วันจันทร์, มิถุนายน 12, 2560

"ใบตองแห้ง" ว่าด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ฉบับเต็ม ในแง่การทำความเข้าใจโครงสร้าง ปัญหา และประเด็นที่ถกเถียง







Atukkit Sawangsuk 

ว่าด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ฉบับเต็ม ในแง่การทำความเข้าใจโครงสร้าง ปัญหา และประเด็นที่ถกเถียงกัน ยาวนะครับ แต่สไตล์ผมเขียนอ่านง่ายอยู่แล้ว

การถกเถียงตอนนี้ ในมุมมองของผม กลายเป็นเถียงกันวงแคบ เฉพาะเรื่องบอร์ด เรื่อง NGO เรื่องจัดซื้อยา เถียงไปเถียงมาก็มีข้อโจมตีว่า NGO หวงเก้าอี้บอร์ด ไม่อยากให้หน่วยบริการ (คือผู้แทน รพ.ต่างๆ 7 คน) เข้าไปนั่ง

ผมอธิบายแต่ละประเด็นอยู่เหมือนกัน แต่เรื่องสำคัญ คือต้องพาย้อนมองว่า 30 บาทรักษาทุกโรคของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่ผลักดันสำเร็จในรัฐบาลไทยรักไทย ต้องการแก้ปัญหาอะไร

นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่แค่รักษาฟรี แบบยังไงก็ได้ แต่ด้านที่หนึ่ง คือการแยก สปสช.ออกจาก สธ.มาเป็น "บริษัทประกัน" ที่รับเงินรายหัวจากรัฐบาลมาซื้อบริการให้ประชาชน ซึ่งก็มีหน้าที่ทั้งตรวจสอบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ในการให้รักษา และควบคุมการใช้จ่ายให้เหมาะสม ไม่ให้งบบานปลาย

ซึ่งถ้าหน่วยบริการ มาเป็นบอร์ด สปสช.มันจะเหลืออะไรเล่า ปัดโธ่ ตั้งแต่บอร์ดใหญ่ (ซึ่งก็มีผู้แทนแพทย์พยาบาลเภสัชหมอฟัน นั่งอยู่แล้ว 5 คนเท่า NGO) ไปถึงบอร์ดควบคุมคุณภาพ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน (ซึ่งก็มีผู้แทนแพทย์พยาบาลเพียบอีกนั่นแหละ ที่ผ่านมากว่าจะตัดสินว่าหมอรักษาบกพร่อง ก็ยากเย็นแสนเข็ญ ที่จริงแทบไม่มีด้วยซ้ำ)

ด้านที่สอง หมอสงวนต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ของระบบเดิม ซึ่งจ่ายงบแบบ รพ.ใหญ่ได้งบมาก รพ.เล็กก็ได้งบน้อย จึงเปลี่ยนมาใช้งบรายหัว ประชากรมากได้งบมาก ประชากรน้อยได้งบน้อย มันก็เกิดการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน

ตัวอย่างคลาสสิกคือ อ.กันทรลักษ์ ในปี 2544 มีประชากร 2 แสนเท่าสิงห์บุรีทั้งจังหวัด แต่มีหมอ 7 คน สิงห์บุรีมี รพท. 2 แห่ง รพ.ชุมชน 4-5 แห่ง หมอรวม 70 คน นโยบาย 30 บาทนี่มันเหี้ยจริงๆ คือเสือกให้งบเท่ากัน เพราะเห็นว่าคนกันทรลักษ์ก็เป็นคนไทยเท่าเทียมกับคนสิงห์บุรี คนกรุงเทพฯ คนในเมืองใหญ่ เมืองใกล้กรุงทั้งหลาย

พูดงี้ไม่ใช่คนสิงห์บุรีผิด แต่มันต้องบริหารจัดการกันใหม่ หลายพื้นที่เขาก็บริหารจัดการได้ แต่หลายพื้นที่แก้ไม่ได้ แล้วก็มาโวย "ขาดทุน" ซึ่งไม่ใช่ รพ.ส่วนใหญ่หรอก ไม่ได้บอกว่าไม่ช่วย ต้องช่วยกันแก้ปัญหาเป็นเฉพาะกรณีไป (สิบกว่าปีที่ผ่านมาก็มีการแก้ไขปัญหาโดยแยกเงินเดือนให้ไปก่อน แต่ สปสช.ก็ต้องหักคืน ตามสัดส่วน ผมอธิบายไว้โดยละเอียด)

การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ กลับจะให้แยกเงินเดือนออกจากค่าใช้จ่ายรายหัวไปเลย ซึ่งแปลว่า เฮ้ย รพ.ใกล้กรุง รพ.ที่คุณหมออยากอยู่เพราะใกล้บ้าน อยู่ในความเจริญ ก็จะมีบุคลากรได้ไม่อั้น แล้วบอกว่างบรายหัวยังจ่ายเท่าเดิม อ้าว ความเท่าเทียมเป็นธรรมล่ะ จะเอาไว้ที่ไหน อีกอย่าง จะเอางบมาจากไหน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทุกวันนี้ งบเงินเดือน 4.2 หมื่นล้าน หักจากงบรายหัว 1.5 แสนล้าน ถ้าแยกไปเลย ก็มี 2 อย่าง หนึ่ง ของบรัฐบาลเพิ่ม สอง ต้องลดงบรายหัวลง

นั่นละครับ 2 ประเด็นใหญ่ในความเห็นผม ซึ่งเรื่องแยกเงินเดือน ไม่ยักมีใครพูดกัน แบบว่าคนไม่ค่อยเข้าใจ และไม่ตระหนักในคุณูปการข้อนี้ของนโยบาย 30 บาท คิดแต่ว่ารักษาฟรี

ส่วนเรื่องซื้อยา ยังเป็นประเด็นรอง แต่ได้อธิบายว่า ที่ผ่านมา สปสช.จัดซื้อยาประหยัดงบได้มหาศาล ถ้า สธ.จะเอาไปซื้อเอง ก็ต้องซื้อได้ถูกเหมือนกันนะเมริง เอาไปเลย ถ้าไม่กลัวโดนตามจับทุจริตยาภาคสอง 555

อีกเรื่องคือข้อหา NGO สปสช.ไม่ได้ให้เงิน NGO ค้านเขื่อนค้านโรงไฟฟ้าอะไรแบบนั้น เงินที่ สปสช.ให้ราวปีละ 100 ล้านคือช่วยเหลือเครือข่ายผู้ป่วยโรคต่างๆ เคยเห็นเครือข่ายเอดส์ไหมครับ เขามีทุกอำเภอ เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งมาก เขาคอยช่วยเหลือกันและกัน ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ กับคนติดเชื้อด้วยกัน เช่นคนที่เพิ่งตรวจพบ HIV ก็รู้กันว่าต้องเสียขวัญ ท้อแท้ สติแตก ผู้ติดเชื้อจะสร้างกลุ่มสมาคมที่เป็นเหมือนเพื่อนใหม่ญาติใหม่ พยุงกันให้ต่อสู้ชีวิตอย่างเป็นภาระสังคมน้อยที่สุด

นี่ประสบการณ์จริง ญาติห่างๆ ผมคนหนึ่ง (แต่สนิทพอสมควร) ติดเชื้อ ผัวตายตอนตั้งท้อง เชื่อไหมว่า"มหัศจรรย์ 30 บาท" ตอนนี้ลูกอายุ 15 ไม่ติดเชื้อ เพราะหมอให้ยาต้านตั้งแต่ตรวจพบตอนไปฝากครรภ์ ตัวแม่ก็ยังแข็งแรง ทำนา ยังรับจ้างตัดอ้อย เขาเล่าให้ฟังว่าเครือข่ายของเขาเข้มแข็งมาก ช่วยเหลือกันอย่างดี ให้ความอบอุ่น ทั้งที่ตอนรู้ตัว แทบบ้าน

เครือข่ายเอดส์นี่ได้ปีละ 30 ล้าน กระจายลงไปก็ราวๆ อำเภอละ 4-5 หมื่น คือเดือนละ 4 พันเท่านั้นช่วยกิจกรรมผู้ติดเชื้่อ (ทั้งประเทศที่รับยาอยู่ตอนนี้ 3 แสนกว่าคน) ส่วนเครือข่ายอื่นๆ ก็มีโรคไต วัณโรค (เยอะ จำไม่ได้หมด)

แต่พวกนี้ไม่ได้งบมา 2 ปีแล้วครับ หลังจาก สปสช.โดน คตร.เข้ามาตรวจสอบ หาว่าใช้งบผิด รวมทั้งกรณีซื้อยา ทั้งที่ไม่มีอะไรทุจริต ว่าแล้วก็เด้งหมอวินัย เลขา สปสช.แต่พอ คตร.หาว่าไอ้โน่นก็ผิดไอ้นี่ก็ผิด ก็ยุ่งไปหมด ทำงานไม่ได้ ปิยสกลต้องไปขอประยุดออก ม.44 บอกว่าอะไรที่เคยทำมา ก็ให้ทำได้ต่อไป (แค่นั้นเอง ออก ม.44) แล้วให้รอแก้กฎหมาย แต่กฎหมายก็ออกมาอย่างนี้

ด้วยเหตุฉะนี้ ก็เลยมีบททิ้งท้าย สะใจไหมพี่ 555 เป่านกหวีดกันดีนัก ทั้งชมรมแพทย์ชนบท ทั้งพวกสารี อ๋องสมหวัง "รับค่ะ" (ปัจจุบันเป็นบอร์ด สปสช.สาย NGO) ทั้งหมอประทีป อดีตรองเลขา ผู้ถูกกีดกันไม่ให้นั่งเก้าอี้เลขา (พูดใน Hfocus หลังรัฐประหารใหม่ๆ ชื่นชมอำนาจพิเศษ)

เมื่อรัฐราชการเป็นใหญ่ มันก็เป็นเช่นนี้เอง อยากสมน้ำหน้า แต่ทำไงได้ 30 บาทเป็นเรื่องผลประโยชน์ประชาชน ความเท่าเทียมเป็นธรรม เรื่องนี้ก็ต้องยืนยัน (ถ้ายุบหรือตัดงบ สสส.กรูจะไม่ว่าเล้ย 555)
.....


ลิงค์บทความ...

การเมืองเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : แก้กฎหมายทุบหัวใจ 30 บาท ทำลายมาตรฐานและความเท่าเทียม
https://www.the101.world/thoughts/politics-of-universal-healthcare/