วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 20, 2561

ธปท.ปัดตั้งเซเว่นฯ เป็นแบงก์ - ไฟเขียวแบงก์กิ้งเอเยนต์เปิดบริการ 'ถอนเงิน' มี.ค. ย้ำธนาคารพาณิชย์แต่งตั้ง 'แบงก์กิ้ง เอเยนต์' ต้องรับผิดชอบเสมือนทำเอง





ธปท.ปัดตั้งเซเว่นฯ เป็นแบงก์ - ไฟเขียวแบงก์กิ้งเอเยนต์เปิดบริการ 'ถอนเงิน' มี.ค.


Feb 19, 2018
ที่มา Voice TV


แบงก์ชาติเคลียร์ใจชี้โลกโซเซียลแชร์ภาพเซเว่น-อีเลฟเว่นให้บริการเหมือนแบงก์ เป็นภาพจากญี่ปุ่น แจงปัจจุบันแบงก์ไทยสามารถแต่งตั้ง 'ตัวแทน' หรือ 'แบงก์กิ้ง เอเยนต์' ให้บริการรับฝากเงิน-ชำระเงิน-จ่ายบิล เท่านั้น ส่วน 'การถอนเงิน' ให้รอประกาศฉบับใหม่ คาดได้ใช้ภายในเดือน มี.ค. นี้



นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า ตามที่มีการแชร์ในโลกโซเชียลว่าร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่นได้รับใบอนุญาตให้เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่นั้น ไม่เป็นความจริง และภาพเซเว่นแบงก์ที่ปรากฎในสื่อต่างๆ เป็นร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ธปท. ยืนยันว่า ยังไม่มีนโยบายอนุมัติใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เพื่อการให้บริการประชาชนสะดวกและทั่วถึง ธปท.ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนธนาคารพาณิชย์ หรือ แบงก์กิ้ง เอเยนต์ เพื่อทำหน้าที่แทนธนาคารพาณิชย์ได้ในบางธุรกรรม คือ รับฝากเงิน รับชำระเงิน จ่ายบิล

โดยที่ผ่านมา ได้มีการอนุญาตให้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 และปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง แต่งตั้งแบงก์กิ้งเอเยนต์ รวมถึงผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนท์) และผู้ให้บริการรับชำระบิลค่าสินค้า สาธารณูปโภค เช่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซี เป็นต้น

ขณะที่ มีแบงก์กิ้งเอเยนต์ 5 ราย คือ ตู้บุญเติม ตู้เติมสบาย เคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในร้านสะดวกซื้อ 'เซเว่น-อีเลฟเว่น' และแอปพลิเคชัน 'แอร์เพย์' รวมทั้งไปรษณีย์ไทยซึ่งเป็นแบงก์กิ้งเอเยนต์ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถรับฝากและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้

อีกด้านหนึ่ง ธปท.ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคาพาณิชย์ เพื่อเพิ่มการบริการของตัวแทนธนาคารให้สามารถให้บริการถอนเงินแก่ลูกค้าได้ ซึ่งคาดว่าจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน มี.ค. นี้

ทั้งนี้ ตามเกณฑ์ใหม่ที่จะกำลังจะประกาศนั้น กำหนดให้แบงก์กิ้ง เอเยนต์ให้บริการถอนเงินไม่เกินรายละ 5,000 บาทต่อรายการ และไม่เกินรายละ 20,000 บาทต่อวัน โดยธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องขออนุญาตในการตั้งแบงก์กิ้งเอเยนต์จาก ธปท.แล้ว ยกเว้นกรณีการตั้งบุคคลธรรมดา เช่น ร้านค้าชุมชนให้มาขออนุญาตเป็นรายกรณี

"แบงก์กิ้งเอเยนต์เกิดนานแล้วตั้งแต่ปี 2553 เช่น ธนาคารกสิกรไทย แต่งตั้งเคาน์เตอร์เซอร์วิสให้เป็นผู้ดำเนินการแทนธนาคารในพื้นที่ต่างจังหวัด กรณีมีลูกค้าโอนเงินสามารถไปรับเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้าที่อยู่พื้นที่ห่างไกล หรือธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยแต่งตั้งไปรษณีย์ไทยเป็นผู้รับฝากเงิน เป็นต้น ในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย บังกลาเทศ และอินเดีย ก็ทำลักษณะเดียวกัน" นายสมบูรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ธปท.ยังระบุว่า ผู้ทำหน้าที่แบงก์กิ้งเอเยนต์นั้นเป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยธนาคารพาณิชย์เพื่อให้บริการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ธนาคารพาณิชย์ผู้แต่งตั้งกำหนด และการดำเนินการต่างๆ ยังเป็นความรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์ เสมือนเป็นผู้ให้บริการเอง และแบงก์กิ้งเอเยนต์ไม่ใช่สถาบันการเงิน ไม่ต้องรับใบอนุญาตใหม่จาก ธปท.

ขณะที่ ผู้ทำหน้าที่แบงก์กิ้งเอเยนต์ของธนาคารพาณิชย์ ต้องมีหลักแหล่งให้บริการชัดเจน ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์การให้บริการ และต้องมีกรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างพิทักษ์ทรัพย์ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น

ย้ำธนาคารพาณิชย์แต่งตั้ง 'แบงก์กิ้ง เอเยนต์' ต้องรับผิดชอบเสมือนทำเอง

นางสาวเมทินี ศุภสวัสดิกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ยืนยันว่า การที่ธนาคารพาณิชย์จะแต่งตั้งแบงก์กิ้งเอเยนต์ต้องมีการดูแลอย่างเข้มข้น โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่มีหลักแหล่งเชื่อถือได้ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือมีคดีทางอาญาและฉ้อโกง การแต่งตั้งตัวแทนต้องพิจารณาตามความเหมาะสม มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบการกระทำของตัวแทน ซึ่งต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดของแบงก์กิ้งเอเยนต์ต่อสาธารณะ รวมทั้งค่าธรรมเนียมที่ประชาชนจะต้องจ่ายให้กับแบงก์กิ้งเอเยนต์ เพื่อเป็นทางเลือกกับประชาชนในการตัดสินใจ

'บุญเติม' ไร้กังวลคู่แข่งเพิ่ม ชี้มีตู้เติมเงินให้บริการโอนเงินกว่า 1.4 แสนเครื่อง

ด้านนายสมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ผู้ให้บริการ 'ตู้บุญเติม' ให้ความเห็นว่า หากร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น จะได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารพาณิชย์ให้บริการทางการเงิน ก็คิดว่า จะไม่กระทบกับธุรกิจของบริษัท เพราะกลุ่มลูกค้าของบริษัท คือผู้ใช้บริการโอนเงินครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีจุดตั้งตู้เพื่อให้บริการแล้ว 144,653 ตู้ เป็นตู้ที่ตั้งหน้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นราว 8,000 ตู้ ส่วนที่เหลืออยู่ในชุมชนต่างๆ ซึ่งเข้าถึงง่าย ค่าบริการไม่สูง

นอกจากนี้ ภายในครึ่งแรกของปี 2561 นี้ บริษัทยังเตรียมเปิดให้บริการโอนเงินผ่านตู้ของ ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จากเดิมที่มีให้บริการอยู่แล้ว 2 ธนาคารคือ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย

"เราไม่ได้กังวลกับเรื่องดังกล่าว เพราะเราเปิดให้บริการมากก่อน เรามีการเจรจากับธนาคารต่าง ๆ เกือบครบแล้ว และยังมีค่าบริการที่ไม่สูงนัก ประกอบกับบริษัทเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในกลุ่มคนที่แตกต่างกัน จึงเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน" นายสมชัย กล่าว

...

ชวนอ่านต่อ...

ใครได้อะไร หาก 'เซเว่น' กลายเป็น 'ตัวแทนธนาคาร'
(http://www.bbc.com/thai/thailand-43110753)