ถึงที่สุดแล้วไก่อูแก้ให้ได้หมด
โครงการสร้างหอชมเมืองสูงที่สุดในหมู่ประเทศอาเซียน
ที่วิจารณ์กันมาสองสามวันว่าอะไรกันตั้ง ๗,๖๐๐ ล้านบาท โดยไม่ต้องมีการเปิดประมูล
ประเทศชาติยังไม่จำเป็นต้อง ‘ชมเมือง’ บนหอสูงที่สุด
จุดชมเมืองบนชั้นดาดฟ้าของตึกไฮไร้ส์ในกรุงเทพฯ ก็มีอยู่แล้วหลายแห่ง
แม้นสร้างจริงราคาอยู่ที่ราว ๔ พันล้านบาทกว่าๆ เท่านั้น
ผู้คนจึงสงสัยเรื่องส่วนต่างเงินทอน
โอเค ไก่อูว่างี้ ค่าก่อสร้างลงตัวแล้วอยู่ที่ ๔,๔๒๒.๙๖
ล้านบาท บวกค่าเช่าที่ของราชพัสดุ ๔ ไร่ ตรงถนนเจริญนครเป็นเวลา ๓๐ ปีอีก ๑๙๘.๕๑
ล้านบาท รวมแล้วก็แค่ ๔,๖๐๐ ล้านกว่าๆ เท่านั้น
ตัดเรื่องส่วนต่างออกไปได้
แต่ก็ยังไม่ต้องมีประมูล เพื่อความว่องไว แถมโครงการนี้โคตรไฮเทคอีกด้วย
ต้องรีบหน่อย มัวแต่เปิดประมูลเดี๋ยวล่าช้า รัฐบาล คสช.ซะอย่าง อ้างอะไรก็ใสไปหมด
อีกข้อที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
อุตส่าห์ออกมาชี้แจงให้กระจ่างว่า “งบที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นงบประมาณของมูลนิธิฯ
และอีกส่วนก็เป็นการลงขันระหว่างธุรกิจภาคเอกชน ไม่มีงบของรัฐแม้แต่บาทเดียว”
เอาแค่สองข้อนี้ก่อน
ที่ว่ากระจ่างมันแจ้งเฉพาะด้านที่โดนแสงส่อง ด้านหลังยังสลัวๆ อย่างไรพิกลอยู่
เรื่องที่ดินก่อสร้างเป็นของราชพัสดุให้เช่าตั้ง ๓๐ ปี แค่
๑๙๘ ล้าน มีคนเขาบอกว่า “ปีละ ๖.๖ ล้านบาท ภาษาชาวบ้านก็คือค่าเช่าถูกเป็นขี้เลย”
(as
per Thuethan Prasobchoke)
อีกคนตั้งข้อสงสัย “ทำไมเอกชนเช่าที่ราชพัสดุ
ซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน โดยไม่ใช้วิธีการประมูล” ทั้งที่กฏกระทรวง
พ.ศ.๒๕๔๕ ว่าด้วยที่ราชพัสดุ ข้อ ๒๖ กำหนดให้ใช้วิธีการประมูล (ขอบคุณ Apichat Pongsawat)
ไม่แต่เท่านั้น ที่ราชพัสดุตรงนั้นมันติดกับที่ของโครงการ ‘Icon Siam’ สร้างตึกระฟ้าคู่กันสองแท่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาพอดี แถมยังจะมีรถไฟฟ้าสายสีทองวิ่งฝ่าเกาะรัตนโกสินทร์มาเทียบในไม่ช้า
“สำหรับรายละเอียดแนวเส้นทางโครงการ
มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกรุงธนบุรี วิ่งไปตามถนนกรุงธนบุรี
เลี้ยวเข้าถนนเจริญนคร ผ่านวัดสุวรรณาราม แนวเส้นทางเกาะไปตามถนนเจริญนคร
ถนนเจริญรัถ จนถึงแยกคลองสาน และมาสิ้นสุดบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน
โดยมีจำนวน ๓ สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี สถานีไอคอนสยาม
และสถานีคลองสาน ใช้เงินลงทุนกว่า ๒,๐๘๐ ล้านบาท
โดยมีภาคเอกชนคือกลุ่มไอคอนสยามของตระกูลเจียรวนนท์
และพันธมิตรสนับสนุนเงินค่าก่อสร้างโครงการ”
แล้วโครงการไอคอนสยามนี่เป็นของบริษัทสยามพิวรรธน์
ที่บังเอิญมีนายพนัส สิมะเสถียร
ซึ่งเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีเอี่ยวเกี่ยวดองเพราะ
‘ทรัพย์สินฯ’ ถือหุ้นใหญ่
เรื่องนี้ต้องไปดูข้อมูลที่ สศจ. เก็บมาโพสต์ว่า
“ผู้ถือหุ้นใหญ่ บ.สยามพิวรรธน์ อันดับแรก ๓๐% เป็นของบริษัท MBK สามอันดับต่อมา
๔๕% เป็นทุนสถาบันกษัตริย์ (พระเทพฯ ๒๐% สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ๑๐%
ธนาคารไทยพาณิชย์ ๑๐%)
ชื่อเดิมของบริษัทคือ ‘บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส์’
ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาที่ดินบริเวณวังสระปทุมซึ่งเป็นทรัพย์สินของในหลวงภูมิพล
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สยามพิวรรธน์’ ซึ่งเป็นชื่อที่พระเทพฯ พระราชทาน”
ข้อสำคัญนายพนัส สิมะเสถียร
คนนี้แกเป็นประธานมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพฯ ที่ไก่อูแจ้งว่าเป็นผู้ลงทุนไม่ต้องแตะเงินงบประมาณของรัฐนั่นละ
ยังมีข้อเท็จจริงที่ไก่อู่แถลงรวบรัด บอกไม่หมด เวลาไม่พอ
อีกว่า มูลนิธิหอชมเมืองนี้ ตั้งขึ้นในปี ๒๕๕๗ มีวัตถุประสงค์หลักในการ
“ก่อสร้างและบริหารวัตถุเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร” จากนั้นมีการปรับแก้
เปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เรื่อยมาจนมาลงที่
“ก่อสร้างและบริหารหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” เป็นวัตถุประสงค์หลักเมื่อ มกรา ๖๐
กรรมการมูลนิธิฯ อันดับหนึ่งถึงสี่
มาจากผู้บริหารบริษัทในเครือซีพี อาทิ แม็กโนเลีย ควอลิตี้ ดีซี พร้อพเพอร์ตี้
และบริษัทสยามพิวรรธน์ และให้พนัสเข้าไปเป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ
(รายละเอียดลงลึกกว่านี้ดูที่ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9600000065956)
จนเมื่อต้นเดือนมิถุนานี้เอง มูลนิธิฯ
ได้ขอกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ ๒,๕๐๐ ล้านบาท
เพื่อนำมาใช้ก่อสร้างโครงการหอชมเมือง แต่ธนาคารตรวจสอบข้อบังคับแล้วให้กู้ไม่ได้
มูลนิธิฯ ก็เลยไปแก้ไขระเบียบของตนเองให้กู้ได้
ธนาคารจึงต้องไปถามกรมการปกครองว่าเขาทำอย่างนี้ได้บ่
กรมการปกครองบอก ฮ้อ ไปโลด ไก่อูถึงได้ออกมาแถลงว่าทุกอย่างสดใสไง
ทั้งนี้ทั้งนั้น โครงการระฟ้าอย่างนี้มันต้องมีอะไรมากกว่า
‘ทรัพย์สินฯ’ มีเอี่ยวสิ
อ่อใช่ โครงการระบุว่าบนยอดหอชมเมืองนี้ ชั้นบนสุด
“จะเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์
เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราช
ประดิษฐานรูปหล่อพระคลังมหาสมบัติ พร้อมแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาทุกๆ ด้าน”
เข้าใจนะ