กรุงเทพฯ เมืองที่ทำฟุตปาธใหม่ทุกปี แต่เราเป็น walking society ได้จริงๆ ไหม
Ekasart Sappachang | Feb 19, 2018
Web 101
ตั้งแต่ผมย้ายมาอยู่แถวย่านศรีนครินทร์ราวสองสามปีก่อน ครั้งนี้น่าจะเป็นหนที่สองหรือสามแล้วที่ฟุตบาธแถวบ้านถูกรื้อทำใหม่ ฟุตปาธที่รื้อนี่ก็แทบไม่มีคนเดินอยู่แล้วที่มั่นใจเพราะแถวๆ นั้นไม่ได้ใกล้แหล่งชุมชน ไม่มีอาคารบ้านเรือนหนาแน่น ฟุตปาธเหมือนทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนที่เอาไว้คลุมท่อระบายน้ำมากกว่า
สงสารก็แต่ต้นแพงพวยต้นหนึ่งที่ผมมองประจำตอนรถติด มันแยงต้นขึ้นมาระหว่างร่องคอนกรีต ดอกร่วงดอกบานไปแล้วหลายหนยังไม่โดนพนักงานกทม. มาถอน (ซึ่งปกติเห็นอะไรเป็นต้องตัดเป็นถอน) เลยสงสัยว่ารื้อแล้วทำใหม่เพื่ออะไร เหตุผลคืออะไรที่กทม. ตัดสินใจรื้อ ทำท่อระบายน้ำใหม่ก็ไม่น่าใช่ เพราะเห็นลอกแต่ผิวหน้าออกไม่ได้ขุดลงจนถึงท่อ แผ่นคอนกรีตเก่าก็ยังสภาพดี มันก็แค่เก่าเท่านั้น
ผมโพสต์เรื่องนี้บนเฟซบุ๊กเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น พี่สาวท่านหนึ่งแชร์ประสบการณ์คล้ายกัน บอกว่าในซอยบ้านแกก็โดนแบบนี้ เดิมซอยบ้านของเธอเป็นถนนคอนกรีตอย่างดี อยู่มาวันหนึ่งเขตก็เอายางมะตอยมาราดจากถนนคอนกรีตกลายเป็นถนนราดยางมะตอยแถมราดทับต้นไม้ดอกไม้ริมรั้วที่ปลูกอยู่ของแกด้วย เลยโทรไปถามฝ่ายโยธาของเขตว่าจะมาราดยางมะตอยทำไมของเดิมดีอยู่แล้ว คำตอบคือเขตได้งบประมาณของปีนี้มาต้องใช้ ถ้าไม่ใช้ปีหน้าจะไม่ได้อีกและวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดก็คือใช้วิธีที่มักง่ายที่สุด
กรุงเทพฯ เลยไม่เคยสวยจริงๆ เพราะก่อสร้างแบบไม่จบไม่สิ้นสักที สำหรับผมแล้วนี่เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนว่าผู้มีอำนาจไม่มีทักษะทางสังคมและวัฒนธรรมมากเท่าไหร่
ยกตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ อย่างการจัดระเบียบทางเท้าของรัฐบาลคสช. ที่ต้องการให้กรุงเทพฯ มีทางเท้าโล่งๆ สวยๆ เหมาะกับการเดินของพลเมือง การปรับปรุงทางเท้าหนนี้มีพ่อค้าแม่ค้าได้รับผลกระทบราว 17,000 แผงแต่หากคิดถึงคนที่เกี่ยวพันกับห่วงโซ่เศรษฐกิจริมถนนอาจมีคนได้รับผลกระทบมากกว่านี้มาก
แน่นอนรัฐบาลเตรียมการเยียวยาไว้แล้วแต่ผมคิดว่าการเยียวยาของรัฐบาลไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องบริบททางวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่เน้นแก้ปัญหาเท่าที่ตาเห็นเท่านั้น
เรื่องการสร้างวัฒนธรรมการเดินนี่จริงๆ เรื่องใหญ่นะครับ หากไปอ่านดูงานที่ศึกษาเรื่องการสร้างสังคมแห่งการเดินในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือในยุโรป มีการศึกษาอย่างเข้มข้นว่าอะไรบ้างที่เป็นแรงจูงใจให้คนเราออกเดินจากบ้าน เขาจ้างนักมานุษยวิทยาและนักวางผังเมืองมาคุ้ยกันเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อเข้าใจถึงรูปแบบการเดินของคนยุคปัจจุบันเปรียบเทียบกับการเดินของคนในยุคก่อนว่าจุดประสงค์ของคนยุคนี้ที่เขาออกเดินนั้นแตกต่างจากคนยุคก่อนอย่างไรและเพราะอะไร ผังเมืองส่งผลกระทบอย่างไรต่อการเดินของคนที่อาศัยอยู่บ้าง
สิ่งที่ได้จากการศึกษาก็น่าสนใจนะครับ เขาได้ข้อสรุปว่าการที่คนยุคนี้ออกเดินจุดประสงค์ไม่ได้แตกต่างจากคนในยุคเมื่อสักหลายพันปีก่อนมากนัก
สมัยก่อนเราออกเดินเพื่อออกจากที่พักอาศัยเพื่อล่าสัตว์และหาอาหาร (hunting and gathering) ต่อมาเมื่อเมืองขยายตัวขึ้น กิจกรรมการเดินก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิมคือยังคงเป็นเรื่องปากท้องเป็นหลัก รองลงมาเป็นเพื่อกิจกรรมการเข้าสังคม
สมัยก่อนโน้นลักษณะชุมชนเอื้อให้การเดินเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ละชุมชนจะมีทุกอย่างอยู่ใกล้ๆ อาศัยกันอยู่เป็นแคลน (clan) หรือกลุ่มเครือญาติ ศูนย์กลางของชุมชนอาจเป็นสถานที่ทางจิตวิญญาณ ไม่ก็พื้นที่ส่วนกลางที่คนสามารถแลกเปลี่ยนสิ่งของกันได้ เช่น ท่าน้ำ เป็นต้น ของไทยเราก็ไม่ต่างกันครับ ตอนผนเด็กๆ จำได้ว่ารูปแบบยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากนี้มากเหมือนกันนะ ศูนย์กลางของหมู่บ้านมีแค่ วัด โรงเรียน ตลาด จนเมื่อเราต้องย้ายไปเรียนหนังสือในเมือง นั่นเป็นจุดเปลี่ยนไม่ใช่แค่ของหมู่บ้านผมแต่เป็นของโลก การขายตัวของเมืองเป็นตัวแปรสำคัญ แต่น่าเสียดายที่เมืองที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นเมืองแบบถูกตัดตอน การพัฒนาแบบที่เข้าใจความต้องการของพลเมืองนั้นไม่มี การแก้ปัญหาก็เลยยากไปด้วย ไม่เว้นแต่หัวข้อที่ดูง่ายมากเช่นเรื่องการเดิน
ปัจจุบันเมืองส่วนมากเมืองที่เดินสบายคือเมืองที่ออกแบบให้เหมือนกับชุมชนสมัยก่อน หรือยังสืบทอดเอกลัษณ์ของเมืองสมัยก่อนไว้ได้ มีธุรกิจชุมชนที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน มีกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม พูดง่ายๆ คือการโซนนิ่งเมืองไว้อย่างดี รูปแบบเช่นนี้เอื้อให้เกิดการเดินขึ้น
ตัวอย่างที่ดีที่สุดของความใส่ใจเรื่องการเดินคงไม่มีที่ไหนที่ให้ความสำคัญเท่ากับ “สวนสนุก”
ดีสนีย์แลนด์ศึกษารูปแบบการเดินของมนุษย์เพื่อให้เข้าใจความต้องการของคนที่เข้ามาใช้บริการว่าต้องการอะไร ดีสนีย์นำเอาทฤษฎีการเดินที่เรียกว่า Lévy flight ของนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Paul Lévy มาช่วยใช้ในการหารูปแบบการเดินและการออกแบบ การสร้างสวนสนุกเพื่อสร้างจุดสนใจให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการเดินของมนุษย์มากที่สุด ฉะนั้นการตั้งซุ้มน้ำ ร้านของเล่น ผังการเดินในการวางเครื่องเล่นและการเข้าแถวต่อคิวต่างๆ ถูก “ออกแบบ” มาหมดแล้วเพื่อให้การเดิน การรอ การหยุดพักสามารถลดความเหนื่อยหน่ายได้ประมาณหนึ่ง หลักการนี้ว่ากันว่าเป็นหลักการเดียวกันกับที่สิงคโปร์พยายามใช้ในการออกแบบผังเมืองให้พลเมือง
กลับมาดูที่กรุงเทพฯ ครับ
ผมคิดเอาเองว่ารัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมาไม่ได้มีหลักการทางสังคมศาสตร์หรือมานุษยวิทยาหรือคณิตศาสตร์ใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็ไม่โทษกัน (ก็ได้) เพราะเราไม่ได้มีการวางแผนเรื่องการเติบโตของเมืองมาก่อน (หรือการเติบโตใดๆ) และแม้เราจะมีองค์ความรู้ในปัจจุบันแล้วแต่ไม่ได้หมายถึงว่าชนชั้นปกครองจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ (นั่นสิ)
ทางแก้ปัญหานั้นอาจต้องเริ่มจากเรื่องง่ายๆ คือ “เขา” ต้องออกมาเดินบ้างเพื่อให้เข้าใจบริบทของการเดินของคนในแต่ละย่าน เข้าใจความสัมพันธ์ของแผงลอยกับลูกค้ากับคนเดินถนนคนหนึ่ง และอาจทำให้เข้าใจว่าการย้ายแผงลอยออกไป เพื่อทางเดินกว้างขึ้น ให้ดูสะอาดขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าการเดินนั้นจะมีความหมายมากขึ้นกลับกันมันอาจว่างเปล่าเสียจนเราไม่อยากเดิน
วัดกันง่ายๆ สมมติว่าผมใช้รถไฟฟ้าหลังเลิกงาน ผมลงจากรถเพื่อเดินเข้าคอนโดฯ ซึ่งห่างออกไปสัก 700 เมตร ระหว่างเดินกลับบ้านผมคงต้องซื้ออะไรเข้าไปกิน ผมอาจกินบะหมี่รถเข็น กินร้านส้มตำข้างทาง เข้าร้านสะดวกซื้อหรือนานๆ ทีก็เข้าห้างฯ แต่การย้ายแผงลอยออกไปมันทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเปลี่ยน ผู้เล่นที่ได้ประโยชน์ อาจไม่ใช่คนเดินเท้า แต่อาจเป็นกลุ่มทุนอย่างห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อที่คนคงเข้ามากขึ้นเพราะคนมีทางเลือกน้อยลง
สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นเรื่องของพลเมืองแต่เป็นเรื่องของชนชั้นปกครองที่ตัดสินใจเองทำเองเออเอง
ข้อมูลจาก goodwalk.org พบว่าในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ยังมีพื้นที่ที่เหมาะกับการเดินจริงๆ แค่ 11% เท่านั้น คนกรุงเทพฯ ยังเดินกันไม่มาก แม้ว่าการมาถึงของ BTS และ MRT จะทำให้คนกรุงเทพฯ เดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500 เมตรต่อปีก็ตามแต่เมื่อเทียบกับอเมริกา (5,700 ก้าวต่อวัน) ออสเตรเลียตะวันตก (9,695 ก้าวต่อวัน) สวิตเซอร์แลนด์ (9,650ก้าวต่อวัน) หรือญี่ปุ่น (7,168 ก้าวต่อวัน) ก็ยังถือว่าน้อยมาก และเอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่เคยมีการเก็บข้อมูลเรื่องการเดินอย่างเป็นรูปธรรม
ทางเดินของคนในกรุงเทพฯ ต่อให้สะอาดกว้างขวางแค่ไหนก็ไม่ได้สะท้อนถึงความเจริญหรือความอารยะใดๆ เลย
ตรงกันข้ามมันกลับเป็นชีวิตที่คับแคบและไร้ซึ่งทางเลือกมากกว่า