'แด่นักสู้ผู้จากไป' ชุดภาพถ่ายสะท้อนอิทธิพลมืดในรัฐไทย
by นิติธร สุรบัณฑิต
31 มกราคม 2560
Voice TV
12 ปีที่ผ่านมามีนักสิทธิมนุษยชนไทย ถูกฆาตกรรมอย่างอุกอาจ และอุ้มหายโดยไม่ทราบชะตากรรมถึง 59 คน ระหว่างการต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติ ท่ามกลางความทรงจำของสังคมไทยที่เริ่มเลือนหาย ภาพถ่ายชุด 'แด่นักสู้ผู้จากไป' โดย Luke Duggleby เปิดพื้นที่ชวนสังคมไทยระลึกถึงความโหดร้ายเหล่านี้อีกครั้ง เพื่อหวังทวงถามความยุติธรรม และยุติอิทธิพลมืดที่อยู่รอบตัวเรา
(1 ใน 37 นักสู้ผู้จากไป 'เจริญ วัดอักษร' แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2547)
'เจริญ วัดอักษร' เคยเป็นชื่อที่คุ้นหูสำหรับสังคมไทย ในห้วงเวลาที่เขา และชาวบ้านบ่อนอก คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ชะตากรรมอันโชคร้ายของเขา ได้กระตุ้นให้สังคมไทยรู้จักกับการต่อสู้ และอิทธิพลนอกกฎหมาย
มิถุนายนปี 2547 เจริญ ในวัย 37 ปี ถูกฆาตกรรมอย่างอุกอาจด้วยอาวุธปืน ที่อ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังถูกขู่ฆ่าหลายครั้ง ระหว่างการต่อสู้ ห้วงเวลาผ่านไปเกือบ 13 ปี ยังไม่มีผู้รับผิดชอบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ภาพหน้าศพ 'เจริญ วัดอักษร' ถูกตั้งอยู่บนถนนบริเวณที่เขามีลมหายใจครั้งสุดท้าย มันถูกจัดวาง และถ่ายทอดต่อโดย Luke Duggleby ช่างภาพชาวอังกฤษวัย 39 ปี เพื่อย้ำเตือนสิ่งที่เกิดขึ้น โดยภาพของ 'เจริญ' เป็น 1 ใน 37 ผู้สูญเสีย ที่ปรากฎในงานเปิดตัวนิทรรศการ 'แด่นักสู้ผู้จากไป' หรือ For Those Who Died Trying' ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้
Luke และธัชพล ส่องแสง เพื่อนช่างภาพชาวไทย เดินทางตามหา และพบปะครอบครัวนักต่อสู้ผู้จากไปในไทยร่วม 1 ปีเต็ม หลังเขารู้จัก 'จินตนา แก้วขาว' แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าหินกรูด และรับรู้ข้อมูลการสูญเสียของชาวบ้านที่ต่อสู้สิทธิชุมชนทั่วประเทศ
''เรามาถ่ายทอดความรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา และความรู้สึกของญาติผู้สูญเสีย ให้สังคมรู้จักมากขึ้น และย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องแก้ไข'' Luke กล่าว
ช่างภาพทั้ง 2 ร่วมออกเดินทางด้วยหลักฐานเพียงน้อยนิด หลายครั้งพวกเขาเผชิญอุปสรรค โดยเฉพาะเมื่อญาติรู้สึกหวาดกลัวกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ความพยายามของพวกเขาสำเร็จผลในปี 2559
ภาพผลงาน 37 นักต่อสู้ผู้จากไป ได้รับการจัดแสดงในเดือนพฤษภาคม 2559 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Protection International
12 ปีที่ผ่านมามีนักสิทธิมนุษยชนไทย ถูกฆาตกรรมอย่างอุกอาจ และอุ้มหายโดยไม่ทราบชะตากรรมถึง 59 คน ระหว่างการต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติ ท่ามกลางความทรงจำของสังคมไทยที่เริ่มเลือนหาย ภาพถ่ายชุด 'แด่นักสู้ผู้จากไป' โดย Luke Duggleby เปิดพื้นที่ชวนสังคมไทยระลึกถึงความโหดร้ายเหล่านี้อีกครั้ง เพื่อหวังทวงถามความยุติธรรม และยุติอิทธิพลมืดที่อยู่รอบตัวเรา
(1 ใน 37 นักสู้ผู้จากไป 'เจริญ วัดอักษร' แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2547)
'เจริญ วัดอักษร' เคยเป็นชื่อที่คุ้นหูสำหรับสังคมไทย ในห้วงเวลาที่เขา และชาวบ้านบ่อนอก คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ชะตากรรมอันโชคร้ายของเขา ได้กระตุ้นให้สังคมไทยรู้จักกับการต่อสู้ และอิทธิพลนอกกฎหมาย
มิถุนายนปี 2547 เจริญ ในวัย 37 ปี ถูกฆาตกรรมอย่างอุกอาจด้วยอาวุธปืน ที่อ.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังถูกขู่ฆ่าหลายครั้ง ระหว่างการต่อสู้ ห้วงเวลาผ่านไปเกือบ 13 ปี ยังไม่มีผู้รับผิดชอบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ภาพหน้าศพ 'เจริญ วัดอักษร' ถูกตั้งอยู่บนถนนบริเวณที่เขามีลมหายใจครั้งสุดท้าย มันถูกจัดวาง และถ่ายทอดต่อโดย Luke Duggleby ช่างภาพชาวอังกฤษวัย 39 ปี เพื่อย้ำเตือนสิ่งที่เกิดขึ้น โดยภาพของ 'เจริญ' เป็น 1 ใน 37 ผู้สูญเสีย ที่ปรากฎในงานเปิดตัวนิทรรศการ 'แด่นักสู้ผู้จากไป' หรือ For Those Who Died Trying' ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้
Luke และธัชพล ส่องแสง เพื่อนช่างภาพชาวไทย เดินทางตามหา และพบปะครอบครัวนักต่อสู้ผู้จากไปในไทยร่วม 1 ปีเต็ม หลังเขารู้จัก 'จินตนา แก้วขาว' แกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าหินกรูด และรับรู้ข้อมูลการสูญเสียของชาวบ้านที่ต่อสู้สิทธิชุมชนทั่วประเทศ
''เรามาถ่ายทอดความรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา และความรู้สึกของญาติผู้สูญเสีย ให้สังคมรู้จักมากขึ้น และย้ำเตือนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ต้องแก้ไข'' Luke กล่าว
ช่างภาพทั้ง 2 ร่วมออกเดินทางด้วยหลักฐานเพียงน้อยนิด หลายครั้งพวกเขาเผชิญอุปสรรค โดยเฉพาะเมื่อญาติรู้สึกหวาดกลัวกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ความพยายามของพวกเขาสำเร็จผลในปี 2559
ภาพผลงาน 37 นักต่อสู้ผู้จากไป ได้รับการจัดแสดงในเดือนพฤษภาคม 2559 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก Protection International
('กรณ์อุมา พงษ์น้อย' ภรรยา 'เจริญ วัดอักษร' พร้อมภาพถ่ายสามี เธอยังจดจำเหตุการณ์วันนั้นได้อย่างดี)
- 13 ปีกับเพื่อนที่ชื่อ ความอยุติธรรม
ในงานเปิดตัวนิทรรศการวันนี้ เรายังได้พบกับ 'กรณ์อุมา พงษ์น้อย' หรือกระรอก 1 ใน 37 ครอบครัวผู้สูญเสีย เธอยืนเคียงคู่กับภาพของสามี 'เจริญ วัดอักษร' ในวันที่ยังไม่มีคำตอบ และความยุติธรรมให้กับสามีของเธอ
''เราคาดหวังว่ามันจะไม่เกิดอีก แต่เอาเข้าจริง สำหรับสังคมไทย มันยังไม่ใช่ รัฐยังไม่เข้าใจสิทธิชุมชน ตอนนี้ยิ่งซ้ำร้าย
เมื่อชาวบ้านหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรม เราเหมือนถูกผลกระทบซ้ำ คดีของพวกเราถูกยกฟ้อง สำหรับพี่เวลานี้ ถ้าจะสู้ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ'' กรณ์อุมา กล่าว
กรณ์อุมา ยังบอกว่า ชาวบ้านเปรียบเสมือนพวกกวนบ้านกวนเมืองในสายตาของรัฐ พวกเขาต้องจัดการเรา ถ้าเราไม่รับเงิน ก็จะข่มขู่ หรือเอากฎหมายมาเล่นงาน แต่ถ้าพวกเราสู้ อย่างที่เห็น ก็คือ ความตาย
(1 ใน 37 นักสู้ผู้จากไป 'ประจบ เนาวโอภาส' แกนนำต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมลักลอบทิ้งสารเคมี อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เสียชีวิตด้วยกระสุนปืน 4 นัด ในกุมภาพันธ์ 2556 เวลากลางวัน)
- เดิมพันชีวิต เพื่อ ลมหายใจ ของคนรุ่นหลัง
เช่นเดียวกับ 'ณัฐกานต์ เนาวโอภาส' ภรรยา 'ประจบ เนาวโอภาส' แกนนำต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมลักลอบทิ้งสารเคมีในพื้นที่อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ถูกสังหารอย่างอุกอาจด้วยกระสุนปืน 4 นัดในปี 2556 เธอปรากฎตัวพร้อมรูปสามีในนิทรรศการวันนี้ด้วย
''เขาต่อสู้เพื่อบ้าน เพื่อตำบล และลูกหลาน มันเป็นสิทธิของเขา เรา และครอบครัวยอมรับในสิทธิ และทางเลือกของสามี
แม้จะรู้ว่ามันเสี่ยงอันตราย แต่ถ้าไม่สู้ ลูกหลานภายภาคหน้าจะอยู่อย่างไร'' ณัฐกานต์กล่าว
ณัฐกานต์ กับสามี พร้อมชาวบ้าน ต่อสู้คัดค้านโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ที่ลักลอบนำกากสารเคมี และของเสีย ทิ้งในแหล่งน้ำของตำบลหนองแหน โรงงานดังกล่าวห่างจากบ้านของเธอ และสามีไม่ถึง 100 เมตร
('ณัฐกานต์ เนาวโอภาส' พร้อมภาพสามี 'ประจบ เนาวโอภาส' เธอยังรอคอยความยุติธรรมให้สามีของเธอ)
การสูญเสียของ 'ประจบ' เป็นผลให้โรงงานยุติการกระทำดังกล่าว เขาใช้ชีวิตของตัวเอง แลกอนาคตของคนรุ่นหลังในหมู่บ้าน โดยภาพของ 'ประจบ' แสดงจุดเกิดเหตุบริเวณอู่ซ่อมรถ ในตลาด เขามีลมหายใจสุดท้ายที่นั่นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556
(1 ใน 37 นักสู้ผู้จากไป 'สมชาย นีละไพจิตร' ทนายความมุสลิม ว่าความให้กับจำเลยคดีความมั่นคงชายแดนใต้ เขาถูกลักพาตัวเมื่อมีนาคม 2547 ย่านรามคำแหง)
(1 ใน 37 นักสู้ผู้จากไป 'บุญสม นิ่มน้อย' สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ทะเลบ้านแหลม จ.เพชรบุรี แกนนำคัดค้านโรงงานปิโตรเคมี เขาถูกยิงเสียชีวิตในกันยายน 2545)
(1 ใน 37 นักสู้ผู้จากไป 'พิทักษ์ โตนวุธ' ที่ปรึกษาชาวบ้านลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก คัดค้านต่อต้านโรงโม่หินในพื้นที่ เขาถูกยิงเสียชีวิตในพฤษภาคม 2544)
-กฎหมายปราบอุ้ม-ซ้อม แสงสว่างสิทธิมนุษยชนไทย
'กฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลควรผลักดันอย่างด่วน เช่นเดียวกับ โครงการ White lists หรือการคุ้มครองชาวบ้าน หรือแกนนำชุมชนที่ปกป้องสิทธิของพวกเขา รัฐไทยต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาเหล่านี้'
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และทนายความ ผู้มีประสบการณ์การว่าความคดีเกี่ยวกับสิทธิชุมชนมาหลายทศวรรษ ได้ฝากความหวังไว้ที่ร่างพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการซ้อมทรมานหรือบังคับให้สูญหาย ที่อยู่ระหว่างรอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เขาบอกว่า ที่ผ่านมาญาติ และผู้สูญเสีย เผชิญอุปสรรคในการเรียกร้องความยุติธรรมตามกฎหมายอาญาปกติ เช่น ไม่สามารถเรียกร้อง หรือเอาผิดใครได้หากไม่เจอศพผู้สูญหาย ดังเห็นจากกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร แต่ถ้ากฎหมายประกาศใช้ ทุกอย่างจะดีขึ้น
สุรพงษ์ ยังสนับสนุนให้รัฐไทย โดยกระทรวงยุติธรรม จัดตั้งคณะทำงานปกป้องนักสิทธิมนุษยชน ชาวบ้าน ที่เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชีวิตชุมชนของตนเอง เพื่อหลักประกันให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอีก
(1 ใน 37 นักสู้ผู้จากไป 'สิงห์ทอง พุทธจันทร์' แกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เขาถูกยิงเสียชีวิตในกันยายน 2554)
(1 ใน 37 นักสู้ผู้จากไป 'บุญยงค์ อินต๊ะวงศ์' แกนนำคัคด้านเหมืองหิน อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เขาถูกยิงเสียชีวิตภายในบ้านในธันวาคม 2545)
-ห่วงใช้กฎหมายเล่นงานนักปกป้องสิทธิ
'' ...การอุ้มหายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายปีที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีจำนวนน้อยลง แต่ในทางตรงกันข้าม การฟ้องร้องคดีกลับมากขึ้น และส่วนใหญ่ผู้หญิงมักได้ผลกระทบ โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศ เช่นเดียวกับเยาวชนที่ถูกฟ้องร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออก....''
นี่คือความกังวลจากอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ร่วมปาฐกถาสถานการณ์อันน่าเป็นห่วง ในงานเปิดนิทรรศการด้วยเช่นกัน อังคณายังกังวลขั้นตอนการเยียวยาผู้เสียหายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสากล
" ... การเยียวยาของเรายังไม่เป็นสากล มีแค่เพียงผ่านเงิน หรือช่วยเหลือทนายความ ทั้งที่ความเป็นจริง ญาติผู้สูญเสียต้องได้รับความจริงด้วย โดยเฉพาะตัวผู้ก่อเหตุ ที่ต้องรับผิดชอบ ที่ผ่านมาเมื่อคดีเกิด มักลงท้ายด้วยหาผู้กระทำความผิดไม่ได้...''
(1 ใน 37 นักต่อสู้ผู้จากไป 'พอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่' แกนนำชุมชนชาวกะเหรี่ยง ปกป้องสิทธิชุมชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขาหายตัวไปในเมษายน 2557 )
(1 ใน 37 นักต่อสู้ผู้จากไป 'จุรินทร์ ราชพล' แกนนำคัคด้านฟาร์มกุ้ง ปกป้องป่าชายเลนในพื้นที่อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เขาถูกยิงเสียชีวิตในมกราคม 2544)
( Luke Duggleby มือชัตเตอร์ และโปรดิวเซอร์สารคดี 'For Those Who Died Trying แด่นักสู้ผู้จากไป' เขาเดินทางตามหาญาติ และครอบครัวผู้สูญเสียทั่วประเทศ เพื่อหวังถ่ายเรื่องราว ความรู้สึกต่อสังคมไทย)
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการนี้ได้ที่ โถงหน้าห้องสมุด ชั้น L หอศิลป์กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 5 กุมภาพันธ์นี้ นอกจากนี้ยังจัดแสดงที่เชียงใหม่ สงขลา และมหาสารคาม ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ใน facebook fanpage : For Those Who Died Trying
ขอบคุณภาพข่าวจาก:For Those Who Died Trying
ooo
News นักสู้ผู้จากไป...ความยุติธรรมที่ยังหล่นหายในสังคม
https://www.youtube.com/watch?v=v4w4ZbNg5QU
NOW26
Published on Jan 31, 2017
ล่าความจริง พิกัดข่าว : นักสู้ผู้จากไป...ความยุติธรรมที่ยังหล่นหายในสังคม "NOW26" 31-1-60
นักสู้ผู้จากไป...ความยุติธรรมที่ยังหล่นหายในสังคม
ทีมล่าความจริง
Now 26
31 มกราคม 2560
ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อารยะประเทศมองว่าร้ายแรงที่สุด คือ "การอุ้มฆ่า–อุ้มหาย" นั้น เป็นประเด็นที่ "ทีมล่าความจริง" เกาะติดมาตลอด
ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา คดีประเภทนี้มีเพียงคดีเดียวที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล นั่นคือ คดีอุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 หรือเกือบ 13 ปีมาแล้ว แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็ยกฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ข้อมูลสถิติจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง Protection International ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกบังคับให้สูญหายและถูกสังหารไปมากกว่า 59 คน และหากรวบรวมตัวเลขย้อนหลังกลับไปถึง 35 ปี ก็จะพบว่าประเทศไทยมีกรณีบังคับบุคคลให้สูญหายอีกกว่า 90 กรณี โดยในจำนวนนี้ 81 กรณียังไม่ได้รับการแก้ไข และพื้นที่ที่นักสิทธิมนุษยชนถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากที่สุด คือ ภาคอีสานและภาคใต้
วันนี้ มีการจัดงานนิทรรศการภาพถ่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทย ในชื่อโครงการว่า "แด่นักสู้ผู้จากไป" โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ กลุ่มโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล โดยนอกจากการจัดแสดงภาพถ่ายของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและถูกอุ้มหายแล้ว ยังมีการจัดทำ "คู่มือความปลอดภัยสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชน" ด้วย จนกลายเป็นคำถามว่าสังคมไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนไม่มีบ้างเลยหรือ
คู่มือฉบับนี้มีเนื้อหาทั้งสิ้น 6 บท สาระสำคัญเป็นการวิเคราะห์และลดความเสี่ยงต่อชีวิตของนักต่อสู้ รูปแบบของเหตุสงสัยด้านความปลอดภัยและการข่มขู่คุกคาม การพัฒนาความปลอดภัยให้กับตัวเองและชุมชน รวมไปถึงการปรับแต่งยุทธศาสตร์และวิธีการต่างๆ ของนักต่อสู้เพื่อป้องกันตนเองจากการถูกลอบสังหาร และการถูกอุ้มฆ่า อุ้มหาย
คู่มือเล่มนี้ ไม่ได้มีไว้สำหรับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ประชาชนคนไทยทุกคนควรศึกษาและมีไว้เป็นเจ้าของ เพราะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการอุ้มฆ่า อุ้มหาย ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มนักต่อสู้ แต่ประชาชนคนเดินถนนทั่วไป เพียงแค่มีปัญหาชู้สาวกับคนมีสี หรือตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติด ก็อาจถูกอุ้มฆ่า อุ้มหาย ได้เหมือนกัน เหมือนกับคดีอุ้มฆ่าสาวทอม หรือคดีอุ้มหายเยาวชนที่จังหวัดฉะเชิงเทราที่เคยตกเป็นข่าวเกรียวกราว
นักสู้ผู้จากไป...ความยุติธรรมที่ยังหล่นหายในสังคม
ภาพถ่าย นายประจบ เนาวโอภาส แกนนำชาวบ้านที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 จากการออกมาชูธงต่อต้านการลักลอบทิ้งกากสารเคมีอุตสาหกรรมและขยะพิษ ในพื้นที่ ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
ภาพของนายประจบ เป็นหนึ่งใน 37 ภาพถ่ายที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ "ภาพถ่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในโครงการแด่นักสู้ผู้จากไป" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันนี้
ณัฎฐกานต์ เนาวโอภาส ภรรยาของนายประจบ เล่าทั้งน้ำตาว่า สามีของเธอถูกฆ่าเพราะออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้คนในชุมชน แต่ระยะเวลาผ่านมา 5 ปีก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมทางคดี
ณัฏฐกานต์ บอกว่า ตั้งแต่สามีจากไป เธอท้อแท้มาก เพราะภาระในครอบครัวตกอยู่ที่เธอเพียงคนเดียว ต้องเลี้ยงดูลูกอีก 2 คน จึงไม่อยากให้เรื่องนี้เงียบหาย เพราะสามีออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของทุกคน แต่สังคมกลับมองข้ามเรื่องนี้
นิทรรศการภาพถ่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จัดขึ้นโดยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งองค์กร Protection International คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสถานทูตแคนนาดา รวมทั้งนักสิทธิฯ และญาติของผู้เสียหาย
ภาพถ่ายทั้ง 37 ภาพบอกเล่าเรื่องราวของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกลอบสังหารหรือถูกลักพาตัว โดยช่างภาพได้ภาพถ่ายของผู้เสียชีวิตไปไว้ในจุดเกิดเหตุ แม้ว่าเรื่องราวของบางคนจะผ่านมานานหลายสิบปี แต่เรื่องกลับเงียบหายไป นิทรรศการนี้จึงเป็นการกระตุ้นความสนใจของสังคม และอุทิศให้กับนักสิทธิมนุษยชนที่จากไป
ตัวแทนจากองค์กร Protection International บอกว่า สถานการณ์เรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยค่อนข้างรุนแรง จากการทำงานในพื้นที่ขององค์กรพบว่า ภรรยาของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสียชีวิต หลายคนต้องมาเป็นนักต่อสู้เอง จึงเป็นห่วงหากรัฐบาลไม่ออกมาแสดงท่าทีเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นคดีอาญา ปัญหาก็จะยิ่งลุกลาม
ที่ผ่านมาได้เก็บข้อมูลจากทั่วประเทศ พบว่าแม้ตัวเลขผู้สูญหายในรัฐบาลอำนาจพิเศษ อย่าง คสช. จะลดน้อยลง แต่ก็มีเรื่องร้องเรียนการถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น โดยเฉพาะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้หญิง
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งในอีกสถานะหนึ่งก็เป็นผู้เสียหายจากคดีอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร บอกว่า ตอนนี้มีรูปแบบใหม่ในการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุณยชน เช่น จับตัวไปแต่ไม่แจ้งญาติว่าคุมตัวอยู่ที่ไหน ส่วนการอุ้มหายนักสิทธิมนุษยชนนั้น หลายปีที่ผ่านมายอมรับว่าลดน้อยลง แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกกระทำมักเป็นผู้หญิงที่ออกมาต่อสู้ แต่ต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศ ทั้งทางวาจาและการกระทำ
ด้านประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ดูแลเรื่องคนหายและการซ้อมทรมาน บอกว่า การบังคับใช้กฎหมายยังมีช่องโหว่ เพราะเมื่อมีเป็นคดีความ ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดมักถูกยกฟ้อง ไม่ถูกลงโทษ
ปัจจุบันทั่วโลกมีกฎหมายป้องกันทั้งเรื่องการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเองก็เป็นภาคีและให้สัตยาบัน แต่การออกกฎหมายของประเทศไทยกลับยังล่าช้าอยู่ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องเร่งผลักดันกฎหมายออกมาบังคับใช้ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อการคุ้มครองพยานด้วย
ภายในงานนิทรรศการภาพถ่ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้จากไป ผู้ร่วมงานทั้งหมดได้พร้อมใจกันอ่านข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวม 7 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันไม่ให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกสังหารหรือถูกบังคับให้สูญหาย เช่น รัฐต้องมีการสอบสวนและมีหลักประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อกรณีการข่มขู่ รัฐบาลไทยต้องหยุดการจับกุม ฟ้องร้อง คุกคามประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเข้าถึงที่ดินทำกิน และทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมกำหนดให้การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา เป็นต้น
ถือเป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน คือดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการปกป้องคุ้มครองประชาชน ที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองชอบเอ่ยอ้างจนติดปากนั่นเอง
ooo
แด่นักสู้ผู้จากไป: ภาพสะท้อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย
31 มกราคม 2017
เวป BBC Thai