วันพุธ, มิถุนายน 14, 2560

เรียบร้อยโรงเรียนจีน... ชาวพม่าโอดโครงการจีน $10,000 ล้าน ไม่มีการปรึกษา กระทบวิถีชีวิต นักวิชาการชี้เข้าข่ายละเมิดกฎหมาย





ชาวพม่าโอดโครงการจีน $10,000 ล้าน กระทบวิถีชีวิต นักวิชาการชี้เข้าข่ายละเมิดกฎหมาย


โดย MGR Online
9 มิถุนายน 2560


รอยเตอร์ - หลายวันก่อนหน้า เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ลำแรกซึ่งบรรทุกน้ำมันดิบกว่า 140,000 ตัน ที่มีปลายทางประเทศจีนจะเดินทางมาถึงท่าเรือจอก์พยู ของพม่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ยึดอวนจับปลาของชาวบ้านในพื้นที่

ชาวประมงอายุ 36 ปี เป็นหนึ่งกลุ่มชาวบ้านหลายร้อยคนที่ถูกห้ามจับปลาในบริเวณน่านน้ำใกล้กับจุดทางเข้าท่อส่งน้ำมัน ที่มีความยาว 770 กิโลเมตร ตัดข้ามดินแดนพม่าไปยังพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางสายไหมของปักกิ่งที่มุ่งเชื่อมต่อเศรษฐกิจของประเทศกับภูมิภาคเอเชีย และภูมิภาคต่างๆ โดยรอบ

“เราจะใช้ชีวิตยังไงถ้าไม่ให้เราจับปลา” นาย เอ ชาวบ้านที่ถูกยึดอวน และเพิ่งซื้อเรือลำใหญ่เมื่อ 4 เดือนก่อน กล่าว ชาวบ้านรายนี้ยังบอกว่า รายได้ของเขาลดลงกว่าครึ่งเนื่องจากจับปลาได้น้อยเพราะข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับเวลา และสถานที่ที่สามารถจับปลาได้ และเมื่อเดือนก่อน เขาได้เข้าร่วมกับชาวบ้านมากกว่า 100 คน ชุมนุมประท้วงเรียกร้องการชดเชยจากบริษัท Petrochina ที่เป็นผู้ดำเนินการท่อส่งน้ำมันดังกล่าว

โครงการท่อส่งน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู มูลค่าเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ โครงการที่เป็นหัวใจในความสัมพันธ์ระหว่างพม่า และจีนที่อบอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังเป็นตัวแทนของความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนางอองซานซูจี ที่ต้องการจะขจัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการบริหารประเทศในปีแรก ที่พบว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิรูปเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย และการสนับสนุนจากจีนยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดน ที่เกิดการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ซึ่งคุกคามกระบวนการสันติภาพ ที่ซูจี นั้นให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

กลุ่มบริษัท CITIC Group ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลจีน ที่เป็นผู้พัฒนาหลักของเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู กล่าวว่า โครงการนี้จะสร้างงานถึง 100,000 ตำแหน่งในรัฐยะไข่ ที่เป็นหนึ่งในพื้นที่ยากจนที่สุดของพม่า

แต่คนท้องถิ่นจำนวนมากระบุว่า โครงการกำลังเร่งดำเนินการโดยไม่มีการปรึกษาหารือ หรือคำนึงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา

จีนระบุว่า การพัฒนาพื้นที่จอก์พยู อยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และนับตั้งแต่ปักกิ่งส่งสัญญาณว่าอาจละทิ้งโครงการเขื่อนไฟฟ้ามิตโสน ในพม่าเมื่อช่วงต้นปี จีนหันมาผลักดันการสัมปทานในโครงการยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่รวมทั้ง ท่าเรืออ่าวเบงกอลในจอก์พยู ที่จะช่วยให้จีนมีเส้นทางตัวเลือกสำหรับนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลาง

เอกสารการวางแผนภายในที่รอยเตอร์ตรวจสอบ และจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่มากกว่า 20 คน พบว่า การทำงานในข้อตกลง และการเข้าครอบครองสิทธิที่ดินได้เริ่มขึ้นก่อนที่การศึกษาผลกระทบต่อคนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมจะเสร็จสิ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า อาจละเมิดกฎหมายการพัฒนา

เขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู ที่จะครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 17 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกมูลค่า 7,300 ล้านดอลลาร์ และนิคมอุตสาหกรรม 2,300 ล้านดอลลาร์ มีเป้าหมายที่จะดึงดูดอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งการผลิตเครื่องนุ่งห่ม และการกลั่นน้ำมัน

จากเอกสารการวางแผนและข้อมูลสำมะโนประชากรพบว่า ชาวบ้านราว 20,000 คน ที่ส่วนใหญ่พึ่งพาการทำเกษตรและประมง มีความเสี่ยงที่จะถูกย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อเปิดทางให้กับโครงการนี้

“จะมีโครงการขนาดยักษ์ในเขตเศรษฐกิจนี้ และสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากจะเริ่มก่อสร้าง ดังนั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะถูกย้ายไปที่ใหม่” ตัน ตุ๊ต อู ผู้บริหารพื้นที่จอก์พยู ที่มีตำแหน่งในคณะกรรมการการจัดการเขตเศรษฐกิจ กล่าว

ตัน ตุ๊ต อู ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้ประกาศแผนดังกล่าวเพราะไม่ต้องการที่จะสร้างความแตกตื่น ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงเจรจาต่อรองกับผู้พัฒนาจากจีน






เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ลอยลำอยู่ในแม่น้ำจอก์พยูใกล้เกาะมาเด. -- Reuters/Soe Zeya Tun.




ท่าเรือขนถ่ายสินค้าของจีนบนเกาะมาเด นอกเมืองจอก์พยู ของพม่า. -- Reuters/Soe Zeya Tun.


ในเดือน เม.ย. ประธานาธิบดีถิ่น จอ ได้ลงนามข้อตกลง 2 ฉบับกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เกี่ยวกับท่อส่งน้ำมัน และท่าเรือจอก์พยู ขณะที่ปักกิ่งผลักดันให้ฟื้นโครงการที่ระงับมาตั้งแต่ครั้งเริ่มต้นในปี 2552 ซึ่งข้อตกลงเรียกร้องให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้

การศึกษาดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลา 15 เดือน และตอนนี้ยังไม่เริ่มดำเนินการ แต่กลุ่มบริษัท CITIC ได้ขอให้พม่าสรุปเงื่อนไขข้อตกลงให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 เพื่อที่การก่อสร้างจะสามารถเริ่มต้นขึ้นได้ในปี 2561 ตามการระบุของ โซ วิน ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการการจัดการเขตเศรษฐกิจของพม่า ซึ่งหากเป็นไปตามกำหนดดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญวิตกว่าโครงการกำลังเร่งรีบดำเนินการ

“การเตรียมการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับโครงการขนาดนี้ต้องใช้ระยะเวลาหลายปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ และไม่ใช่ในระยะไม่กี่เดือน” วิคกี้ โบว์แมน หัวหน้าศูนย์พัฒนาความรับผิดชอบทางธุรกิจของพม่า และอดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่า กล่าว

CITIC ระบุในอีเมลฉบับหนึ่งถึงรอยเตอร์ว่า บริษัทจะนำบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกเข้าร่วมดำเนินการประเมิน

แม้ว่าการจัดสรรที่ดินขนาดใหญ่สำหรับโครงการยังไม่เริ่มต้น แต่ชาวพม่า 26 ครอบครัวได้ถูกย้ายออกจากพื้นที่ เนื่องจากการเข้าถือสิทธิที่เกิดขึ้นในปี 2557 สำหรับการก่อสร้างเขื่อนสองแห่ง ตามข้อมูลเอกสารที่ดิน และจากการระบุของเจ้าของที่ดิน

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมของพม่า

“การเข้าครอบครองสิทธิที่ดินก่อนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและแผนการย้ายที่อยู่จะเสร็จสมบูรณ์นั้นไม่สอดคล้องต่อกฎหมายของประเทศ” ฌอน เบน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล สำนักงานพม่า ระบุ

CITIC ระบุว่า บริษัทจะสร้างโรงเรียนอาชีวศึกษาเพื่อฝึกอบรบทักษะต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทในเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ และได้มอบเงิน จำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์ ให้แก่หมู่บ้านต่างๆ ในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาธุรกิจ

รอยเตอร์ได้พูดคุยกับชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ได้ยืมเงินจากกองทุนหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นจากเงินจำนวนดังกล่าว

“เงินของ CITIC มีประโยชน์มากสำหรับพวกเราเพราะคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านต้องการเงิน” ชาวประมงรายหนึ่งที่ยืมเงิน 66 ดอลลาร์ เพื่อนำไปซื้ออวนใหม่ กล่าว

นักลงทุนชาวจีนกล่าวว่า พวกเขายังวางแผนที่จะใช้เงิน จำนวน 1 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระหว่าง 5 ปีแรกของการพัฒนา และอีก 500,000 ดอลลาร์ต่อปีหลังจากนั้น เพื่อปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น

แต่ชาวบ้านในเมืองจอก์พยู กล่าวว่า พวกเขากลัวว่าโครงการจะไม่จะก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่เพราะบริษัทที่เข้าดำเนินกิจการส่วนใหญ่จ้างแต่คนงานจีน

จากชาวบ้านมากกว่า 3,000 คน ที่อาศัยอยู่บนเกาะมาเด ที่เป็นจุดทางเข้าของท่อส่งน้ำมัน มีชาวบ้านเพียง 47 คน ที่ได้ทำงานกับบริษัท Petrochina ขณะที่จำนวนแรงงานชาวจีนมีมากกว่าเป็นสองเท่า ซึ่งบริษัท Petrochina ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นในเรื่องนี้

“ผมไม่คิดว่ายังมีความหวังที่จะได้งานทำในเขตเศรษกิจนั่น บริษัทจีนบอกว่า พวกเขาจะพัฒนาหมู่บ้านของพวกเรา และปรับปรุงความเป็นอยู่ แต่ดูเหมือนพวกเรากำลังทนทุกข์ทรมานอยู่ทุกวัน” นาย เอ กล่าว หลังถูกปฏิเสธใบสมัครทำงานกับบริษัทผู้ดำเนินการท่อส่งน้ำมันถึง 12 ครั้ง.