วันอาทิตย์, มิถุนายน 25, 2560

'ร่วมจ่าย' มีไว้เพื่อทำให้ 'ไม่เป็น' หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกต่อไป :ใบตองแห้ง

'ร่วมจ่าย' ฟังดูดี ถ้าฟังแต่ที่ วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการแก้กฎหมายบัตรทอง อ้าง

เรื่องร่วมจ่ายมาตรานี้ ให้คงไว้เป็นความคล่องตัวสำหรับอนาคต อาจให้คนรวยร่วมจ่าย คนยากไร้จะได้ประโยชน์”

"ฟังเหมือนถูกใช่ไหม" แต่ 'ในความเป็นจริง' ดังที่ 'ใบตองแห้ง' เขามองเห็น 

"ถามจริง คนรวยใช้บัตรทองหรือ เอาเข้าจริง คนที่ต้องร่วมจ่ายก็น่าจะเป็นชาวบ้านทั่วไป คนระดับกลางๆ ล่างๆ คละเคล้ากันไป เพราะยกเว้นคนมั่งคั่ง ๑% (ซึ่งเผลอๆ ก็ย่องมาใช้สิทธิพ่อแม่ลูกข้าราชการ) 

คุณแยกคนรวยคนจนได้อย่างไร ท้ายที่สุดก็อาจใช้ 'ลงทะเบียนคนจน ๑๔ ล้านคน' รักษาฟรี แล้วให้อีก ๓๔ ล้านคนร่วมจ่าย”

(https://www.khaosod.co.th/politics/news_414951)

"อย่าลืมนะครับ ก่อนมี ๓๐ บาท คนจนก็รักษาฟรี แต่ใช้ระบบสงเคราะห์ด้วยความเมตตาของทางราชการ ๓๐ บาททำให้คนจนยืดอกพกบัตรทองไปใช้สิทธิที่เรียกร้องได้ สวัสดิการที่รัฐบาลเลือกตั้งมอบให้ ถ้าทำลายสิทธิเท่าเทียม มีขั้นมีชั้น มันก็ย้อนไปเหมือนเดิม"

เขาขยายความเพิ่มเติม "การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เอาใจบุคลากรสาธารณสุข ประเด็นใหญ่ คือหนึ่ง ไม่พอใจ สปสช.ควบคุมมาตรฐานการรักษาและเบิกจ่าย จึงอยากเข้าไปมีอำนาจเหนือบอร์ด ให้ร.พ.เบิกได้ตามต้องการ ไม่ใช่ตามราคาที่เหมาะสม

สอง ไม่พอใจระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เอาค่าใช้จ่ายรายหัวคูณจำนวนประชากร มาจำกัดจำนวนบุคลากรของร.พ. จึงต้องการให้แยกเงินเดือน

ทั้งสองเรื่องจะทำให้งบบานปลาย แต่พวกท่านคิดไว้ล่วงหน้าแล้วไง
step ต่อไป เมื่องบไม่พอ ก็อาจรักษาฟรีแค่ ๑๔ ล้านคน อีก ๓๔ ล้านคนให้ร่วมจ่าย”

เบื้องลึกยังมีมากกว่านั้น "ถ้ามองอย่างทำความเข้าใจ ปัญหาของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ติดตัวมาแต่เกิด ก็คือทำให้เกิด 'เสือสองตัว' ในระบบสาธารณสุข 

แบบที่ฝ่ายหนึ่งเพิ่งบ่นน้อยอกน้อยใจเป็น 'มดงาน' แล้วประชาชนคือสิงโต ก็ไปจ้าง 'แมลงสาบ' มาเป็นเจ้านาย

กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บังคับบัญชา ร.พ. แต่รายได้หลักของ ร.พ.มาจาก สปสช.ซึ่งจ่ายเบี้ยประกันรายหัวตามหลัก 'ทำงานมากได้มาก ทำงานน้อยได้น้อย' 

กระทรวงมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย บรรจุ เลื่อนขั้น แต่ร.พ.ถูกตรึงด้วยงบรายหัว ให้มีบุคลากรเหมาะสมกับประชากร มีมากก็ 'ขาดทุน' แถมร.พ.ต้องบริหารค่าใช้จ่ายเอง แพทย์ก็ต้องรักษาตามเกณฑ์ทั้งคุณภาพราคาแล้วส่งบิลมาเบิก 'บริษัทประกัน'

ไม่แปลกเลยที่บุคลากรสาธารณสุขอึดอัดคับข้อง โกรธ สปสช.หาว่าเป็น 'พ่อค้าคนกลาง' 'กินหัวคิว' รุมโจมตีแบบทำลายล้าง โดยมีธุรกิจยา ธุรกิจประกัน ธุรกิจ ร.พ.เอกชน และแพทย์พาณิชย์ ผสมโรง"

ใบตองแห้งบอกว่าความต้องการแก้กฎหมายของ สธ. มันเนื่องมาจาก งบฯ ไม่ค่อยพอ "ปัจจุบัน ๑.๖ แสนล้านเพิ่มเป็น ๒.๕ แสนล้านอาจไม่พอ งั้นทำไง ร่วมจ่ายสิ ชาวบ้านต้องร่วมจ่าย เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุขทำงานรับใช้ท่านอย่างมีความสุข...

แค่สงสัยอย่างเดียว ทำไมไม่ยุบ สปสช.โอนอำนาจกลับกระทรวงให้หมดเลย อ้าว พูดจริงนะ เพราะมีหลายคนเห็นพ้องว่าปัญหาอยู่ที่ 'เสือสองตัว' นี่แหละ"

ทางแก้คือ "ต้องยุบทิ้งซักองค์กร เพียงแต่ผมคิดสวนทาง ยุบกระทรวงเลยดีกว่า" แต่ "เฮ้ย ยุบกระทรวงได้ไง

ได้สิครับ ความหมายคือแยกร.พ.เป็นอิสระ อาจเป็นองค์กรมหาชนแบบร.พ.บ้านแพ้ว หรือออกนอกระบบเป็นกลุ่ม ยึดโยงจังหวัด ท้องถิ่น บริหารจัดการตัวเอง ดึงท้องถิ่นดึงประชาชนมีส่วนร่วม แบบ 'ร.พ.ประชารัฐ' ที่น้ำพอง ซึ่งกระทรวงคุยนักหนานั่นละ 

เพราะอันที่จริง ทิศทางที่หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ วางไว้คือ 'กระจายอำนาจ' แต่มันไปไม่สุด

แล้วกระทรวงทำอะไร ก็ทำงานนโยบาย ดูภาพกว้าง เช่น กรมควบคุมโรค งานวิชาการ เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อันไหนไม่จำเป็นก็ยุบทิ้งซะ เกลี่ยบุคลากรลงพื้นที่ ในเมื่อไม่ได้รักษาคนไข้จะใหญ่โตอยู่ได้ไง

แต่นั่นคือทิศทางของรัฐประชาธิปไตย รัฐราชการเป็นใหญ่ไม่เอาแน่ รักษาระบบราชการไว้ ให้ชาวบ้านร่วมจ่ายดีกว่า"

ตานี้ ถึงทีชาวบ้านละ ว่าไง