https://www.facebook.com/knowless.th/videos/236388683518972/
...
Petitioning ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
เพื่อนเพื่อนของ 'มีนา' . Thailand
เราต้องการพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะใจกลางเมืองสำหรับทุกคน
ชีวิตในเมืองวันนี้คุณไปไหนได้บ้าง?
Lifestyle ทุกวันนี้ มีอยู่แค่ไม่กี่อย่าง ไปกินข้าว ดูหนัง ช็อปปิ้ง มีแต่สถานที่ที่เราต้องเสียเงินตลอดเวลา เพราะกลางเมืองเรามีแต่พื้นที่เพื่อการพาณิชย์ พื้นที่ของห้างสรรพสินค้าเท่านั้น
ถึงแม้ห้างจะเป็นสถานที่อำนวยความสะดวกที่ดีมากก็จริงแต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ทุกอย่างในชีวิตได้ แล้วนอกจากเดินห้าง เรายังมีตัวเลือกในการใช้ชีวิตนอกเวลางานอีกรึเปล่า?
ยิ่งเมืองเจริญขึ้นเท่าไหร่ สิ่งก่อสร้างที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว คือ ที่ช้อปปิ้ง ทั้งที่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือสถานที่พัฒนาคน เราควรจะมีตัวเลือกกิจกรรมใหม่ๆ ที่ เปิดโอกาสให้ชีวิตยุคนี้มากขึ้นรึเปล่า?
โลกอนาคตผลักเราให้ต้องปรับตัวตลอดเวลา
ลองคิดดูนะครับ ด้วยความรู้ที่คุณมีทุกวันนี้ คุณคิดว่าคุณมีโอกาสตกงานกี่เปอร์เซนต์?
เมื่อเปิด Facebook คุณจะเห็นเลยว่าเทคโนโลยีล้ำหน้าแค่ไหน หุ่นยนต์เล่นโกะชนะมนุษย์, ไม่ต้องดูหนังหรือออกท่องเที่ยว เราก็เห็นภาพเสมือนจริงได้จาก VR, เรามีรถที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน และต่อไปก็จะมีรถที่ไร้คนขับ,กระทั่งอาชีพนักเขียนยังไม่ปลอดภัย เพราะสมองกลก็แต่งหนังสือได้แล้ว
โลกอนาคตกำลังฆ่าปัจจุบัน และถ้าเราไม่ปรับตัว มันจะฆ่าอาชีพของเราทิ้ง เหมือนที่มันฆ่าอาชีพพนักงานพิมพ์ดีดหรืออาชีพส่งโทรเลข สิ่งเดียวที่ช่วยให้เรารอดพ้นได้คือการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แทนที่วิทยาการเดิม พื้นที่เรียนรู้สาธารณะสำหรับคนทุกช่วงวัยเป็นสิ่งจำเป็น เราไม่ได้แค่ต้องเรียนรู้เพื่อให้มีงานทำ แต่ความรู้มวลรวมของประชาชนส่งผลต่อทั้งชาติ
ประเทศไทยไม่เคยก้าวพ้นการเป็น”ประเทศกำลังพัฒนา”
ประเทศมากมายในอเมริกาใต้และเอเชีย รวมถึงประเทศไทยกำลังติดกับดักรายได้ปานกลาง (middle-income trap) เราพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็วในช่วงแรก แต่ไม่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดไปสู่การมีรายได้สูง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือไต้หวัน เพราะขาดปัจจัยด้านเทคโนโลยี เงินทุน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หลายสิบปีที่ผ่านมา เราจึงเคยชินกันการเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศโลกที่ 2 แน่นอนว่ารัฐบาลรู้เรื่องนี้ดี โมเดลไทยแลนด์ 4.0 จึงเกิดขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคใหม่ เราควรขับเคลื่อนชาติด้วยนวัตกรรม พัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
เริ่มต้นที่ทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม
ในฐานะประชาชนคนไทย ผมก็อยากให้การเปลี่ยนแปลงที่ดีนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยของเรา แต่ปัญหาพื้นฐานที่ประชาชนธรรมดาอย่างผมพบเจอ คือคนที่เข้าถึงการศึกษาชั้นเยี่ยมได้มีจำกัด ยิ่งต้นทุนชีวิตน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสียเปรียบมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย การพัฒนาตัวเองเพื่อยกระดับชีวิตก็ยากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางความรู้ต้องเริ่มแก้ที่การศึกษา ไม่ใช่แค่ปรับปรุงคุณภาพสถาบันการศึกษาให้เท่าเทียมกัน การเรียนรู้ไม่ควรจำกัดแค่ที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เด็กหรือผู้ใหญ่ควรเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น ค้นคว้าสิ่งที่สนใจ และออกแบบการเรียนรู้ในแบบที่ตัวเองต้องการได้ มันน่าจะมีสถานที่รองรับการพัฒนาของประชาชน ไม่ใช่ห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์เฉพาะด้าน แต่เป็นคลังความรู้และทักษะสาธารณะขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้ประชาชนทุกช่วงวัยอยากเข้าไปใช้ กระตุ้นให้ทุกคนพัฒนาตนเองได้เต็มประสิทธิภาพ สถานที่นั้นคือ National Knowledge Center หรือศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ ที่ๆ เด็กและเยาวชนได้ค้นหาความถนัด ผู้ใหญ่ได้ฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถ ติดปีกให้ก้าวหน้าทางการงานหรือเปลี่ยนสายอาชีพ ครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างเพลิดเพลินและมีประโยชน์
เมืองที่ดีต้องส่งเสริมให้คนได้เรียนรู้
หลายเมืองในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย หรือในฮ่องกงใช้แนวคิดออกแบบเมืองแบบ Transit-oriented development (TOD) คือพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานีขนส่งมวลชนให้มีความหลากหลาย เดินเท้าถึงกันได้สะดวก และบริเวณนั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่สาธารณะหรือ public space ที่ออกแบบอย่างดี ให้คนใช้พื้นที่ร่วมกัน ขณะที่ในประเทศไทย รถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงเทพมหานครขยายผังออกไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาไม่หยุดคือคอนโดและห้างสรรพสินค้า กายภาพของเมืองขาดสมดุล เราขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับให้ความรู้ กิจกรรมประจำวันของคนเมืองจึงไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นการกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง ชอปปิ้ง ดังนั้นศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติจำเป็นต้องเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงสะดวก ออกแบบให้ทันสมัยลงตัว มีเนื้อหาหรือกิจกรรมตอบโจทย์ผู้คน เพื่อดึงดูดให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากทางเลือกใหม่นี้มากที่สุด
knowledge center คือเครื่องมือแก้ปัญหาและพัฒนาคนของหลายประเทศ
ตัวอย่างของ Knowledge Center แต่ละประเทศแตกต่างกันไปตามปัญหาของพื้นที่ ศูนย์การเรียนรู้ในแต่ละเมืองจึงออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาของที่นั้นๆ เช่น Knowledge Capital ที่เมือง Osaka มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคน จึงมีกิจกรรมให้ผู้รู้มาแชร์ความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือข้อมูลด้านต่างๆ กับคนทั่วไปได้ฟรี, ส่วนที่เนเธอร์แลนด์ประสบปัญหาวัยรุ่นว่างงาน จึงสร้างศูนย์ Dynamo ที่เมือง Eindhoven ให้เด็กและเยาวชนเล่นดนตรี กีฬา ทำงานศิลปะ และร่วมเวิร์กช็อปต่างๆ เพื่อหาความถนัดในสายอาชีพต่อไปในอนาคต, และที่เดนมาร์ก ประชาชนมีพฤติกรรมเฉื่อยชา สุขภาพไม่แข็งแรง จึงมีการสร้าง Ku.be หรือ House of Culture and Movement สถาปัตยกรรมที่มีทั้งเขาวงกต สไลเดอร์ ตาข่าย หน้าผา ทำให้คนที่มาร่วมเล่นกีฬา เสวนา ดูงานศิลปะ เต้น ทำกิจกรรมเวิร์กชอปหมุนเวียนต่างๆ ได้ออกกำลังกายและออกกำลังสมองไปพร้อมกัน จะเห็นได้ว่า Knowledge Center มีความแตกต่างหลากหลาย การสร้างศูนย์การเรียนรู้ในไทยจึงมีความเป็นไปได้หลายรูปแบบมาก
กล่าวโดยสรุป การสร้าง National Knowledge Center หมายถึงการมอบเสรีภาพในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ประชาชน เราอาจไม่สามารถเลือกโรงเรียนที่โปรดปรานที่สุด สถาบันการศึกษาที่ถูกใจที่สุดให้ตัวเองหรือคนที่เรารักได้ แต่ National Knowledge Center ใจกลางเมืองคือโอกาสที่สองของเรา และลูกหลานของเราในอนาคต
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://gizmodo.com/robots-are-already-replacing-human-workers-at-an-alarmi-1793718198
https://laymaneconomicsblog.wordpress.com/2016/03/08/%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87-middle-income-trap/
https://www.forbes.com/forbes/welcome/?toURL=https://www.forbes.com/sites/margiewarrell/2014/02/03/learn-unlearn-and-relearn/&refURL=&referrer=#4736ecf676fe
https://www.linkedin.com/pulse/importance-continuous-learning-new-skills-someone-mid-career-imani
http://www.tod.org/certification/howitworks.html
This petition will be delivered to:
ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ
ooo
เรื่องเกี่ยวข้อง...
ooo
เรื่องเกี่ยวข้อง...
วงวิชาการเดือด! ตามหา “มีนา โชติคำ”มีตัวตนหรือไม่? วิพากษ์หนักคลิป”พื้นที่เรียนรู้” แนะอย่าเริ่มด้วยการหลอกคน
https://www.matichon.co.th/news/582193