ป้ายคัดค้านการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพโผล่ที่ขอนแก่น ก่อนหน้าเวทีประชาพิจารณ์เพียง 2 วัน
Thu, 2017-06-15
ที่มา ประชาไท
มีผู้พบเห็นป้ายคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จังหวัดขอนแก่น ข้อความระบุว่า “แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า = ล้มบัตรทอง” ก่อนหน้าที่จะมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ระดับภูมิภาคที่ขอนแก่นเพียง 2 วัน
15 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ที่จังหวัดขอนแก่น มีผู้พบเห็นป้ายรณรงค์คัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง หรือกฎหมายหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ติดอยู่ที่บรเวณสะพานลอยโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยในข้อความระบุว่า “การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” และ “แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า = ล้มบัตรทอง”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า ในวันที่ 17 มิ.ย. 2560 จะมีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ ระดับภูมิภาค ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
โดยนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชาพิจารณ์เป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ระบุให้การออกกฎหมาย หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใหม่จะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ให้ประชาชนรับทราบ และร่วมแสดงความคิดเห็น สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ... นี้ ปรับปรุงแก้ไขจาก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งประกาศบังคับใช้มาแล้ว 15 ปี จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอดีตถึงปัจจุบัน ส่งให้การปฏิบัติมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีของประชาชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนมากขึ้น
ทั้งนี้ การประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีจำนวน 14 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1. การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กร ที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย
2. กรอบการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3. การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด
4. เงินเหมาจ่ายรายหัวกับเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็น และใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้
5. นิยาม “บริการสาธารณสุข” คือ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล
6. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ
7. เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ ครอบคลุมทุกสิทธิ และยกเลิกการไล่เบี้ย
8. การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย
9. การร่วมจ่ายค่าบริการ
10. การจัดซื้อร่วมยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์
11. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
12. องค์ประกอบ จำนวน อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
13. แยกเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรส่วนที่จ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนฯ
14. การใช้จ่ายเงินบริหารของ สปสช. ไม่ต้องส่งคืนคลังเพื่อความคล่องตัว และการปรับปรุงคุณสมบัติของเลขาธิการ สปสช.