เกินคาด ทั้งเดอะสแตนดาร์ดและด็อกเตอร์เสกสรรค์
ครานี้ทั้งคู่จัดเต็มเรื่องการเมืองไทยยุค ๔.๐ จากปาฐกถาที่ท่าพระจันทร์เมื่อ ๑๙
มิถุนา ยาวมากและเนื้อเยอะ โดยลงเอยว่า
“ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตน” อีกครั้ง “และฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัฒน์ได้สำเร็จ”
ก่อนอื่น ทำไมถึง ‘เกินคาด’ สำหรับเดอะสแตนดาร์ด
ฟอร์มใหญ่และขวดใหม่ (เหล้าเก่า) เพิ่งเปิดตัวไม่นาน พอออกเดินนวยนาดก้าวพลาดจากพรมแดงไปเหยียบกระถางดอกไม้ข้างทาง
เลยโดนคนดูปาไข่ (ไม่เน่า) ใส่หน้าหลายฟอง
แม้จะถอนชื่อนักเขียนกิติมศักดิ์คนนั้นออกไป (เพราะเจ้าตัวเองก็หลบไข่
บอกยังไม่ได้รับเชิญ) กระนั้นยังขาแพลงไม่หาย ทำให้ under performance ไปเล็กน้อย
ผีซ้ำดั้มพลอย เจอนักมวยรองบ่อน ‘ดับเบิ้ลสแตนดาร์ด’ ซึ่งเป็นเดอะสแตนด์อัพคอมิคตัวจริง ทั้งซัดทั้งเบียดแซงเสียเกือบตกรันเวย์
เดชะบุญได้ปาฐกถา ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มาเยียวยาได้ทัน
นักวิชาการ ‘เดือนตุลา’ คนนี้ ช่วงที่ผ่านมาทำตนเป็นนักวิชาการเฉยๆ
เหมือนอยู่ในบรรยากาศ ‘เดือนต่ำดาวตก’ เสียตั้งสามปี
หรือจะเป็นเช่นที่เจ้าตัวพูดเองว่าเขา “ใช้วัยชราอยู่ในความเงียบสงัด”
นั่นจากโคว้ตของบีบีซีไทย http://www.bbc.com/thai/thailand-40324610?ocid=socialflow_facebook
ซึ่งเก็บเนื้อความอันยาวเหยียดมาย่อยเป็น ‘๘ วรรคทอง’ จาก ดร.เสกสรรค์
ที่จริงยังมีรายงานเป็นทางการอย่างละเอียด ปาฐกถาเรื่อง
‘การเมืองไทยกับสังคม ๔.๐’ จากงานเสวนา ‘Direk’s Talk ทิศทางการเมืองโลก การเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ’ จัดโดย ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ
ห้อง ร.๑๐๓ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์ ที่หน้าเฟชบุ๊ค Direk Jayanama Research Center ด้วย
เนื้อหามากมายจากนักวิชาการ ‘ไม่แดง’ คนนี้ ควรที่จะได้สัมผัสกันในหมู่ผู้ที่ยังยึดมั่นประชาธิปไตย ที่ไม่ต้อง ‘ยั่งยืน’ แต่กลับยืดเวลา ไม่ใช่ครึ่งใบ
และไม่จำเป็นต้องหางยาว
ดร.เสกสรรค์ เปิดฉากด้วยการ ‘set the record straight’ จัดวางความจริงให้อยู่กับที่กับทาง เรื่องที่ถูกกรอกหูกันเสียจนคนที่พูดปดเองนึกว่ามันคือความจริง
จากวาทกรรม “นักการเมืองที่เคยกุมอำนาจโดยผ่านระบบเลือกตั้งล้วนเป็นคนไม่ดี ส่วนคนที่อยู่บนเวทีอำนาจด้วยวิธีอื่นล้วนไม่ใช่นักการเมือง ดังนั้นจึงเป็นคนดี”
ว่าไม่เพียงแต่ขัดกับหลักวิชาเท่านั้น “หากยังขัดกับธรรมชาติของความจริง เพราะที่ไหนมีอำนาจ
ที่นั่นก็มีการเมือง และมีคนเล่นการเมือง อันนี้เป็นเรื่องที่รู้กันมาตั้งแต่สมัยสามก๊กแล้ว”
ต่อปัญหาวิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง ๒๕๕๖-๒๕๕๗ นั้น เสกสรรค์บอกว่า “ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างมวลชนที่ใส่เสื้อสีต่างกันเท่านั้น
หากยังกินลึกไปถึงความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำเก่าจากภาครัฐ
กับชนชั้นนำใหม่ที่โตมาจากภาคเอกชนและขึ้นสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง โดยฝ่ายแรกคุมกลไกรัฐราชการ ฝ่ายหลังมีมวลชนเรือนล้านเป็นฐานเสียงสนับสนุน”
จึงสังเกตุได้ว่า “หลังรัฐประหารปี ๒๕๕๗ แทนที่รัฐบาลทหารจะรีบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมวลชนเสื้อสี กลับเดินหน้ากำหนดนโยบายต่างๆ
ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันประเทศไทยให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของตน...
รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ อันเป็นผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่าชนชั้นนำภาครัฐต้องการทวงคืนและรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ในเวทีอำนาจไว้อย่างถาวร...
ดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๑ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งแบบเดิมให้เป็นระบบใหม่ที่เรียกว่า ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ ซึ่งจะทำให้อิทธิพลของพรรคใหญ่ถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญ”
ดร.เสกสรรค์กล่าวถึงบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดขั้นตอนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์แห่งชาติ
“อันนี้หมายถึงว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบจะกำหนดนโยบายอะไรเพิ่มไม่ได้เลย และอาจจะต้องกลายเป็นผู้สืบทอดนโยบาย คสช.เสียเอง”
ยิ่งกว่านั้นการกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก “จนถึงขั้นเกือบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ร่างมีวัตถุประสงค์จะตรึงโครงสร้างอำนาจดังกล่าวไว้ให้นานแสนนาน”
แทบไม่น่าเชื่อว่าเสกสรรค์
(กล้า) เข้าไปแตะถึงผลการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๙ ที่มีคนเห็นชอบ
๑๖ ล้าน ๘ แสน ไม่เห็นชอบราว ๑๐ ล้าน ๕ แสนคน
เขาอ้างถึงการเลือกตั้งที่ถูกล้ม
(โดยเครือข่ายและนั่งร้านของทหาร เช่น กปปส. และภาคประชาสังคม) เมื่อต้นปี ๕๗
ว่ามีคนไปใช้สิทธิเพราะต้องการเลือกตั้งถึง ๒๐ ล้านคน ทำให้ตีความได้ว่า
“การที่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ สอบผ่านประชามติ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนจำนวนมหาศาลแอบคิดต่างอยู่เงียบๆ”
เหล่านั้นคือพื้นฐานทางการเมืองและกำหมายสำหรับประเทศไทยยุค
๔.๐ ซึ่งเสกสรรค์ตั้งคำถามว่า “คนไทยพร้อมแค่ไหนในการก้าวกระโดดไปสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจ ๔.๐”
เขาชี้ให้เห็นตัวเลขแรงงานไทย
๔๐ เปอร์เซ็นต์สูงอายุ (เกินสี่สิบ) ๕๐ เปอร์เซ็นต์เรียนหนังสือไม่เกินชั้นประถม “ในเมื่อแรงงานครึ่งหนึ่งอายุมากและมีการศึกษาน้อย การปรับตัวยกระดับทักษะให้เป็นแรงงาน ๔.๐ คงทำได้ยากทีเดียว”
เขาพูดถึงยโยบาย ‘ประชารัฐ’ ของ คสช.
ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการยึดคืนอำนาจนำจากนักการเมืองเลือกตั้ง “นโยบายประชารัฐจึงมีนัยทางการเมืองสูงมาก” เขาว่า
“เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างภาครัฐ
ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน เคลื่อนไหวลงสู่มวลชนระดับฐานราก ซึ่งทับซ้อนกับฐานเสียงของนักการเมือง ถ้าเรื่องนี้ทำสำเร็จก็อาจจะส่งผลให้การเมืองภาคตัวแทนกลายเป็นโมฆะได้”
เสกสรรค์ยัง ‘เกินคาด’ ที่ก้าวเข้าไปอ่านใจพรรคการเมืองบางพรรค
“ฉากหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งผนึกกำลังกันหนุนผู้นำจากกองทัพ ทั้งเพื่อกีดกันพรรคที่เคยชนะพวกเขาในการเลือกตั้งหลายครั้งหลัง และชิงส่วนแบ่งทางอำนาจมาไว้กับตน แม้จะต้องเล่นบทพระรองก็ตาม”
ดังนั้น “การเมืองในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ จึงมีแนวโน้มที่จะไปได้ทั้งสองทาง คือทางแรก
นักการเมืองเล่นบทหางเครื่อง คอยผัดหน้าทาแป้งให้กับชนชั้นนำภาครัฐที่จะกุมอำนาจต่อในฐานะรัฐบาลประชาธิปไตย...
ทางที่สอง พรรคการเมืองส่วนใหญ่ผนึกกำลังกันทำหน้าที่ฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ โดยมีข้อเสนอแนะหรือข้อโต้แย้งเชิงนโยบายที่แตกต่างจากแนวคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม อันนี้ถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นปรากฏการณ์ที่เร้าใจยิ่ง”
ข้อหลังนั่นเห็นท่าจะยิ่งกว่ายาก
จากท่าทีของพรรคการเมืองที่กำลังตั้งท่าจะเล่นบท ‘หางเครื่อง’ ให้กับพรรคทหาร อีกอย่าง คำว่า ‘เกี๊ยเซี้ย’ ที่ ดร.เสกสรรค์อ้างถึง น่าจะเป็นคำที่
อจ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นำมาใช้ในบริบทการเมืองเป็นรายแรก โดยมี อจ.นิธิ
เอียวศรีวงศ์ ร่วมแจม
ปิดท้าย ‘เสกสรรค์’
ทิ้งประโยคที่เป็นหมุดหมายสำคัญในทางการเมืองไทยศตวรรษที่ ๒๑ ที่ใช้หลักรัฐศาสตร์อธิบายสภาพทางการปกครองแบบศตวรรษที่
๑๘ ได้อย่างเหมาะเจาะว่า
“ในวันนี้ ชนชั้นนำภาครัฐได้กลับมาสถาปนาอำนาจนำของตน
และฟื้นบทบาทของรัฐราชการในยุคโลกาภิวัตน์ได้สำเร็จ”