วันอังคาร, มิถุนายน 06, 2560

ผลงาน 3 ปี ของ คสช.... จำนวนทหารนั่งเป็นประธานในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า ส่วนจำนวนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% (เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้)



GETTY IMAGESคำบรรยายภาพพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.


สามปีรัฐประหาร: ทหารตบเท้านั่งรัฐวิสาหกิจบนสัญญาปฏิรูป


พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
ผู้สื่อข่าวอิสระ
ที่มา BBC Thai


สามปีหลัง รัฐประหาร ท่ามกลางสัญญาปฏิรูป เพิ่มประสิทธิภาพองค์กร จำนวนทหารนั่งเป็นประธานในคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 5 เท่า เป็น 16 แห่ง ส่วน จำนวนทหารและอดีตทหารเข้าเป็นกรรมการในบอร์ดเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ใน 40 รัฐวิสาหกิจ

รัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งจาก 15 กระทรวง มีสินทรัพย์รวมกัน 14 ล้านล้านบาท สร้างรายได้ต่อปีถึง 4.3 ล้านล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิถึง 1.9 แสนล้านบาท ทำให้ถูกมองว่าเป็น "ไข่ทองคำ" ที่ผู้มีอำนาจพยายามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าจะในยุคพลเรือน หรือ ทหาร

สำนักข่าวอิศรา เคยระบุว่า รัฐวิสาหกิจเกรดเอหลายแห่ง มีผลประโยชน์มหาศาล ทำให้เกิดการวิ่งเต้นเข้าไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จนกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วว่า ผู้มีอำนาจในยุคนั้น ๆ ย่อมตั้งคนของตัวเองไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพื่อคุมผลประโยชน์





นักการเมือง มักตกเป็นจำเลยว่านิยมตั้งคนที่ไม่มีความเหมาะสมเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทำให้เกิดปัญหาบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ขาดทุนซ้ำซาก ไปถึงขั้นมีข้อครหาเรื่องทุจริต เมื่อ ทหาร ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจในปี 2557 หนึ่งในวาระเร่งด่วนคือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คสช.ออกคำสั่ง ที่ 75/2557 ตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ "ซูเปอร์บอร์ด" ให้นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานขึ้นมาผ่าตัดด้วยตัวเอง

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ในฐานะประธานอนุกรรมการชุดหนึ่งของซูเปอร์บอร์ด เคยระบุว่า หนึ่งในวาระสำคัญในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ คือการตั้งบอร์ดที่ "มีความรู้และประสบการณ์ตรงกับงานของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ"





หลังจากนั้นผู้มีอำนาจในยุค คสช. ก็ออกคำสั่งเปลี่ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง โดยบางแห่งมีการส่งทหารเข้าไปแทน ท่ามกลางความเข้าใจของสาธารณชน ว่าเป็นการเข้าไปเฉพาะใน "ช่วงเปลี่ยนผ่าน"

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ระบุว่า รัฐวิสาหกิจที่ถูกเปลี่ยนบอร์ดในยุค คสช. มีอาทิ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสำนักงานส่ง
เสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ผลการตรวจสอบบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง
  • ปี 2556
  • ปี 2559


รวบรวมโดยบีบีซีไทย


บีบีซีไทย ตรวจสอบรายชื่อบอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง จากชุดก่อนหน้าที่ คสช. จะเข้ามา ผ่านรายงานประจำปี ปี 2556 ของทุกรัฐวิสาหกิจ กับชุดปัจจุบัน ผ่านรายงานประจำปี 2559 หรือเว็บไซต์ของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ พบว่ารายชื่อทหารที่เข้ามานั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีจำนวน "เพิ่มขึ้น" จาก 42 คน ใน 24 แห่ง เป็น 80 คน ใน 40 แห่ง หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว และจำนวนรัฐวิสาหกิจที่มี "ประธานบอร์ด" เป็นทหาร ไม่ว่าจะยังรับราชการอยู่หรือเกษียณอายุราชการแล้ว เพิ่มขึ้นจาก 3 แห่ง เป็น 16 แห่ง หรือมากกว่า 5 เท่าตัว

นอกจากนี้ ทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่ง" บางคนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากต้องทำงานหลายแห่งในเวลาเดียวกัน


GETTY IMAGES
มีรายงานว่า ทหารบางคนนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจมากกว่า 1 แห่งแล้ว บางคนยังเป็นสมาชิกสนช. ด้วย


ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่รัฐวิสาหกิจบางแห่งจำเป็นต้องมีทหารร่วมอยู่ในบอร์ด เนื่องจากทำภารกิจที่ทหารอาจมีประสบการณ์หรือความชำนาญ เช่น ทหารอากาศกับสถาบันการบินพลเรือน หรือทหารเรือกับบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด เป็นต้น

บางรัฐวิสาหกิจ เป็นนโยบายพิเศษที่ คสช. ต้องการจัดการเด็ดขาด เช่น การแก้ไขปัญหาขายสลากกินแบ่งเกินราคา ดังนั้นจึงมีชื่อของ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 นั่งเป็นประธานบอร์ดสํานักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะการแก้ปัญหาดังกล่าวต้องการใช้บุคลากรของกองทัพ เข้ามาเกี่ยวข้อง


SAEED KHAN/GETTY IMAGES
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ถูกเปลี่ยนบอร์ดในยุค คสช.


อย่างไรก็ดี มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ประกอบกิจการที่ไม่ตรงกับความชำนาญของบุคลากรจากกองทัพ แต่มีทหารนั่งอยู่ในบอร์ด อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, องค์กรเภสัชกรรม, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า ขออย่ามองเรื่องจำนวนอย่างเดียว อยากให้ดูเรื่องการศึกษารวมถึงประสบการณ์ด้วย ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจเข้าใจผิด เช่น พล.อ.วิวรรธ์ สุชาติ ประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เคยเป็นทหารช่างมาก่อน อาจจะเคยทำงานช่างมากกว่าบอร์ดคนอื่น ๆ ด้วยซ้ำ

ส่วนการตั้งทหารเข้าไปนั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจอื่น โฆษก คสช. กล่าวว่า เชื่อว่าน่าจะมีเหตุผลอยู่ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลาย เพราะบอร์ดทำหน้าที่แค่ให้นโยบาย ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติ รวมไปถึงการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริต เช่น การเปลี่ยนบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทยยกชุด

"เวลาพูดถึงทหาร คนมักจะนึกถึงทหารราบเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะในกองทัพมีคนอยู่มากมายหลายอาชีพ ทั้งหมอ วิศวะ นักเคมี นักบัญชี ฯลฯ เนื่องจากโรงเรียนทหาร เช่น โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) นอกจากเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านต่าง ๆ ยังมีทุนให้ไปเรียนต่อในต่างประเทศ ดังนั้น คนจบโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็ไม่ต่างกับจบจากจุฬาลงกรณ์ เพราะมีผู้ก่อตั้งคนเดียวกัน อย่าไปมองแค่ว่าเป็นทหารหรือพลเรือน อยากให้ดูเรื่องความรู้ ความสามารถด้วย" พ.อ.วินธัยกล่าว

ส่วนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้ง "ซูเปอร์โฮลดิ้ง" ที่มีเป้าหมายช่วยปฏิรูปการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ป้องกันการล้วงลูกจากผู้มีอำนาจ ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคนที่เหมาะสมเข้ามาเป็นบอร์ด ถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า หลังผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2559



GETTY IMAGES


นายเอกนิติ นิติฑัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ทราบว่ากฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้เสร็จแล้ว น่าจะส่งกลับไปยัง ครม. เพื่อส่งต่อไปให้ สนช.พิจารณาได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยคาดว่ากฎหมายนี้น่าจะมีผลใช้บังคับในไตรมาสที่ 3 หรืออย่างช้าไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

นายเอกนิติ กล่าวว่า การแต่งตั้งบอร์ดถือเป็นหนึ่งในประเด็นที่ร่าง พ.ร.บ.นี้จะช่วยปฏิรูปให้มีความโปร่งใส และมีการเลือกคนที่เหมาะสมกับภารกิจของรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่จู่ ๆ ก็เอารายชื่อใครก็ได้ลอยลงมา ส่วนบอร์ดรัฐวิสาหกิจชุดเก่า ซึ่งมีทหารนั่งอยู่จำนวนไม่น้อย จะมีเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่าจะให้สรรหาชุดใหม่เข้าไปแทนภายในระยะเวลาเท่าไร

"ความจริงเราไม่ขัดว่าจะเป็นทหารหรืออาชีพใด เพียงแต่ต้องดูว่า เขามี skill matrix (ทักษะความชำนาญ) เหมาะกับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ หรือไม่ อย่างเช่นบริษัท กรมอู่กรุงเทพ จำกัด ที่ทำเรื่องต่อและซ่อมแซมเรือ ทหารเรือก็อาจจะมีความเหมาะสม เราดูตรงนี้มากกว่า ไม่ได้ห้ามว่าอาชีพใดไม่ให้เป็น" นายเอกนิติกล่าว

ในช่วง 1 ปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง คสช.จะสามารถปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งบอร์ด ให้มาจากผู้มีความรู้ความสามารถ เหมาะสมกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ เพื่อลบภาพบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่มักถูกมองว่าเป็นเพียงสมบัติผลัดกันชมของผู้มีอำนาจในทุกยุคทุกสมัย ได้หรือไม่

นั่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจได้อะไร ?


"บอร์ด" หรือ คณะกรรมการ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐวิสาหกิจ นอกจากมีอำนาจกำกับดูแลการบริหารแล้ว ยังได้รับ ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปตัวเงิน จากรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ได้เข้าไปเป็นกรรมการ ซึ่งบางคนเป็น "บอร์ด" หลายแห่งในคราวเดียวกัน

ตัวอย่าง พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข อดีตเสนาธิการทหารบก ที่ถือได้ว่า "สวมหมวกถึง 4 ใบ" เพราะนอกจากจะเป็นสมาชิก สนช. ยังนั่งอยู่ในรัฐวิสาหกิจถึง 3 แห่ง ในเวลาเดียวกัน

พล.อ.ฉัตรเฉลิม อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 (ตท.15) รุ่นเดียวกับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของนายกฯ ได้รับแต่งตั้งให้นั่งในบอร์ดบริษัท ปตท. จำกัด (มาหชน) ในปี 2557 เป็นประธานบอร์ดบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในปี 2558 และเป็นประธานการยางแห่งประเทศไทย ในปี 2559 โดยประโยชน์ตอบแทนที่ พล.อ.ฉัตรเฉลิม ก็มีทั้งค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุม ไปจนถึงโบนัส



AFP/GETTY IMAGES


ถึงสิ้นปี 2559 เขาได้รับเงินจาก ปตท. รวม 6.93 ล้านบาท จาก อสมท รวม 7.9 แสนบาท และจากการยางฯ รวม 1.12 แสนบาท เมื่อนำไปบวกกับเงินเดือนในฐานะสมาชิก สนช. อีก 3.93 ล้านบาท ทำให้นับแต่ คสช. เข้ามา พล.อ.ฉัตรเฉลิมได้รับเงินจากการทำงานนอกกองทัพไปแล้วทั้งสิ้น 11.77 ล้านบาท

พล.อ. ฉัตรเฉลิม ชี้แจงทางโทรศัพท์กับบีบีซีไทยเป็นเวลากว่า 40 นาที อธิบายความเป็นมาของการได้รับตำแหน่งในบอร์ดต่างๆ แต่ไม่อนุญาตให้ลงเผยแพร่ เนื่องจาก "ไม่ไว้ใจนักข่าว กลัวลงไม่ครบแล้วเข้าใจผิด"

รายชื่อรัฐวิสาหกิจที่มีทหารหรืออดีตทหารเป็นประธานบอร์ด


ก่อน คสช.

1.สถาบันการบินพลเรือน

2.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

3.บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด

3 ปีหลัง คสช.เข้ามา

1.สถาบันการบินพลเรือน

2.การท่าเรือแห่งประเทศไทย

3.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

4.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

5.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

6.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

7.องค์การเภสัชกรรม

8.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

9.บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด

10.บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด

11.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

12.บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

13.บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

14.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

15.โรงงานยาสูบ

16.การยางแห่งประเทศไทย