วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 17, 2561

Absolute Power Corrupts Absolutely (ใช่เลย...) หอค้าเปิดผลสำรวจคอร์รัปชั่นไทยแย่ลง รับเงินใต้โต๊ะพุ่งสูงสุดรอบ 3ปี เริ่มไม่แน่ใจ ป.ป.ช. จี้รัฐเร่งออกกฎหมาย เคลียร์ปม “ยืมนาฬิกา-เงิน เพื่อน”





หอค้าเปิดผลสำรวจคอร์รัปชั่นไทยแย่ลง รับเงินใต้โต๊ะพุ่งสูงสุดรอบ 3ปี!


15 กุมภาพันธ์ 2561
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ


หอค้าเปิดผลสำรวจคอร์รัปชั่นไทยแย่ลง รับเงินใต้โต๊ะพุ่งสูงสุดรอบ 3ปี เริ่มไม่แน่ใจ ป.ป.ช. จี้รัฐเร่งออกกฎหมาย เคลียร์ปม “ยืมนาฬิกา-เงิน เพื่อน”



นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (ซีเอสไอ) เดือนธันวาคม 2560 ซึ่งทำสำรวจทุกๆ 6 เดือน ครั้งนี้สำรวจ 2,400 ตัวอย่าง เมื่อเดือนธันวาคม 2560 พบว่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยโดยรวมอยู่ที่ระดับ 52 แย่ลงจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 53 ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 51 แย่ลงจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 52 และแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยอยู่ที่ระดับ 53 แย่ลงจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 54

นางเสาวณีย์ กล่าวว่า แยกดูรายละเอียดเทียบเดือนมิถุนายน 2560 พบว่าแย่ลงเกือบทุกตัว ได้แก่ ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ระดับ 42 จากระดับ 44 ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ระดับ 53 จากระดับ 54 ยกเว้นดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 62 จากเคยอยู่ที่ระดับ 60

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ความคิดเห็นและข้อเท็จจริงจากกลุ่มตัวอย่างที่มีประสบการณ์ด้วยตัวเองหรือจากคนรอบข้าง พบว่า มี 24% ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (เงินใต้โต๊ะ) แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริต เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งจ่าย 18% นับว่าเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ส่วนไม่จ่ายมี 54% ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งไม่จ่าย 59% อย่างไรก็ตามเปอร์เซ็นต์เงินเพิ่มพิเศษที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายแก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% ทรงตัวจากช่วงที่ผ่านมา คิดเป็นเงิน 6.62 หมื่นล้านบาท – 1.98 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2.29-6.86% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 0.41-1.23%





นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ความรุนแรงของการคอร์รัปชั่นในปัจจุบันและในอนาคต กลุ่มตัวอย่างมีความกังวลว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากจะมีโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐมากขึ้นที่จะมีการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของภาคเอกชน ประชาชน กับการต่อต้านคอร์รัปชั่นดีขึ้น สวนทางกับการทำงานขององค์กรอิสระและหน่วยงานราชการที่มีประสิทธิภาพต่อต้านคอร์รัปชั่นลดลง นอกจากนี้เริ่มเห็นสัญญาณการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้งาน ระดับ 20% และ 30-35% ของการใช้จ่ายงบประมาณเริ่มเกิดขึ้นด้วย

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง มองสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก ขาดกลไกการกำกับดูแลกิจการหรือตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ และความล่าช้าหรือยุ่งยากของขั้นตอนในการดำเนินการของทางราชการ โดยรูปแบบการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ได้แก่ การให้สินบนของกำนัลหรือรางวัลต่างๆ รองลงมาการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวกการทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเช่นกันหัวการประมูลและการจ่ายเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ในภายหลังตามลำดับ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มากกว่า 90% แสดงความเห็นทั้งไม่เห็นด้วยที่การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง, ไม่เห็นด้วย ที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นแต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้ และไม่เห็นด้วยในการให้สินน้ำใจเล็กๆน้อยๆแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย และความสามารถที่จะทานทนต่อการทุจริตคอรัปชั่นลดลง อยู่ที่ระดับคะแนน 2.03 จาก 2.23 ซึ่งยิ่งใกล้ 0 คะแนนคือไม่สามารถทนต่อการทุจริตคอรัปชั่นได้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับความเชื่อมั่นต่อการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นลดลง แต่ความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน รวมถึงภาคประชาชนในการช่วยต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกลับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้มีเรื่องสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการโดยด่วนที่สุดเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่น ได้แก่ เสริมสร้างจิตสำนึก จริยธรรม และค่านิยมความซื่อสัตย์ บังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดหรือมีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด และปรับปรุงกฎระเบียบในการประมูลลงานหรือการจัดซื้อจัดจ้างหรือสัมปทาน และตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง สำหรับกลยุทธ์แก้ไขการทุจริตคอร์รัปชั่นที่รัฐควรให้ความสำคัญลงมือทำเป็นอันดับแรก คือ สร้างกระบวนการหรือวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้โดยบุคคลภายนอก สร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต และจัดวางระบบหรือขั้นตอนในการทำงานของภาครัฐโดยรวม

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ที่จะจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ประจำปี 2560 ซึ่งจะประกาศในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ผลการจัดอันดับไทยจะออกมาบวกหรือลบ ยังไม่ทราบ แต่อยากให้อันดับของไทยดีขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนภาครัฐ ราชการ และความเป็นประชาธิปไตยลดลง จึงต้องติดตามประกาศผลจัดอันดับว่าส่วนไหนจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลมีการผลักดันกฎหมายที่ดูแลเรื่องผลประโยชน์ขัดกันหรือผลประโยชน์ทับซ้อนออกมา ซึ่งขณะนี้เป็นร่างพระราชบัญญัติอยู่ในขั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)อยู่ ซึ่งจะช่วยลดคอร์รัปชั่นของหน่วยงานราชการ บุคคลและนักการเมืองได้ รวมถึงจะสามารถสร้างความชัดเจนและตอบคำถามสิ่งที่เคยเกิดมาแล้ว เช่น การยืมนาฬิกาเพื่อน การยืมเงินของข้าราชการกับนักธุรกิจ 300 ล้านบาท ได้ว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ ที่ผ่านมากฎหมายนี้เคยมีการพิจารณาในปี 2552

ที่มา มติชนออนไลน์

ooo



ชาติหน้าทันแน่

...