วันจันทร์, มิถุนายน 12, 2560

แอมเนสตี้ฯ จี้ทางการไทยปล่อยตัวผู้ต้องหาคดี 112





แอมเนสตี้ฯ จี้ทางการไทยปล่อยตัวผู้ต้องหาคดี 112


11 มิถุนายน 2017
ที่มา BBC Thai

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีอาญาทุกรูปแบบต่อบุคคล รวมทั้งปล่อยผู้ที่ถูกจับกุมหรือต้องโทษจำคุก ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากขัดต่อหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

นี่เป็นอีกครั้งที่แอมเนสตี้ฯ ต้องออกแถลงการณ์แสดงความเป็นกังวลอย่างยิ่ง ต่อสถานการณ์ในไทยที่ทางการปราบปรามและดำเนินคดีต่อบุคคล ซึ่งใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งทางการไทยยังคงมีการดำเนินการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง

แถลงการณ์ดังกล่าวของแอมเนสตี้ฯ มีขึ้นหลังจากในวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกมาพร้อมกันสองคดี ที่เกี่ยวกับการโพสต์และแชร์ข้อความเป็นการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์

โดยในคดีแรก ศาลทหารกรุงเทพได้พิพากษาจำคุกนายวิชัย ไม่เปิดเผยนามสกุลเป็นเวลา 35 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า สร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมโดยใช้ชื่อบุคคลอื่น และโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยมีความผิดรวมทั้งหมด 10 กรรม แยกกัน เมื่อรวมอัตราโทษทั้งหมดแล้ว นายวิชัยต้องโทษจำคุกรวม 70 ปี แต่เพราะนายวิชัยให้การรับสารภาพ จึงได้รับการลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง คือ 35 ปี

ในวันเดียวกัน ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุกนายเฉลียว ไม่เปิดเผยนามสกุล เป็นเวลา 5 ปี แต่เนื่องจากนายเฉลียวให้การรับสารภาพ จึงได้รับการลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งคือ 2 ปีกับอีก 6 เดือน สำหรับการพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์ก่อนหน้านี้ นายเฉลียว ถูกพิพากษาเพิ่มโทษจากเดิมที่ถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 3 ปี เป็น 5 ปี เนื่องจากเขากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากเจ้าหน้าที่ค้นพบคลิปเสียงที่เขาดาวน์โหลดลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยที่คลิปเสียงดังกล่าวถูกตรวจพบในระหว่างที่เขาถูกจับกุมไปพร้อมกันกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้ไปรายงานตัวและปรับทัศนคติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อปี 2557





ขอให้ยุติการริดรอนสิทธิเสรีภาพการสื่อสารออนไลน์

แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการแสวงหาวิธีการเพื่อควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางสื่อออนไลน์ ด้วยการตรวจสอบและการดำเนินคดีต่อบุคคล ที่แชร์ ที่อัพโหลด หรือนำเข้าข้อความ หรือแม้แต่การกดไลค์ ซึ่งมีการระวางโทษไว้ค่อนข้างรุนแรง

เช่น เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีความต้องการให้ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ให้ถอดข้อความ หรือ เซนเซอร์เนื้อหา ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามอาจจะถูกลงโทษทางกฎหมาย

แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องไปถึงศาลในไทยไม่ให้มีคำสั่งศาลที่จะสร้างความขัดแย้งกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

...