วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 26, 2561

ข้อคิดแย้งฮ้าร์คอร์ ทำไมต้องเอาเลือกตั้ง กับทางเลือกใหม่ ‘ที่ดีกว่าเดิม’

น่าจะเป็นที่ยอมรับกันถ้วนหน้าในฟากประชาธิปไตยว่า การเคลื่อนไหว หรือ ‘movement’ ของคนรุ่นใหม่ในนาม คนอยากเลือกตั้ง ปีนี้นั้น เริ่มแตกกระเส็นเป็นดอกไม้ไฟ จุดประกายให้กับการสกัดกั้น คสช. ยื้อยึดอำนาจต่อไป ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

แม้นว่าจะมีกลุ่มที่เรียกตนเอง (หรือใครต่อใครตั้งชื่อให้) ว่า เสื้อแดง ฮ้าร์ดคอร์ หรือ แก่นแข็งพยายามทัดทาน “ประมาณว่าเลือกตั้งแล้วไง” ถึงชนะเลือกตั้งก็ยังมี สว.ลากตั้งค้ำคออยู่ คสช. ก็ยังครองอำนาจต่อไป ซ้ำอาจเป็นนายกฯ คนนอกด้วยซ้ำ

ผู้ใช้นาม Baramee Chaiyarat พูดแทนไว้บนเฟชบุ๊คว่า “เลือกตั้งแล้วก็กวาดล้างเผด็จการ และสร้างสรรประชาธิปไตยไง” เขาย้ำ “โดยเนื้อหาคือต้องโค่นล้มขับไล่ คสช.ได้

และถ้าไล่ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประชาธิปไตยในทันที การเสนอคำว่า ประชาธิปไตยจงเจริญ ก็เป็นการเล่นคำอีกว่า ต้องร่วมกันสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา”

เขาคงหมายถึงการ สร้าง สิ่งที่สมบูรณ์ถูกต้องมากยิ่งกว่า ประชาธิปไตยไทยๆ แบบที่เคยมีมา “กลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ไม่ได้คาดหวังแค่คนเสื้อแดง ยังคาดหวังคนกลุ่มอื่นด้วย ยังคาดหวังคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้ใส่เสื้อด้วย และก็ไม่ได้มองว่าจะต้องได้ชัยชนะในการชุมนุมครั้งเดียวสองครั้งด้วย”


มันสะท้อนไปถึงความคิดเห็นของคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ ที่สอดประสานไปได้อย่างดีกับประกายไฟพะเนียงที่คนรุ่นใหม่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ‘DRG’ พากันจุดขึ้นมา ในที่นี้ใคร่เอ่ยถึงสองท่าน

หมอเลี้ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้ข้อคิดไว้ว่า คนหนุ่มสาวควรตั้งพรรคการเมือง ใหม่ของตนขึ้นมา โดยการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ “เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่อนาคตที่พวกเขาใฝ่ฝัน”

หมอเลี้ยบยกตัวอย่างการก่อเกิดในลักษณะเดียวกับพรรคไทยรักไทย ที่ “เปลี่ยนการเมืองไทยและสังคมไทยในทศวรรษ ๒๕๔๐ โดยสิ้นเชิง” แต่ไม่ใช่ให้พรรคไทยรักไทยเมื่อปี ๒๕๔๔ กลับมาเสนอตัวรับเลือกตั้งในปี ๖๑ หรือ ๖๒ ใหม่

“เพราะระบบนิเวศของสังคมเมื่อเกือบ ๒๐ ปีที่แล้วกับปัจจุบันนี้แตกต่างกันมาก” เนื่องจาก “คนหนุ่มสาววันนี้รับแรงกดดันจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส

ความบีบคั้นจากการแข่งขันและเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, Blockchain, IOT, EV ฯลฯ กำลังรื้อถอนสิ่งที่เขาเคยชินอย่างดุดันด้วยความเร็วแบบยกกำลัง ส่งผลให้เขาเหล่านั้นเรียกร้องหาพรรคการเมืองที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ ซึ่งแน่นอน...พรรคไทยรักไทยยุค ๒๕๔๔ ทำไม่ได้”

หมอเลี้ยบยังแนะอีกว่า “พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองอื่นๆ ที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศในการเลือกตั้งครั้งหน้า จึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรับความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแค่การซ่อม (Fix), ปรับปรุง (Renovate) หรือใหญ่ขนาด รื้อถอน (Disrupt) ก็ตาม”
หมอเลี้ยบยกเอาคำของ อจ.ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเสนอไว้เป็นข้อคิด เช่น “การเมืองเป็นเรื่องของเรา หากเราไม่ทำคนอื่นก็จะเข้ามาทำ” แน่ๆ

“หากเราต้องการให้การเมืองเป็นแบบใด เราต้องลงมือทำเอง เราต้องสร้าง ทางเลือกใหม่ ให้สำเร็จให้จงได้ ทางเลือกใหม่อาจไม่ชนะในวันนี้ แต่อย่างน้อยต้องทำให้ผู้คนมี ความหวัง กับการเมือง...

การเมืองแบบใหม่ ประชาชนสร้างได้”


ขณะที่ ดร.ปิยบุตรเองก็ได้เขียนเอาไว้หลายครั้งเกี่ยวกับความหวังที่คนรุ่นใหม่จะสร้างการเมืองทันสมัย ตอบสนองความต้องการของคนหนุ่มสาวเวลานี้ และปูรากฐานให้กับการปกครองในศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ อันเป็นสากล ซึ่งเคารพในสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนเป็นเอกอุ

อย่างเช่นประเด็นที่ว่า ความสำคัญของการตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ใหม่ อยู่ที่การสร้าง ทางเลือก ให้กับสังคมได้รับรู้ว่ามีทางเลือกใหม่ ที่ดีกว่าเดิม ในขณะที่นอกจากจะเสนอทางเลือกใหม่แล้ว “พวกเขายังสามารถอธิบายได้ว่า หากยังเลือกทางเลือกแบบเดิมๆ อะไรจะเกิดขึ้นตามมา”

นั่นเป็นส่วนที่ ดร.ปิยบุตรเอ่ยถึงคำของ Íñigo Errejón นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวสเปน รองหัวหน้าพรรคโพเดโมสฝ่ายซ้าย ได้กล่าวไว้ระหว่างร่วมเสวนาที่อาร์เจ็นติน่าเมื่อสิงหาคม ๒๕๖๐ ว่า
 
“การแพ้การเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติอย่าไปกังวล แน่นอนเมื่อเราตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาก็หวังว่าจะชนะเลือกตั้ง เพื่อผลักดันความคิดและนโยบายให้สำเร็จ

แต่ถ้าหากแพ้การเลือกตั้ง ก็ไม่ต้องท้อถอย การแพ้การเลือกตั้งไม่ใช่การแพ้สงครามทางการเมือง ตรงกันข้าม มันทำให้เรารู้ว่าเรายังขาดประชาชนมาสนับสนุนอีกเท่าไร เพื่อที่จะลงมือทำงานหนักต่อไป”


และที่น่าใส่ใจยิ่งกว่านั้นเป็นตอนที่กล่าวถึงข้อผิดพลาดของฝ่ายซ้ายดั้งเดิม (พอจะเทียบเคียงกับพวกฮ้าร์ดคอร์ ได้ไหม) ก็คือ ชวนฝันเรื่องปฏิวัติทุกวันทุกเวลา” หมายถึงผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางความคิดในการเปลี่ยนแปลงประเทศ

“แต่ต้องยอมรับว่า ประชาชนคนทั่วไปไม่มีใครฝันถึงปฏิวัติทุกวัน ประชาชนคนทั่วไปต่างหาเช้ากินค่ำ ต้องดำเนินชีิวิตประจำวัน หากฝ่ายซ้ายดั้งเดิมพูดแต่ ปฏิวัติๆๆๆ คงไม่สามารถเอาชนะใจคนได้”

หลักคิดและอุดมการณ์จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการกระทำ เช่นเดียวกับประชาธิปไตยที่กินได้ นั่นคือ “เราต้องลงไปทำงานกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง วาดฝันอนาคตใหม่ ชี้ชวนให้เขาเห็นถึงอันตรายผลร้ายที่จะเกิดขึ้นหากให้พรรคเดิมครองอำนาจ”

ดังที่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ชลธิชา แจ้งเร็ว กาณฑ์ พงษ์ประพันธ์ ณัฏฐา มหัทธนา สกฤษณ์ เพียรสุวรรณ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ รังสิมันต์ โรม และอีกหลายๆ คน กำลังทำกันอยู่