วันพุธ, มิถุนายน 14, 2560

สุจิตต์ วงษ์เทศ รื้อถอนวาทกรรม “สาวไทยต้องรักนวลสงวนตัว”





สุจิตต์ วงษ์เทศ รื้อถอนวาทกรรม “สาวไทยต้องรักนวลสงวนตัว”


Fri, 2013-05-03
ที่มา ประชาไท

เรียบเรียงโดย กรกฤช สมจิตรานุกิจ

25 เม.ย.56 ณ ห้องเจ้าพระยา 2 โรงแรมริเวอร์ไรน์เพลส เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ จังหวัดนนทบุรี สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในโครงการ “สร้างเสริมศักยภาพนักกิจกรรมรุ่นใหม่เรื่องสิทธิทางเพศครั้งที่ 1 : เรา เรื่องเพศ และงานพัฒนา” โดยเป็นการบรรยายในหัวข้อ “หญิงเป็นนาย ชายเป็นบ่าว เอาผัวเอาเมียแบบบ้านๆ”

อาจารย์สุจิตต์กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของไทยเป็นประวัติศาสตร์ที่แทบไม่มีความจริงอยู่เลย เวลาอ่านประวัติศาสตร์ไทยเหมือนกับอ่านนิยายคู่กรรม และการศึกษาไทยก็ไปบังคับให้เราเชื่อว่าคู่กรรมที่เราอ่านเป็นความจริง พอมีคนเห็นต่างก็ถูกกล่าวหาว่าขายชาติไปโดยปริยาย ตัวอย่างที่น่าตกใจที่สุดคือความเชื่อที่ว่าบรรพบุรุษไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ทั้งๆที่เทือกเขาอัลไตเป็นภูเขาน้ำแข็งที่โซเวียตใช้ตั้งสถานีราดาร์เพื่อสู้กับสหรัฐฯ ช่วงสงครามเย็น ไม่มีใครสามารถอยู่อาศัยได้ แต่ที่ต้องสอนแบบนี้เพราะระบบการศึกษาไทยต้องการสร้างลัทธิชาตินิยม จึงให้ความสำคัญกับชนชาติอันเป็นสิ่งสมมติมากจนเกินจริง ทั้งๆ ที่ทั่วโลกทุกวันนี้เขาเลิกพูดถึงเรื่องชนชาติไปแล้ว และหันมาให้ความสำคัญกับสัญชาติ (nationality) แทน เพราะเขาได้รับบทเรียนจากลัทธิเหยียดเผ่าพันธุ์ (racism) ของฮิตเลอร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การบรรยายในวันนี้จึงเป็นการรื้อถอนความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ผ่านทางหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

เรามักรับรู้สังคมไทยในอดีตว่าเป็นสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่เฉกเช่นสังคมเกษตรกรรมอื่นๆ ทั่วโลก แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีจะพบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีตเป็นสังคมที่เพศหญิงเป็นใหญ่ทั้งสิ้น จริงอยู่พี่เพศชายเป็นเพศที่ต้องออกล่าสัตว์ทำศึกสงคราม แต่งานภายในบ้าน และหน้าที่ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เป็นของผู้หญิงทั้งสิ้น หลักฐานหนึ่งที่ขุดพบคือโครงกระดูกของเจ้าแม่โคกพนมดี ซึ่งเมื่อพิจารณาจากระดูกเชิงกรานแล้วพบว่าเป็นโครงกระดูกเพศหญิง ศพดังกล่าวถูกฝังรวมกับลูกปัดนับแสนเม็ด ซึ่งมีข้อสังเกตสองประการ ประการแรกศพที่มีการทำพิธีฝังได้จะต้องเป็นผู้นำระดับสูงของชุมชน ศพคนทั่วไปก็จะถูกปล่อยให้แร้งกากิน ประการที่สองลูกปัดนับแสนเม็ดที่พบแสดงว่าเจ้าของโครงกระดูกเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนา เพราะคนสมัยก่อนเชื่อว่าเสียงลูกปัดกระทบกัน และเครื่องดนตรีบางชนิดเช่นแคนเป็นช่องทางในการสื่อสารกับภูติผี ปีศาจ ซึ่งเทียบเท่ากับศาสดาในยุคนั้น เจ้าแม่โคกพนมดีจึงเป็นหลักฐานแสดงถึงความเป็นใหญ่ของเพศหญิงในสังคมโบราณได้เป็นอย่างดี วัฒนธรรมเช่นนี้ยังสามารถพบได้ในผู้หญิงเผ่าละเวนในประเทศลาวปัจจุบันที่มีวัฒนธรรมการสวมลูกปัดเหมือนกัน





โครงกระดูกเจ้าแม่โคกพนมดี ที่มา: http://www.sujitwongthes.com/2011/07/weekly22072554/


ภาพผู้หญิงละเวน ที่มา: http://www.sujitwongthes.com/2009/03/


เมื่อมาพิจารณามิติของภาษาก็จะพบวัฒนธรรมเพศหญิงเป็นใหญ่เช่นกัน เช่นคำว่า “แม่” กับคำว่า “เมีย” แท้จริงแล้วมีความหมายเหมือนกันหมายถึงความเป็นใหญ่ เช่นแม่น้ำ แม่ทัพ คำว่า “นาย” กับ “นาง” จริงๆ แล้วก็มีความหมายเหมือนกัน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยได้รับวัฒนธรรมวิคตอเรียน (Victorian culture) ที่ต้องมีการเติมคำนำหน้านาม จึงเติมคำว่า “สาว” เข้าไปหน้านางแสดงถึงพรหมจรรย์ คำว่า นาง จึงมีมลทิล การเหยียดเพศจึงเริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้น ในขณะที่คำว่า “หนุ่ม” กับคำว่า “บ่าว” ในอดีตใช้แทนกันได้ และคำว่า “บ่าว” ยังมีความหมายว่า “คนรับใช้” อีกด้วย เนื่องจากวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีตฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายที่รับมรดกจากพ่อแม่ ผู้ชายที่อยากแต่งงานกับผู้หญิงจึงจำเป็นต้องเข้าไปเป็นคนรับใช้ในบ้านของฝ่ายหญิงจนกว่าฝ่ายหญิงจะรับเป็นสามี ในพิธีแต่งงานชายฝ่ายต้องจับชายสไบของเจ้าสาวเดินเข้าเรือนหอ ผู้หญิงจึงเป็นเจ้านายของบ่าวทั้งหลาย โดยในช่วงที่ฝ่ายชายมาอยู่บ้านฝ่ายหญิงก็สามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้แม้จะยังไม่รับเป็นสามีก็ตาม หรือที่เราเรียกว่า “อยู่ก่อนแต่ง” แต่ทุกวันนี้กลายเป็นวัฒนธรรมที่คนในสังคมไม่ยอมรับ

ส่วนคำที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์หรือคำว่า “เย็ด” ก็เพี้ยนมาจากคำว่า “เฮ็ด” ซึ่งมีความหมายว่า “ทำ” การเย็ดกัน จึงเปรียบเสมือนกิจกรรมหนึ่งของคนโบราณ และที่สำคัญคือในวัฒนธรรมดังกล่าว หญิงเป็นฝ่ายเลือกผู้ชายอีกด้วย เหตุที่ไทยมีวัฒธรรมที่ผู้หญิงต้องเข้ามาอยู่บ้านผู้ชายเพราะเรารับวัฒนธรรมมาจากจีน พรหมจรรย์ (virginity) ไม่มีความสำคัญในสังคมโบราณ แต่เริ่มมีความสำคัญเมื่อรับวัฒนธรรมพราหมณ์ ฮินดูเข้ามา เช่นในประกอบอาหารเพื่อพิธีกรรมทางศาสนา ต้องให้ผู้หญิงพรหมจรรย์เป็นคนทำเท่านั้น วัฒธรรมเช่นนี้ทำให้ผู้หญิงที่เสียพรหมจรรย์แล้วจึงถูกมองเป็น “ผู้หญิงชั่ว”

เมื่อวัฒนธรรมพุทธศาสนาเข้ามาในไทย เพศหญิงก็ยิ่งถูกให้ความหมายลบมายิ่งขึ้น เช่นการให้ความหมายของอวัยวะเพศผู้หญิงว่าเป็นสิ่งเลวทราม คำว่า “หี” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “หีนะ” ซึ่งมีความหมายว่าเลว เช่นใจทมิฬหีนชาติ (เพี้ยนมาเป็น ใจทมิฬหินชาติ) ในขณะที่อวัยวะเพศชายหรือคำว่า “ควย” มีรากศัพท์มาจากคำว่า “คุยหะ” ซึ่งแปลว่าของลับเท่านั้น ในขั้นตอนการบวชพระก็มีการกีดกันเพศหญิงออกไป เช่นในขั้นตอนการเดินเข้าโบสถ์ พ่อจะเป็นผู้ถือผ้าจีวรและตาลปัตรเดินนำหน้านาคเข้าโบสถ์ ส่วนแม่จะเป็นคนจับชายผ้าของนาคเดินตามหลัง ลักษณะเหมือนพยายามฉุดรั้งไม่ให้ไป แต่สุดท้ายนาคก็จะเดินเข้าโบสถ์ตามพ่อไป เมื่อออกจากโบถ์นาคก็จะกลายเป็นพระ แม่ไม่มีสิทธิจะจับต้องตัวลูกชายของตัวเองได้อีกต่อไป




ภาพเขียนมนุษย์กบในสมัยโบราณ :http://www.sujitwongthes.com/page/119/?s


หากเราพิจารณาสังคมไทยยุคก่อนได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ สัญลักษณ์ที่แทนอวัยวะเพศหญิงคือกบ ซึ่งกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของการให้กำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจะพบตำนาน และงานศิลปะเกี่ยวกับกบอยู่ทั่วภูมิภาค เนื่องจากสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนโบราณคือฝน และทุกครั้งที่ฝนตกก็จะเจอกบทุกครั้ง คนโบราณจึงเชื่อว่ากบเป็นสัตว์เรียกฝน จนมีตำนานว่าในช่วงที่บ้านเมืองกำลังแห้งแล้ง กบตัวหนึ่งขึ้นไปขอฝนกับพระยาเถนบนสวรรค์ พระยาเถนถามว่าทำอย่างไรตนจึงจะรู้ว่าโลกมนุษย์ต้องการฝน กบตัวนั้นจึงเสนอว่า หากตนร้องเมื่อไหร่ ก็ขอให้ฝนตกเมื่อนั้น ซึ่งในมลฑลกวางสีประเทศจีนก็มีตำนานลักษณะนี้เช่นกัน การใช้กบแทนอวัยวะเพศหญิงจึงเสมือนการยกย่องให้อวัยวะดังกล่าวเป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ และการให้กำเนิดแม้กระทั้งในภาคอีสานปัจจุบันก็มีการเรียกเด็กผู้หญิงว่า “บักเขียดน้อย” ซึ่งก็หมายความว่า “เจ้าจิ๋มน้อย” นั่นเอง

ในสมัยอยุธยา วัฒนธรรมผู้หญิงเป็นใหญ่ก็ยังคงอยู่ จดหมายเหตุของลาร์ลู แบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศสที่เข้ามาในอยุธยาช่วงนั้นบันทึกไว้ว่า “ในการตัดสินใจประเด็นสำคัญต่างๆ ภายในบ้าน ฝ่ายหญิงล้วนเป็นผู้ตัดสินใจทั้งสิ้น” เนื่องจากในสมัยดังกล่าวมีระบบไพร่ ฝ่ายชายต้องออกไปรับราชการปีละ 6 เดือน ซึ่งเป็นงานที่ไม่ได้เงินเดือน ทิ้งกิจการในบ้าน ทั้งการหุงหาอาหาร การหารายได้เข้าบ้าน การควบคุมค่าใช้จ่ายไว้ให้ฝ่ายหญิงดูแล สอดคล้องกับบันทึกของลาร์ลู แบร์ ที่กล่าวไว้ว่าในตลาดของอยุธยามีแต่ผู้หญิง แม้กระทั่งในราชสำนักผู้หญิงก็ยังเป็นผู้มีอิทธิพล เช่นประวัติศาสตร์ท้าวศรีสุริโยทัย หลายคนคิดว่าผู้หญิงที่ “ดอกทอง” มากที่สุดในเรื่องนี้คือท้าวศรีสุดาจันทร์ แต่ความจริงนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเพียงผู้พ่ายแพ้การต่อสู้ระหว่างผู้หญิงที่มีอิทธิพลสองคนในขณะนั้นคือท้าวสีสุดาจันทร์ และท้าวสีสุริโยทัย ผู้ชนะย่อมเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ หากท้าวสีสุดาจันทร์ชนะในการต่อสู้ดังกล่าว ท้าวศรีสุริโยทัยก็จะถูกเขียนให้ “ดอกทอง” ไม่แพ้กัน อีกเรื่องที่คนไม่รู้คือท้าวสีสุดาจันทร์นั้นแท้จริงแล้ว ไม่ใช่ชื่อคน แต่เป็นชื่อตำแหน่งสนมเอกจากฝั่งตะวันออก ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายตราสามดวง

ในยุครัตนโกสินทร์ แม้บทบาทของเพศหญิงจะหายไปจนแทบไม่มีเหลือ แต่วาทกรรมเรื่องเพศต่างๆ เช่นชิงสุกก่อน หรือการรักนวลสงวนตัวก็ยังไม่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นนางสีดา และนางพิมพิลาลัย ที่เป็นนางในวรรณคดียุครัตนโกสิน ทั้งสองเสียตัวและแต่งงานตอนอายุ 16 ปีทั้งคู่ แม้ในยุคดังกล่าวจะมีการแต่งสุภาษิตสอนหญิง และตำนานท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศออกมา แต่วรรณกรรมเหล่านี้มีไว้ให้ลูกสาวของชนชั้นสูงยึดถือปฎิบัติ เพื่อให้ผู้ชายในราชสำนักสนใจเอาไปเป็นภรรยา ไม่ต่างจากหมอนวดในปัจจุบัน ฉะนั้นหากเราสนับสนุนให้เยาวชนไทยยึดถือวรรณกรรมพวกนี้เป็นแบบอย่าง ก็เท่ากับเราสนับสนุนให้เยาวชนไทยเป็นหมอนวด

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าคนไทยสมัยก่อน มองว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือสิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด คำว่า “วัยอันควร” ที่เราชอบอ้างกัน สำหรับคนสมัยก่อน อายุ 16-19 ปี ก็ถือเป็นวัยอันควรแล้ว เพราะวัยดังกล่าวเป็นวัยเจริญพันธุ์ การห้ามไม่ให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ ในช่วงวัยที่เขาต้องการมีเพศสัมพันธ์มันจึงเป็นไปไม่ได้ คนโบราณเขาเข้าใจจุดนี้จึงไม่มองเรื่องเพศเป็นเรื่องเลวร้าย แต่ผู้ใหญ่สมัยนี้ต้องการจะสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยลวงๆ ขึ้นมาอันเป็นผลพวงจากลัทธิคลั่งชาติ ผลักภาระไปให้เพศหญิง สร้างวาทกรรม “รักนวลสงวนตัว” ขึ้นมาแทนที่จะสอนวิธีการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การผลักภาระเช่นนี้ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับเพศหญิง เราอ้างความเป็นไทย จนลืมความเป็นมนุษย์ ใช้ความเป็นไทยมาทำร้ายธรรมชาติของมนุษย์เสียเอง ซึ่งทั้งที่จริงๆ แล้วความเป็นไทยแท้นั้นไม่มีจริง เป็นเพียงแค่การหยิบเอาวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ มาผสมกันแล้วคิดเอาเองว่ามันคือความเป็นไทยเท่านั้น