วันจันทร์, มิถุนายน 19, 2560

บทเรียนจากลอนดอน: สถาปนิกห่วงอาคารสูงไทยใช้ฉนวนกันความร้อนติดไฟง่าย



ภาพไฟไหม้อาคารแกรนเฟลล์ทาวเวอร์ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษที่เกิดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา


บทเรียนจากลอนดอน: สถาปนิกห่วงอาคารสูงไทยใช้ฉนวนกันความร้อนติดไฟง่าย


วัชชิรานนท์ ทองเทพ & ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
18 มิถุนายน 2017


สมาคมสถาปนิกสยามฯ เตรียมเสนอกระทรวงมหาดไทย ยกร่างกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะให้กำหนดเรื่องการใช้ฉนวนกันความร้อนที่ติดไฟง่ายในระดับความสูงที่จำกัดเท่านั้น

เหตุไฟไหม้อาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ในกรุงลอนดอนของอังกฤษที่เกิดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เพียงจุดประกายให้ชาวสหราชอาณาจักรตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงและการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่งอาคาร แต่ยังปลุกความคิดให้กับวงการก่อสร้างในไทยด้วย

โดยเฉพาะประเด็นการติดตั้งแผ่นตกแต่งผนังอาคารด้านนอกที่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว รายงานของบีบีซีนิวส์ไนท์ระบุว่าแผ่นตกแต่งผนังอาคารเกรนเฟลล์ ทาวเวอร์ ใช้วัสดุโลหะเคลือบชั้นนอก ชั้นในทำจากโฟมและไส้ตรงกลางทำจากโพลีเอทิลีน (พีอี) (Polyethylene) หรือพลาสติก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่าหากไส้ตรงกลางของแผ่นตกแต่งผนังทำจากสินแร่จะติดไฟได้ยากกว่า



AFP/GETTY IMAGES


บีบีซีไทยตั้งคำถามเรื่องนี้กับ พ.ต.ท. ดร.บัณฑิต ประดับสุข กรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาคาร ซึ่งยอมรับว่าสมาคมฯ มีความตระหนักในเรื่องนี้ และเห็นว่าขณะนี้เป็นจังหวะเหมาะสมที่จะเสนอแนะให้มีการยกร่างกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารเพิ่มเติมเพื่อบังคับให้ผู้ออกแบบอาคารสูง ที่ต้องการใช้พีอีเป็นฉนวนกันความร้อน สามารถใช้ได้ในระดับความสูงจำกัด

"ในเบื้องต้นคิดว่าน่าจะไม่ให้ใช้เกินชั้นที่ 5 ของอาคาร หากเป็นชั้นที่สูงขึ้นไปกว่านั้น ก็ควรพิจารณาใช้ฉนวนกันความร้อนแบบไม่ติดไฟ " พ.ต.ท. ดร.บัณฑิตกล่าว



สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ต.ท. ดร.บัณฑิต ประดับสุข กรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาคาร


ในสัปดาห์หน้าสมาคมฯ จะแถลงรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติม และจะทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทยในลำดับถัดไป

อาคารส่วนใหญ่ยังใช้ฉนวนกันความร้อนแบบติดไฟง่าย


พ.ต.ท. ดร.บัณฑิต อธิบายเพิ่มเติมว่า วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งด้านนอกอาคาร หรือเปลือกอาคาร คือแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิต (Aluminium Composite Panel) หรือ เอซีพี ซึ่งจะประกอบด้วยอลูมิเนียมสองแผ่นประกบกัน มีฉนวนกันความร้อนเป็นไส้กลาง ซึ่งเป็นตัวยึดติดระหว่างแผ่นอลูมิเนียมด้านบนและล่าง โดยส่วนของไส้กลางนั้นโดยปกติ จะทำมาจากวัสดุฉนวน 2 ชนิด คือ โพลีเอทิลีน หรือ"พีอี" อีกชิดหนึ่งคือสารเคมีหน่วงไฟ (Fire Retardant) หรือ เอฟอาร์


GETTY IMAGES
ลักษณะการเกิดเพลิงไหม้อาคาร "เดอะทอร์ช" ในดูไบ เมื่อ 2 ปีก่อน มีลักษณะคล้ายกับที่เคยเกิดที่อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ในไทย โดยที่ ไฟก็ลุกลามจากแผ่นตกแต่งผนังอาคารด้านนอก


"พีอีจะมีราคาถูกกว่าฉนวนแบบเอฟอาร์ ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารอย่างมาก แต่หากเทียบกับวัสดุฉนวนแบบเอฟอาร์แล้วจะพบว่า ฉนวนแบบพีอีจะติดไฟง่ายกว่า" " พ.ต.ท. ดร.บัณฑิตกล่าว

พ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ยกอย่างกรณีเหตุไฟไหม้อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ ย่านถนนรัชดาภิเษก ซึ่งครั้งนั้นส่วนที่ถูกเผาไหม้ก็คือผิวนอกอาคารเท่านั้น อีกกรณีคือเหตุไฟไหม้ปล่องลิฟท์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพระโขนง

กทม. ห่วงตึกเก่าที่สร้างก่อนปี 2535

ด้าน พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว รอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร กทม.ที่เติบโตมาจากสายตำรวจดับเพลิง กล่าวกับบีบีซีไทยถึงความเสี่ยงหากอาคารสูงใน กทม.เกิดเพลิงไหม้ว่า ในจำนวนอาคารกว่า 3,000 หลัง มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ก่อสร้างก่อน พ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2535 บังคับใช้ และไม่ได้ถูกออกแบบให้มีระบบป้องกันรับมืออัคคีภัยที่ได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ ภายหลัง พ.ร.บ.ดังกล่าวบังคับใช้ ได้กำหนดให้อาคารสูงต้องมีระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้มาตรฐาน หากมีเหตุเกิดขึ้น การเข้าควบคุมเพลิงจะลดความเสียหายได้ทัน แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้น คือ ตึกเก่าแก่ที่ไม่มีระบบป้องกันรับมือไฟไหม้เลย เช่น ในย่านเศรษฐกิจชั้นในอย่าง เยาวราช สำเพ็ง



AFP/GETTY IMAGES
กทม. เป็นห่วงว่าตึกรุ่นเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2535 ที่ไม่มีระบบป้องกันรับมือไฟไหม้ อย่างเช่น ย่านเศรษฐกิจชั้นในอย่าง เยาวราช สำเพ็ง


อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้การควบคุมเพลิงเป็นไปได้ยากนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดการบำรุงรักษาอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ เช่น สัญญาณเตือนภัย ระบบจับควัน เป็นต้น

ตรอกซอยแคบ อุปสรรคดับเพลิง

ผู้บริหารกรุงเทพมหานครกล่าวอีกว่า ผังเมือง ถนน ตรอกซอยขนาดเล็ก เป็นอุปสรรคของการไปยังที่เกิดเหตุได้ทันเวลา อย่างไรก็ตาม กทม.พยายามปรับวิธีการรับมือ ด้วยการใช้รถดับเพลิงขนาดเล็กเข้าพื้นที่ จากสถานีดับเพลิง 35 แห่ง แต่ละแห่งได้ตั้งจุดเฝ้าระวังเพิ่มสถานีละ 1 จุด กระจายรถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ไปประจำจุดเสี่ยงที่เคยเกิดเหตุไฟไหม้บ่อย โดยเฉพาะช่วงตรุษจีน ปีใหม่ เพื่อให้การเข้าควบคุมสถานการณ์เพลิงไหม้ไวขึ้น





รอง ผอ.สปภ. ระบุว่ารถกระเช้าที่สามารถดับเพลิงในระดับความสูง 90 เมตร ถือว่าได้มาตรฐานที่ทั่วโลกใช้ หากมีขนาดความสูงมากกว่านี้จะไม่เหมาะ เพราะต้องใช้พื้นที่ตั้งอุปกรณ์ค้ำยันรถ

ที่ผ่านมา กทม. เคยใช้กับรถกระเช้านี้ ในเหตุไฟไหม้ใหญ่ เช่น ที่อาคารสำนักงานไทยพาณิชย์ รัชโยธิน โดยรถกระเช้าดับเพลิงจะทำหน้าที่ลำเลียงผู้ติดอยู่ในอาคาร ระดมนักดับเพลิง และอุปกรณ์เข้าไปยังที่เกิดเหตุ

เทียบระดับความสูงของรถกระเช้าดับเพลิง





จากการรวบรวมของบีบีซีไทยยังพบอีกว่า รถกระเช้าของกรุงเทพมหานครยังสามารถดับเพลิงในระดับความสูงมากกว่าที่นครดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกรุงลอนดอนของอังกฤษอีกด้วย


ooo



https://www.facebook.com/BBCThai/videos/1943853422502355/