เมื่อเกือบหนึ่งปีมาแล้ว มีการทักท้วงเรื่องสัญญาน “อุกาฟ้าเหลืองก่อนออกเรือ”
ของเศรษฐกิจไทย ว่าปีนี้ (๒๕๖๐) ‘เผาจริง’ กันละ
เชื่อว่ากูรูเศรษฐกิจของ คสช. คงไม่นิ่งนอนใจกันหรอก
ตลอดปีที่ผ่านมาต่างก็พยายาม ‘สื่อ’ หรือ ‘พูด’ ว่าพวกตนเอาอยู่ ทุกอย่างกำลังเป็นไปด้วยดี “ตามโร้ดแม็พ”
เพียงแต่ว่าต้อง “ขอเวลาหน่อย” เหมือนกับที่ขอมาแต่แรกเมื่อสองปีก่อนหน้านี้
เสียแต่ว่าตลอดปีที่ผ่านมาอะไรมันก็ไม่ได้ดีขึ้น
ยกตัวอย่างเรื่องข้าวเรื่องยาง ที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของการเกษตรพาณิชย์
อันเป็นความหวังสุดท้ายในการกู้เศรษฐกิจไทย ในเมื่อการผลิตวัสดุอุปกรณ์เพื่อส่งออก
หรือ manufacturing ต่างๆ ซึ่งเคยเป็นคู่ขวัญกับการเกษตรหดหายไปกว่าครึ่ง
สภาวะทางพาณิชย์ของพืชเศรษฐกิจทั้งสองมิได้กระเตื้องขึ้น
ที่มีข่าวว่ารัฐบาลทหารระบายขายข้าวค้างสต็อกที่ติดลบมาแต่โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้ว
จนเกือบเกลี้ยง ก็เป็นเพียงบทบาทในการ ‘ล้างจาน’ ที่ไม่ช่วยให้มีอาหารจานใหม่หอมฉุยมาตั้งบนโต๊ะได้แต่อย่างใด
เป็นที่ยอมรับสภาพกันในวงการส่งออกข้าวไทยว่า
ห่างไกลกับการจะได้เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกอีกแล้ว นั่นเป็นประวัติศาสตร์ที่กำลังจะถูกลืม
เช่นเดียวกับเรื่องราคายางพารา ซึ่งสมัยรัฐบาลที่แล้ว ๘๐
บาทต่อตันพูดกันว่าต่ำเกินไป เดี๋ยวนี้ ๓๐ บาท หรืออาจถึง ๑๕ บาท จุกคอ
เป่าไม่ออกกันเป็นแถว
ล่าสุดนี่อดีตผู้ว่าการธนาคารชาติ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ให้ความเห็นว่า “ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่มีวิกฤติขึ้นอีก”
ทั้งนี้จากการตอบคำถามที่ว่า “เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญวิกฤติ
(ต้มยำกุ้ง) เหมือนเมื่อ
๒๐ ปีที่แล้วหรือไม่”
หากจะเอาคำตอบเต็มๆ ของอดีตผู้ว่าฯ แบ๊งค์ชาติผู้นี้
มันรวบรัดอยู่ที่ “ก็เป็นเรื่องที่พูดยาก
หลายครั้งก็มาแบบที่ไม่รู้ตัว” คงพูดไม่ให้กระเทือนซาง คสช. ด้วยละมั้ง
เนื่องจากมันมี “ติ่งเนื้อ” หรือ “ความไม่สมดุล” เกิดอยู่
สมควรที่จะใช้มีดหมอเข้าไปขลิบออก ดร.ประสารหมายถึงคำฝรั่งว่า “Nip off the bud.”
“ก่อนต้มยำกุ้ง
เป็นปรากฎการณ์เรื่องเงินไหลเข้า เพราะเราไปกำหนดค่าเงินคงที่
แล้วใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงกว่าต่างประเทศ
ทำให้ช่วงนั้นมีเงินไหลเข้ามาเก็งกำไรกันมาก บางส่วนก็มาลงที่อสังหาริมทรัพย์
จนกระทั่งเกิดปัญหา ‘โอเวอร์ซัพพลาย’ ซึ่งเวลานี้
กลิ่นที่คล้ายๆ กันก็คือเรื่องนี้”
ดร.ประสารโทษ “ผลพวงของระบบการเงินที่เกิดจาก Spillover Effect ในตลาดการเงินโลก ถือเป็นอาการหนึ่งของความไม่สมดุล”
และความไม่สมดุลนี้อยู่ที่ ‘สหกรณ์ออมทรัพย์’ หรือ credit unions ซึ่งสินทรัพย์โตเร็วเกินจริง
และระบบธรรมาภิบาลไม่แข็ง ทางออกที่ ดร.ประสารแนะก็คือให้พวกเครดิตยูเนี่ยนเหล่านั้นใช้มาตรการแบบศูนย์ข้อมูลเครดิต
หรือ ‘Credit Bureau’ มาเป็นเครื่องกำกับการปล่อยกู้
สรุป ดร.ประสารฟันธงว่า “เศรษฐกิจไทยในเวลานี้มีภูมิต้านทานที่ดีในระดับหนึ่ง"
เพียงแต่การันตีไม่ได้ว่าดีจริงไหม
แต่กระนั้นในยุคแห่งความมั่นคงในอำนาจรัฐประหาร
“แม้จะตรวจเจอติ่งเนื้อบ้างก็ไม่ควรวิตกจริตจนเกินไป”
วิตกจริตแค่ไหน ข้อเท็จจริงมีว่า มันมีติ่งอยู่ จะเป็นติ่งเครดิตยูเนี่ยนปล่อยกู้ไม่ระวัง
หรือติ่ง “แนวโน้มเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหลายมิติ”
อย่างที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(ทีดีอาร์ไอ) พูดไว้ก่อนหน้าเล็กน้อยก็ตาม
ดร.สมเกียรติพูดถึง ‘ความเหลื่อมล้ำด้านกระจายรายได้’ “คือในขณะที่ผลตอบแทนของทุนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด
แต่ผลตอบแทนจากค่าจ้างแรงงานเกิดขึ้นน้อยมาก”
เขาเอ่ยถึงบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ๑๐
อันดับต้นๆ “ในปีนี้แค่ไตรมาสแรกก็ได้กำไรก้าวกระโดด...๑๐
แห่งแรกทำกำไรได้
๕๐% ของทั้งหมด”
มิหนำซ้ำบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ “อยู่ในสาขาธุรกิจผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด
หรือได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐประเภทใดประเภทหนึ่ง”
ดร.สมเกียรติเสนอให้ปรับทิศทางระบบทุนนิยมไทย
จากทุนนิยมโดยรัฐ (ประชารัฐของ คสช. น่าจะเข้าข่าย) ไปสู่ทุนนิยมเอกชน หรือ ‘ทุนนิยมผู้ประกอบการ’ และ ‘ทุนนิยมธุรกิจใหญ่ที่มีนวัตกรรม’
อาจจะฟังแปร่งๆ สักนิด เมื่อคำนึงถึงว่า
ดร.สมเกียรติผู้นี้ เคยมีบทบาทแข็งขันในการต่อต้าน ‘ทุนนิยมสามานย์’
(เฉพาะของทักษิณ) คนหนึ่ง
(ตามถ้อยของ Atukkit Sawangsuk เขาว่า “ก็มีบทบาทในการตั้งข้อหาทักษิณ ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ จนศาลเอาไปเป็นพยานคดียึดทรัพย์)
มาคราวนี้สามปีให้หลังคณะทหารยึดอำนาจ
อะไรคงเปลี่ยนไป เขาชี้ว่า “รัฐและทุน เศรษฐกิจและประชาธิปไตย มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง
...ถ้าเราจะแกะปมเศรษฐกิจก็ต้องแกะปมการเมืองไปพร้อมกัน” ฤๅนั่นมันคือ 'จุดไฟในสายลม'
แต่ว่าทุกวันนี้ คสช.
กลับผูกปมการเมืองขมึงตรึงยิ่งขึ้น การจับกุม รังสิมันต์ โรม โดยเอาข้อหาเก่ามาเริ่มคดีใหม่
เพื่อที่จะไม่ให้เขามีโอกาศเปิดประเด็นเรื่องความโปร่งใสในข้อตกลงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางกับจีน
เพียงเพื่อให้ คสช.สามารถปกป้องไอร้อนไม่ให้ระคายผิวของตนเท่านั้น
นั่นเป็นสิ่งที่จะทำให้ปมเศรษฐกิจขมวดยุ่งเหยิงยิ่งขึ้นไปด้วย
การลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะของโลกตะวันตก
ซึ่งไทยต้องการมาฟื้นฟูสุขภาพทางเศรษฐกิจมหภาค อันจะส่งผลไปยังเศรษฐกิจจุลภาค
-ความอยู่ดีกินดีภายในประเทศ
ที่หนีหายไปแล้ว จะยิ่งไม่เหลียวหลังหวนคืนมา