วันพุธ, กุมภาพันธ์ 21, 2561

มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน : สารถึงหัวหน้า คสช. กรณีการเรียกร้องการเลือกตั้งของนักศึกษาและประชาชน จาก เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.





สารถึงหัวหน้า คสช. กรณีการเรียกร้องการเลือกตั้งของนักศึกษาและประชาชน

ตามที่ท่านได้แสดงความกังวลต่อการที่นักศึกษาและประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา ว่าเป็นความต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศโดยยึดหลักการต่างประเทศซึ่งจะก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมกับฝากมายังอาจารย์ให้ยุติการสนับสนุนการเคลื่อนไหวและการสั่งสอนนักศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการที่ยึดมั่นในหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค รวมทั้งประชาธิปไตย เห็นว่าความกังวลของท่านมีความคลาดเคลื่อนต่อการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาและคำฝากของท่านวางอยู่บนความไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของนักวิชาการที่มีต่อทั้งนักศึกษาและสังคม กล่าวในส่วนของความกังวลต่อสถานการณ์ การแสดงออกของนักศึกษาและประชาชนเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นการยึดหลักการต่างประเทศที่ไม่มีรากฐานทางการเมืองและกฎหมาย ความสูญเสียจะเกิดขึ้นก็แต่เฉพาะผู้มีอำนาจรัฐหรือ คสช. ปฏิเสธว่าประเทศนี้ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเป็นเพียงกระดาษที่ไร้ความหมาย

ขณะเดียวกันการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษามิได้เป็นเพียงการถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป หากแต่เป็นการกระตุ้นและสนับสนุนให้นักศึกษาได้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองด้วยวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะในชั้นเรียน หากแต่ยังรวมถึงสภาพความเป็นจริงของชีวิตและสังคม ฝึกฝนให้พวกเขาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และหาแนวทางคลี่คลายประเด็นปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งไม่ได้มีแต่เรื่องส่วนตัวหรือความสำเร็จในอาชีพการงาน หากแต่หมายรวมถึงประโยชน์ของสังคมหรือประเทศอย่างสำคัญ การที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่ออนาคตของพวกเขาและคนร่วมสังคม จึงอยู่ในครรลองของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาดังที่ว่านี้

นอกจากนี้ นักวิชาการมีพันธกรณีในการผลิตความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งความรู้ความเข้าใจแบบไหนจะเป็นเพียงแค่ความก้าวหน้าของสาขาวิชา มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา หรือว่าสามารถก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าความรู้ความเข้าใจนั้นวางอยู่บนปัญหาและสภาพความจริงเพียงใด และได้รับการหยิบใช้ในการเผชิญปัญหาเพียงไหน การที่นักวิชาการชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่สังคมไทยในปัจจุบันกำลังประสบอยู่คืออะไร ยึดโยงอยู่กับบริบท เงื่อนไข และปัจจัยไหน ทางออกที่ถูกที่ควรคืออะไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่ปล่อยให้ความรู้ความเข้าใจอยู่นิ่งอย่างเฉื่อยชา หากแต่พาเข้าไปสู่สาธารณะหรือว่าใจกลางของปัญหา จึงเป็นการทำให้วิชาการมีความเกี่ยวพันกับการแก้ปัญหาสังคมยื่งขึ้น การที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งสนับสนุนหรือออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับนักศึกษาและประชาชนในการเรียกร้องความถูกต้องและประชาธิปไตยจึงเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่นักวิชาการมีต่อสังคมดังที่ว่านี้

สุดท้ายนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จึงอยากเรียนกลับไปยังหัวหน้า คสช. ให้ทบทวนความเข้าใจที่ท่านมีต่อนักศึกษาและนักวิชาการเสียใหม่ เพื่อจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่พวกเราดำเนินการมามิได้ผิดเพี้ยนไปจากปรัชญาและวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษาที่มีต่อสังคมแต่อย่างใด เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
20 กุมภาพันธ์ 2561

เครดิตภาพจากมติชนออนไลน์
https://www.matichon.co.th/news/848169