ทีดีอาร์ไอถามไฮสปีดกรุงเทพฯ-โคราช คุ้มค่าหรือไม่ ขณะที่วิศวกร
“ยอมแล้ว” ให้ใช้ ม.๔๔ วิศวกรจีนไม่ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เรียกวิศวกรรมสถานเข้าพบ
จากการที่สมาคมวิชาชีพแสดงอาการไม่เห็นพ้องกับการใช้มาตรา ๔๔ ครั้นเมื่อหลังจากคุยกันชั่วโมงกว่า
ตัวแทนวิชาชีพออกมาแถลงแสดงความพอใจ “ทางไทยจะพยายามรักษากฎหมายวิศวกรอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันไม่สามารถที่จะขัดแย้งคำสั่ง
คสช.ได้”
นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ชี้แจงว่า “วิธีการดีที่สุด คือทำให้ทางการจีนมีความรู้อย่างจริงจัง
เพื่อเป็นการรับประกันด้านความปลอดภัยในการดำเนินงาน”
นั่นคือวิศวกรจีนที่เข้ามาทำโครงการรถไฟนี้ “จะต้องผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่คณะกรรมการ
๕ ฝ่ายที่กระทรวงคมนาคมจะจัดขึ้น”
นอกจากนี้นายธเนศ
วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้ “ขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับวิศวกรรมสถานฯ
มหาวิทยาลัยของรัฐ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง”
ซึ่งนายวิษณุให้ความเห็นชอบ
แล้วยังอ้างด้วยว่าก่อนออกคำสั่ง ม.๔๔ “รัฐบาลได้หารือร่วมกับวิศวกรรมสถานและสภาสถาปนิกแล้ว...ขอให้เข้าใจว่าคำสั่งตามมาตรา
๔๔ เป็นเพียงคำสั่งที่กำหนดกรอบนโยบายเท่านั้น
ยังคงต้องดูรายละเอียดที่การทำสัญญาอีกครั้ง”
อย่างไรก็ดี วันนี้ (๒๐ มิ.ย.) ‘ทีดีอาร์ไอ’
ได้ตีพิมพ์ข้อเสนอแนะต่อการที่รัฐบาลใช้ ม.๔๔
อำนวยความสะดวกในโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า
“การใช้
มาตรา ๔๔ นี้
คงเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเพียงบางส่วน แต่ปัญหาหลักที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ
คือความพยายามที่จะดำเนินโครงการ โดยใช้ขั้นตอนการทำงานที่ไม่เคยใช้ในไทยมาก่อน
คืออนุมัติให้เริ่มต้นก่อสร้างโครงการก่อนที่จะมีรายละเอียดทั้งหมดในการพิจารณา”
และว่าโครงการใหญ่ๆ ของรัฐที่ผ่านมา
มักจะมีความพร้อมเสียก่อนที่จะอนุมัติให้เริ่มต้นโครงการ
เช่นมีการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจการเงิน และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งจากการที่รัฐบาลดำเนินการเช่นนี้
ทำให้ประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูง ๒ ระบบที่แตกต่างกัน คือของจีนและญี่ปุ่น อันมีเส้นทางซ้อนกันอยู่ช่วงหนึ่งจากบางซื่อถึงอยุธยา
ที่ทางญี่ปุ่นแจ้งแล้วว่าไม่ต้องการใช้ระบบรางเดียวกับจีน
ต้องการสร้างของตนเองใหม่
เช่นนี้ ทีดีอาร์ไอ จึงได้เสนอคำถาม ๕ ข้อ ให้รัฐบาล คสช.
หาคำตอบให้ได้ก่อนอนุมัติให้เริ่มลงมือก่อสร้าง ได้แก่ ข้อแรกเลยทีเดียว “มีความจำเป็นต้องมีรถไฟความเร็วสูงจริงหรือไม่”
ถ้าจำเป็น ควรไหมต้องมีสองระบบแตกต่างกัน
นอกเหนือจากนั้น
โครงการนี้ได้มีการศึกษารายละเอียดพร้อมแล้วหรือ
โดยเฉพาะในส่วนของความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ
ได้มีการวิเคราะห์คาดการณ์เรื่องผู้โดยสารไว้อย่างไร
และสุดท้าย ได้มีการพิจารณาถึงโครงการรองรับ เช่น
การพัฒนาเมือง พัฒนาระบบขนส่งในจุดที่ตั้งสถานีที่รถไฟผ่าน บ้างหรือไม่ อย่างไร
ทีดีอาร์ไอยังแนะด้วยว่า “รัฐบาลควรเปิดเผยข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน
รวมถึงรูปแบบการลงทุนต่างๆ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินโครงการยิ่งขึ้น”
ดูแล้วสิ่งที่ทีดีอาร์ไอถามมาทั้งหมด คสช. ยังไม่ได้คิดทำ
แต่ใช้อาญาสิทธิ์ ม.๔๔ ฟันเปรี้ยงไปแล้วประกาศให้จีนเข้ามาลงมือ โดยจะมีการประชุมกับทางจีนอีกครั้งในวันที่
๒๑ มิ.ย. นี้
ปัญหาไม่เพียงอยู่ที่การเตรียม ‘ไม่’ พร้อม อาจก่อความผิดพลาด
และเกิดความเสียหายระหว่างลงมือดำเนินการเท่านั้น
แต่การจะเอาให้ได้ ห้ามขัด เหมือนเด็กดื้อต้องการของเล่น
อย่างเช่น เรือเหาะใช้การไม่ได้ เครื่องตรวจระเบิดถูกหลอก ยานหุ้มเกราะที่เขาเลิกทำ
หรือเรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีเครื่องบินให้บรรทุก
เหล่านั้นเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ‘เสียของ’ กองทัพ แต่คราวนี้ถ้าเกิดจะเสียของอีกครั้งเพราะการลุกลี้ลุกลน
มูลค่ามันมหาศาลเสียยิ่งกว่าตอม่อโฮ้ปเวล หรือเสาโรงพัก ปชป. เพราะงานนี้ ๓๐ ปี ๓.๓
ล้านล้าน