วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 27, 2561

ระบบราชการจะเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้จริงหรือ?





ระบบราชการจะเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้จริงหรือ?

ระบบราชการสมัยใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทฤษฎีของตะวันตก ซึ่งเรายึดถือปฏิบัติมานานนับร้อยปีตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ.2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น

ในด้านหนึ่ง แนวคิดการจัดตั้งและพัฒนาระบบราชการ และการใช้ระบบราชการในการปกครองและบริหารประเทศ ปรากฎเป็นรูปเป็นร่างในจีนมานานนับพันปี อาจย้อนหลังไปได้ถึงการสถาปนาระบบราชการแบบรวมศูนย์ในรัฐฉินของซางยางในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ตราบจนกระทั่งยุคกลางราชวงศ์หมิงในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 ระบบราชการของจีนก็พัฒนาจนถึงขีดสุด จนกลายเป็นรากฐานของระบบราชการในราชวงศ์ชิง ตราบจนถึงยุคหลังการปฏิวัติจีน สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ระบบราชการในสมัยราชวงศ์หมิง ถูกจัดวางอยู่บนรากฐานความคิดที่สำคัญ คือแนวคิดจ้งเหวินชิงหวู่ (重文轻武) คือการ "เน้นบุ๋นละบู๊" หรือการให้ข้าราชการฝ่ายพลเรือนมีอำนาจกำกับ+ควบคุมข้าราชการฝ่ายทหารได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สืบทอดมาจากราชวงศ์ซ่งในช่วงคริสตศตวรรษที่ 10 โดยแนวคิดนี้มีหลักการสำคัญอยู่ที่การรวบอำนาจบังคับบัญชาทหารให้อยู่ที่ผู้นำสูงสุด คือฮ่องเต้เพียงพระองค์เดียว ฮ่องเต้เท่าานั้นที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการบังคับบัญชาทหาร ทั้งการคัดเลือก แต่งตััง ปลดนายทหาร การสั่งระดมพล เคลื่อนพล จะต้องกระทำภายใต้พระบรมราชโองการเท่านั้น

แต่ในทางปฏิบัติ สำหรับยุคสมัยที่ยังไม่มีระบบการสื่อสารทางไกลผ่านสายโทรศัพท์ โทรเลข คลื่นวิทยุ หากแม่ทัพนายกองได้รับพระบรมราชโองการให้นำทัพไปสู้กับข้าศึก จะมีอำนาจในการเคลื่อนบ้ายกำลังทหารตามสถานการณ์ในแนวหน้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างไร

ราชวงศ์หมิงในยุคต้นแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งขุนนางฝ่ายพลเรือน/ขุนนางฝ่ายใน(ขันที)มาทำหน้าที่เป็น "ผู้กำกับทัพ" ซึ่งเปรียบเสมือนข้าหลวงผู้แทนพระองค์ ทำหน้าที่พิจารณาอนุญาต/อนุมัติคำสั่งของผู้บัญชาการทหารแทนฮ่องเต้ ในการเคลื่อนย้ายกำลังพลในยามสงครามแทนฮ่องเต้ และขณะเดียวกันก็มีหน้าที่สอดส่องดูแลการบังคับบัญชาทหารของนายทัพแล้วรายงานต่อฮ่องเต้

ต่อมาก็พัฒนามาอีกขั้นโดยการตั้งตำแหน่งตูซือ(ผู้บังคับการทหาร)ในเขตพื้นที่มณฑลต่างๆ โดยขึ้นการบังคับบัญชากับถีตู(ผู้ว่าราชการมณฑล) ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน และฮ่องเต้จะทรงส่งผู้ตรวจการมณฑล(สวินฝู่)ไปตรวจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในท้องที่ต่างๆเป็นครั้งคราว

ในช่วงปลายราชวงศ์หมิงก็มีการตั้งขุนนางตำแหน่ง "จ่งตู" (ผู้บัญชาการมณฑล/ข้าหลวงผู้สำเร็จราชการมณฑล) เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน แต่มีอำนาจบังคับบัญชาทั้งทหารและพลเรือนในเขตมณฑลที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีตำแหน่งนี้อยู่ในมณฑลชายแดนที่อยู่ห่างไกล (ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิงได้เปลี่ยนขอบเขตการบังคับบัญชาของจ่งตูให้บังคับบัญชาสองมณฑลควบคู่กัน ผมจึงเปลี่ยนคำเรียกตำแหน่งนี้ในสมัยชิงเป็น "ผู้ว่าราชการสองมณฑล" ให้สอดคล้องกับขอบเขตอำนาจที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน มีอำนาจบังคับบัญชาทั้งทหารและพลเรือน)

ในส่วนกลางมีการจัดองค์กรระบบราชการทั้งกระทรวง/กรม (ปู้) มีสำนัก(ฝู่) กอง(ซือ) ต่างๆ ในการบริหารราชการแผ่นดิน มีหน่วยงานตรวจสอบการทำงานของข้าราชการทั้งหน่วยตรวจสอบการใข้อำนาจทางราชการในทางทุจริตและประพฤติมิชอบ(ตูฉาเยวี่ยน) และหน่วยตรวจสอบจริยธรรมขุนนาง(อวี้สื่อฉา) ในส่วนภูมิภาคก็มีการจัดระบบราชการโดยมีมณฑล(เสิ่ง)เป็นหน่วยการปกครองสูงสุดในส่วนภูมิภาค มีถีตู(ผู้ว่าราชการมณฑล)เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด แต่ละมณฑลก็มีส่วนราชการระดับสำนัก/กอง(ฝู่/ซือ) ทำหน้าที่เสมือนลิ่วปู้(หกกระทรวง/กรม)ในส่วนกลาง มีหัวเมืองในบังคับบัญชาหลากหลายระดับ ทั้งระดับนคร(ตู) เมือง/จังหวัด(ฝู่/ซื่อ/เฉิง/โจว) อำเภอ(เสี้ยน) และตำบล (เซียง) มีหน่วการปกครองที่เล็กที่สุดคือหมู่บ้าน(เจี่ย) ซึ่งมีนายบ้าน(หลีเจี่ย)ซึ่งเป็นคนท้องที่ที่มีอิทธิพล หรือมีบารมีเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านเป็นผู้ปกครองดูแล

จะว่าไปในแง่ของระบบราชการ ราชวงศ์หมิงถือว่าได้ออกแบบระบบไว้ค่อนข้างจะสมบูรณ์แบบแล้ว(และจะเห็นว่ามีหลายส่วนคล้ายกับระบบราชการปัจจุบันมาก)

แต่ปัญหาใหญ่คือ ปรัชญาความคิดที่ถูกนำมาใช้ในการบริหารราชการ และการปฏิบัติราชการของขุนนางในสมัยหมิง กลับยึดถือแนวคิดแบบลัทธิหรูเจีย (ลัทธิขงจื่อ) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยึดถือจารีต ประเพณี ความสัมพันธ์ส่วนตัวและระบบอาวุโส มากกว่าที่จะยึดถือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ(ซึ่งหานเฟยจื่อเคยวิจารณ์ไว้อย่างแหลมคมว่า "พวกหรูใช้บุ๋น(วิชาความรู้-หมายถึงหลักจารีตจริยธรรมในตำรา)บ่อนทำลายกฎหมาย") สิ่งนี้ก็เลยทำให้การทำงานของขุนนางขาดความเป็นมืออาชีพ ไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวมได้ ดังนั้นปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ใช้อำนาจโดยมิชอบในวงราชการในสมัยหมิง จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยมิยาก แม้จะวางระบบไว้ดีเพียงใดก็ตาม

ยิ่งตั้งแต่ช่วงกลางราชวงศ์หมิง ที่รัฐต้าหมิงสมาทานแนวคิดหลี่เสวีย(ปรัชญาขงจื่อใหม่)โดยเฉพาะสำนักของจูซี และออกกฎบังคับให้บัณฑิตที่เข้าสอบเคอจวี่ หรือสอบเข้ารับราชการทุกระดับ ต้องยึดถือการตีความตามคัมภีร์ขงจื่อแบบจูซี และเขียนให้อยู่กรอบของปากู่เหวิน หรือบทความแปดตอน ห้ามขาดห้ามเกิน ห้ามตีความนอกกรอบความคิดสำนักจูซี เลยทำให้บุคลากรที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาในระบบราการนั้น นอกจากจะไม่มีความเป็นมืออาชีพเพราะยึดถือความสัมพันธ์ส่วนตัวและระบบอาวุโส(ตามกรอบคิดแบบขงจื่อ) ยังกลายเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ไม่รู้จักคิดสร้างสรรค์หรือคิดนอกกรอบ ทำให้ไม่สามารถปรับตัว ปรับแนวคิดการปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับถาวการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ทันการณ์ ท้ายสุดราชวงศ์หมิงจึงอ่อนแอลงจนล่มสลายใต้เงื้อมมือกบฎชาวนา ทั้งที่ตั้งราชวงศ์ขึ้นโดยกบฎชาวนา และวางระบบไว้อย่างดีแล้วก็ตาม

หากพิเคราะห์ในแง่นี้ คำถามที่ว่า ระบบราชการจะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้จริงหรือไม่ ตอบว่าได้ แต่หลักคิดปรัชญาในการขับเคลื่อนระบบราชการ และการปฏิบัติราชการของข้าราชการในระบบ ควรยึดถือแนวคิดแบบสำนักนิตินิยม(ฝ่าเจีย)ซึ่งยึดถือหลักตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ ไม่สนใจความสัมพันธ์ส่วนตัวและระบบอาวุโส ไม่สนใจว่าผู้ถูกบังคับตามกฎหมายจะเป็นผู้ใด แต่ถ้ากระทำตามที่กฎหมายบัญญัติ(ว่าควรจะได้รางวัล)ก็ควรจะได้รับรางวัล หากกระทำการในสิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าควรถูกลงโทษ ก็ต้องลงโทษทัณฑ์ตามกฎหมายบัญญัติไม่มีขัอยกเว้น เช่นนี้จึงจะเป็นพื้นฐานของความรุ่งเรืองของบ้านเมืองภายใต้การขับเคลื่อนของระบบราชการ (อาณาจักรฉินเป็นตัวอย่างอันดีของขับเคลื่อนด้วยระบบหลักการนี้ และที่ล่มสลายก็เพราะผู้มีอำนาจในเวลานั้นคือเจ้าเกาและหลี่ซือละเมิดหลักกฎหมายเสียเอง คือวางแผนฆ่าฝูซู องค์ชายใหญ่ที่สมควรเป็นรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาล แล้วยกองค์ชายเล็กหูไฮ่ขึ้นแทน)


Worapong Keddit

...

พงศกร รอดชมภู ของไทยสะท้อนการใกล้ล่มสลายของชาติ เพราะราชการยึดถือระบบอุปถัมภ์ เหนือกว่าการสร้างความยุติธรรมตามกฎหมาย และการคัดเลือกคนเข้าทำงานหรือแต่งตั้งตามระบบคุณธรรมคือแข่งขันความรู้ทางโลก

ล้วนติดกับดักปรัชญาล้าหลัง ลัทธิ ความเชื่อ ไปจนถึงศาสนาที่ไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ครับ

Worapong Keddit เรากำลังเดินซ้ำรอยเดียวกับราชวงศ์หมิงและชิงที่ล่มสลายไปเพราะปัญหาแบบเดียวกันนี้เลยครับท่าน นี่แหละคือสิ่งที่ผมอดวิตกไม่ได้ครับ

Worapong Keddit จริงๆปัญหาจากการยึดถือหลักคิดแบบขงจื่อในระบบราชการสมัยหมิงอีกขัอนึงที่นำมาสู่การเล่นพรรคเล่นพวก ก็คือการกราบขุนนางที่เคยเป็นพี่เลี้ยงที่สอนงานให้ขุนนางใหม่เป็นอาจารย์ครับ สิ่งนี้ทำให้เกิดการเล่นพรรคเล่นพวกโดยขุนนางที่ถูกกราบเป็นอาจารย์ก็จะคอยหาทางดันลูกศิษย์ตนให้มีตำแหน่งสูงๆ ลูกศิษย์ก็เลยมีหนี้บุญคุณที่ต้องชดใช้ให้อาจารย์ของตนผ่านการใช้อำนาจหน้าที่ทางราชการครับ

พงศกร รอดชมภู ระบบอุปถัมภ์ ของเราคือพวกร่วมทำมาหากิน ส่งส่วยกันมาครับ