วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 18, 2561

‘อยากเลือกตั้ง’ ดันต่อ ประกาศชุมนุมไม่หยุดถึง ๒๒ พ.ค. "จนกว่าประชาชนจะได้อำนาจคืนมา"

คน อยากเลือกตั้ง ไม่ยั่น คสช. ดันต่อนัดชุมนุมไม่หยุดจนถึง ๒๒ พ.ค. เพราะ “วันนี้คนไทยพร้อมเลือกตั้งแล้ว แต่คนที่ไม่พร้อมคือ (มีแต่) คสช.” เท่านั้น

รังสิมันต์ โรม กับเพื่อนพ้องตั้งโต๊ะแถลง โร้ดแม็พ ฝ่ายประชาชนบ้าง ที่ท่าพระจันทร์เมื่อเช้าวานนี้ (๑๗ ก.พ.) ว่า “การชุมนุมสำคัญ เพราะเป็นช่องทางแสดงออกของประชาชน ในยามที่สังคมไม่มีช่องทางอื่น เช่น ฝ่ายค้านในสภาก็ไม่มี เสรีภาพสื่อก็ไม่มี”

ทั้งนี้สองกลุ่มผู้จัดคือ DRG และ START UP PEOPLE หรือกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยและประชาชนริเริ่มใหม่ วางกำหนดการไว้ตั้งแต่วันที่ ๑๘ นี้ไปเลยเดือนละครั้ง (ยกเว้นเดือนเมษายน) จนกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม นัดชุมนุมทุกวันเสาร์ แล้วไปไฮไล้ท์ชุมนุมใหญ่ ๑๙-๒๒ พ.ค. เพื่อประจานครบรอบสี่ปีทหารยึดอำนาจ
ถึงแม้โฆษก คสช. พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ จะอ้างว่า “เรากำลังดำเนินการไปสู่การเลือกตั้งอยู่แล้ว เพียงแต่รายละเอียดการปฏิบัติต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง” และ “ว่า คสช.ต้องการให้ช่วงรอยต่อที่จะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย” นั้น

น่าจะเป็นการสอพลอ ถ่วงเวลายืดเยื้อ “จุดยืนเราคือหยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ และเลือกตั้งในปีนี้เท่านั้น” นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำอีกคนหนึ่งของกลุ่มกล่าวถึงการยืนหยัดเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้มาซึ่งการเลือกตั้งแน่ๆ

“เพื่อกำหนดทิศทางความเป็นไปของประเทศชาติ ดีกว่าให้ใครไม่รู้ที่ไม่ฟังเสียงประชาชนทำหน้าที่ต่อไป เราเพียงใช้พื้นที่แสดงออกในสิทธิที่ประชาชนพึงมี” และสิทธิเหล่านี้ได้ถูก คสช. นั่นเองละเมิดไปแล้ว

จากการที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ คณะทำงานด้านกฎหมายของ คสช. ได้แจ้งความไว้ต่อ สน.นางเลิ้ง ว่า ๗ แกนนำกลุ่มอยากเลือกตั้งยุยงปลุกระดม ตามความผิด ม.๑๑๖ และผู้เข้าร่วมชุมนุมอีก ๔๓ คน ในข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ ๓/๒๕๕๘

ทั้งปรากฏว่าการแจ้งความของ พ.อ.บุรินทร์ กระทำอย่างมั่วซั่ว สุกเอาเผากิน โดยเฉพาะในรายชื่อผู้ร่วมชุมนุม ๔๓ คนนั้น เป็นที่น่าสังเกตุอย่างยิ่งว่ามีบุคคลในรายชื่อหลายรายไม่ได้ไปชุมนุม หรืออาจไม่ได้ไปร่วมชุมนุม รวมทั้งมีชื่อบางคนหายไปจากต้นฉบับคำร้องเดิม และเพิ่มรายชื่อใครคนหนึ่งให้จำนวนครบ ๔๓
ที่แน่นอนก็คือนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ พ่อน้องเฌอโฑสต์ข้อความทางเฟชบุ๊คว่าตนเองไม่ได้ไปร่วมชุมนุมทำไมมีชื่อ ขณะที่ อนุสรณ์ อุณโณ นักวิชาการ มธ. โพสต์ว่า “ไม่คิดว่าลำพังแต่เพียงร่วมฟังการปราศรัยท่ามกลางคนนับพันจะมีความผิดได้

“ไม่ว่าจะทำอะไรต่อไปนี้ก็สามารถถูกตั้งข้อหาได้ทั้งนั้น แต่มานึกดูอีกทีก็ดีเหมือนกันที่ช่วยให้ตระหนักว่าเผด็จการนั้นไร้เหตุผล ไร้ยางอาย ไม่มีศักดิ์ศรี ขี้ขลาด และก็อำมหิตเลือดเย็นกว่าที่เราเคยคิดไว้นัก”

เช่นเดียวกับกรณีของนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา หรือ พ่อไผ่ ดาวดิน กับน.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ หรือ แม่จ่านิว และ ดา ตอร์ปิโดหรือดารนี ชาญเชิงศิลปกุล ซึ่งอาจจะได้ไปร่วมหรือไม่ไปร่วมแต่เพียงไปชมหรือชื่นชม ก็ถูกกล่าวหาความผิดเสียแล้ว

ส่วนกรณีนายภาวัต ผ่องใส เจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวกรองแห่งชาติที่อาจไปร่วมเพื่อสังเกตุการณ์ตามหน้าที่การข่าว หรือไปเป็นส่วนตัว ที่ปรากฏชื่อในหนังสือแจ้งความฉบับแรก ต่อมาชื่อหายไปโดยมีชื่อใครคนหนึ่งมาแทนที่ให้เต็มจำนวน ๔๓ คน ที่มีการวิจารณ์ว่าแสดงถึงการตั้งข้อหาแก่ประชาชนอย่างมั่วซั่วของ คสช.

ทางด้านน.ส.ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำอีกคนของกลุ่มฯ อ้างถึง “แถลงการณ์ของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า การปราศรัยในการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนไม่ได้สร้างความปั่นป่วนให้กระด้างกระเดื่อง อีกทั้งเป็นการชุมนุมตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ”

อีกทั้งขณะนี้ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว คสช. ยังเอาคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารมาใช้บังคับในทางขัดแย้งเหนือรัฐธรรมนูญอยู่อีก

“กฎหมายต้องเป็นไปเพื่อเจ้าของอำนาจหรือประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็รับรองการชุมนุมโดยสงบไว้ ถ้าใครออกกฎหมายตามอำเภอใจแล้วบอกว่าละเมิดสิทธินั้น สังคมก็ควรตั้งคำถาม” น.ส.ณัฏฐา หรือ โบว์ กล่าว

(http://www.bbc.com/thai/thailand-43095206?SThisFB, https://www.prachachat.net/politics/news-118670 และ https://www.khaosod.co.th/politics/news_755948)