างไร
และเราควรดูแลตัวเองอย่างไร...
วันนี้ Sensor มือถืออันทันสมัย (ซึ่งได้รับการ calibrate
ให้กับอากาศเมืองไทยแล้ว)...เราไม่ต้องไปพึ่งหน่วยงานรัฐที่ไม่มีน้ำยา
ไถสีข้างกันไปวันๆ”
มิใยที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษจะพยายามแก้ต่างว่า
ดัชนีการวัดค่าคุณภาพอากาศ หรือ ‘เอคิวไอ’
ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เช่นอัตราฝุ่นละอองขนาดจ้อย (ไม่เกิน
๒.๕ ไมครอน) ในสหรัฐใช้มาตรฐาน ๓๕ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายใน ๒๔ ชั่วโมง เป็นขีดอันตราย
(สีแดง)
ขณะที่ไทยใช้มาตรฐาน ๕๐ มคก./ลบม. ภายใน
๒๔ ชั่วโมง ถึงจะถือว่าเป็นขีดอันตราย ทำให้นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อ้างว่า “ยังไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้”
สมแล้วที่นายธาราบอกว่าเอาสีข้างถูไถ
ในเมื่อกรีนพีชซึ่งมีหน่วยงานอยู่ทั่วโลกใช้ดัชนีวัดค่าแบบสหรัฐ ย่อมแสดงว่าเป็นมาตรฐานสากลที่ประเทศไทยควรจะคล้อยตาม
แม้นว่าคุณภาพอากาศจะไม่อาจเหมือนกันได้หมดทั่วโลก
ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ แต่มาตรฐานวัดก็ควรที่จะเทียบเคียงกันได้ ประดุจดังปรอทวัดอุณหภูมิมีจุดเยือกอยู่ที่
๐ องศาเซลเซียส กับ ๒๒ องสาฟาเรนไฮ้ท์
ทั้งที่ตัวเลขไม่เหมือนกัน แต่จุดเยือกอยู่ที่เดียวกัน
ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าคุณภาพอากาศเกิน ๓๕ ตามมาตรของกรีนพี้ช ย่อมเกิน ๕๐
ตามมาตรวัดของไทย ความต่างของตัวเลขไม่ได้เปลี่ยนความจริงในคุณภาพอากาศว่าแย่มากเกินไปได้