วันศุกร์, มิถุนายน 16, 2560

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย แถลงข่าวแสดงความกังวล กรณีการเร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา





วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดแถลงข่าวเรื่อง “ข้อเสนอต่อรัฐบาล กรณีการเร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 กรุงเทพ-นครราชสีมา” โดย มีข้อเสนอที่ควรพิจารณา ดังนี้

1. วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
2. การดำเนินการโครงสร้างขนาดใหญ่
3. การก่อสร้างโครงการที่มีเทคโนโลยีขนาดใหญ่
4. ข้อเท็จจริงรถไฟความเร็วสูง และโครงสร้างสาธารณูปโภค

(สามารถอ่านรายละเอียดตามภาพ press release ที่แนบ)
http://eit.or.th/picture-training/press-release.pdf

15 มิถุนายน 2560 ณ ห้องรามคำแหง 2 โรงแรม เอสซีปาร์ค

.....



โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ตามกระแสข่าวเรื่องรัฐบาลจะเร่งดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 กรุงเทพนครราชสีมาระยะทาง 250 กิโลเมตรที่รัฐบาลไทยจะมอบหมายให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านบริษัทของจีนที่ได้รับการคัดเลือกโดยใช้กฎหมายพิเศษในการเร่งดําเนินการนี้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์มีท่าทีและข้อเสนอดังมีสาระที่ควรได้พิจารณาในด้านวิศวกรรมดังต่อไปนี้

1. วิชาชีพวิศวกรรมควบคุม

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เห็นด้วยกับสภาวิศวกรที่ได้เสนอให้นิติบุคลวิศวกรรม และวิศวกรจีนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในโครงการนี้ต้องผ่านการจดทะเบียนรับรองการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมของสภาวิศวกร ทั้งนี้ในการเข้าทำงานวิศวกรรมควบคุมในประเทศต่าง ๆ วิศวกรผู้นั้นจำเป็นต้องมีความรู้ทั้งในด้านกฎหมายก่อสร้าง สภาพการรับน้ำหนักบรรทุกของดินฐานราก สภาวะ และการตอบสนองของน้ำหนักบรรทุกสำคัญ เช่น น้ำหนักบรรทุกจร แรงลม และแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว

รวมทั้งมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง การใช้กฎหมายมาตราพิเศษเพื่อยกเว้นให้วิศวกรจีนเช่นนี้ จะสร้างความเหลื่อมล้ำในการทำงานวิศวกรรมของวิศวกรต่างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรในภูมิภาคอาเซียน(AEC) ที่ต้องผ่านการประเมินคุณสมบัติเป็นภาคีวิศวกรพิเศษจากสภาวิศวกรแล้วจำนวนกว่า 180 คนและหากวิศวกรต่างประเทศขาดความเข้าใจในภูมิสัณฐาน และระเบียบวิธีการปฎิบัติงานวิชาชีพ จะเสี่ยงต่อความปลอดภัยสาธารณะของประเทศไทย

2. การดำเนินการโครงการขนาดใหญ่


รัฐบาลได้ส่งข้อความสื่อสารสำคัญ (key message) เพื่อทำให้เกิดธรรมาภิบาลในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่กับสาธารณะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประกอบไปด้วย

2.1 คณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลโครงการที่มีมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป (super board) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการทุจริตและให้มีการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ

2.2 พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานทำสัญญากับรัฐที่มีการควบคุมผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพ ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้งบุคคล และนิติบุคล เช่น งานวิศวกรรม

การใช้กฎหมายพิเศษเพื่อยกเว้นแนวทางที่สร้างธรรมาภิบาลดังกล่าวข้างต้น อาจทำให้เกิดความสับสน และสร้างความไม่เชื่อมั่นในการเร่งรับดำเนินการโครงการนี้

3. การก่อสร้างโครงการที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง

การทำสัญญาโครงการที่มีงานวิศวกรรมหรือเทคโนโลยีขั้นสูงโดยทั่วไป อาจดำเนินการผ่าน “สัญญาการจัดซื้องานวิศวกรรม” (engineering procurement contract, EPC) ซึ่งสอดคล้องกับข่าวเบื้องต้นที่จะทำ EPC ที่สถานีกลางดง นครราชสีมาในระยะทาง 3.5 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณ 2,000 ล้าน ซึ่งหากดำเนินการตามนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยดังนี้

3.1 การทำ EPC จะดำเนินการโครงการทั้งหมดในระยะทางสั้น และงบประมาณน้อย ซึ่งจีนเองก็ได้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้เมื่อเริ่มโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง

3.2 ในระหว่างการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยทำ EPC รัฐบาลควรกำหนดให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี (technology transferring) โดยสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ การคำนวณออกแบบ (design) การกำหนดรายการประกอบแบบ และวัสดุ (specifications) การก่อสร้าง และการติดตั้ง (construction and erection) รวมทั้งการซ่อม และบำรุงรักษา (repair andmaintenance) ซึ่งเกาหลีใต้แม้มีความสามารถดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ามาแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นต้องต้องนำเข้าชิ้นส่วน และเทคโนโลยี และเมื่อประมาณราว พ.ศ. 2525 ได้ใช้โอกาสของการทำโครงการรถไฟความเร็วสูงในการถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยได้จัดทำเงื่อนไขสำหรับผู้เสนองาน (request for proposal, RFP)1 โดยมีเงื่อนไขว่าผู้เสนองานต้องช่วยให้เกาหลีใต้มีรถไฟความเร็ว 300 กม./ชม. และอนุญาตให้เกาหลีใต้ถ่ายทอด (ขาย) เทคโนโลยีให้ประเทศที่ 3ได้ รวมทั้งการใช้ชิ้นส่วน และวัสดุภายในประเทศ

4. ข้อเท็จจริงรถไฟความเร็วสูง และโครงสร้างสาธารณูปโภค

4.1 รถไฟความเร็วสูงเป็นคู่แข่งขันกับสายการบินภายในประเทศ ด้วยเหตุที่การขนส่งโดยระบบรางนี้สามารถรับ และส่งในเมืองโดยไม่ต้องรอคอย และต้องใช้พาหนะอื่นเมื่อเปรียบกับการโดยสารเครื่องบิน ซึ่งการพิจารณาเพื่อกำหนดเส้นทางควรพิจารณาค่าโดยสารเครื่องบินต้นทุนต่ำซึ่งปัจจุบันมีราคาค่าตั๋วถูกมาก และเมืองหรือจังหวัดสำคัญจะมีระยะทางบินไกลสุดในประเทศไม่เกิน 1 ชั่วโมง 20 นาที หากพิจารณาระยะเวลาเดินทางรวมรอการเดินทางโดยเครื่องบินจะไม่เกิน 4 ชั่วโมง ดังนั้นหากระยะเวลาเดินทางของรถไฟความเร็วสูงในระยะทางไกล จึงอาจแข่งไม่ได้กับสายการบินต้นทุนต่ำ เนื่องจากค่าตั๋วโดยสารรถไฟความเร็วสูงนี้จะมีราคาแพงสำหรับผู้ใช้บริการทั่วไป

4.2 รัฐบาลควรพิจารณาการสร้างเมืองบริวาร โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเส้นทางที่ไกลมาก เพื่อให้เมืองบริวารที่สามารถเดินทางได้ภายใน 2 ชั่วโมงเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่เป็นแหล่งที่ตั้งของธุรกิจและแรงงาน ทั้งนี้การดำ เนินการเช่นนี้จะหยุดยั้งการอพยพของธุรกิจและแรงงานเข้ากรุงเทพมหานครได้

4.3 รัฐบาลควรพิจารณาการพัฒนาเมือง และอสังหาริมทรัพย์ในเมืองบริวารที่ยังมีราคาไม่แพง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงในราคาไม่สูงมาก เช่น หากจะทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเจตนาส่งเสริมการท่องเที่ยว และธุรกิจที่อำเภอหัวหิน อาจต่อสายทางไปถึงระนองเพื่อให้มีการพัฒนาเมืองในราคาไม่แพงและสามารถเดินทางไปหัวหินได้รวดเร็วมาก แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะสร้างสายทางไปที่ไกลมาก ๆ

4.4 การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปยังเมืองบริวารจะเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชน(modes of transportation) จากรถโดยสารเป็นรถไฟ และกระจายผู้โดยสาร ณ เมืองบริวารด้วยรถประจำทางปกติ ซึ่งจะลด และบรรเทาปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ทั้งนี้หากนำประเด็นนี้ไปเพื่อหาความตอบแทนทางเศรษฐกิจ (economicalinternal rate of return, EIRR) จะทำให้โครงการเป็นไปได้มากขึ้น และหากรัฐบาลจะพิจารณาร่วมลงทุนจะทำให้โครงการมีศักยภาพที่จะเป็นไปได้ทางการเงิน (finance internal rate of return, FIRR) โดยมีราคาค่าผ่านทางที่ต่ำลง

4.5 ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกโครงสร้างสาธารณูปโภค ทั้งงานระบบวิศวกรรมโยธา/โครงสร้าง งานระบบวิศวกรรมอาคาร รวมทั้งงานวิศวกรรมที่ปรึกษา/ควบคุมงาน ไปยังประเทศต่าง ๆ อาทิเช่นอินเดีย บังคลาเทศ ไต้หวัน เป็นต้น

ที่มา FB

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) Engineering Institute of Thailand

และประชาไท