วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 23, 2560

แอมเนสตี้แถลงรายงานสิทธิมนุษยชนไทยในปี 2016 - หน่วยงานทหารปราบผู้เห็นต่าง จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก มุ่งเป้าโจมตีนักสิทธิฯ และมีการซ้อมทรมาน



ooo

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2559/2560 #AIR2016




ยื่นรายงานต่อรัฐบาล




ooo

เรื่องเกี่ยวข่อง...

เวทีเสวนาเรื่อง เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

เวทีเสวนาเรื่อง เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
โลคอง เมย์ยอง ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน UN
ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กระทรวงยุติธรรม
อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิ
ลิน เท็ต แนง อดีตนักโทษทางความคิดประเทศเมียนมา
ดำเนินรายการโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิณ
#AIR2016

ooo

แอมเนสตี้เผยสถานการณ์สิทธิ 59/60 ยังเลวร้าย-ข้าหลวงสิทธิ UN เรียกร้องคสช.คืนเสรีภาพ


Wed, 2017-02-22 20:04
ที่มา ประชาไท

แอมเนสตี้เผยรายงานสิทธิมนุษยชนรอบโลกปี 59/60 เตือนวิกฤตอาจลุกลาม เพราะโลกขาดผู้นำปกป้องสิทธิ ผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทย เผยสถานการณ์เอเชียย่ำแย่รัฐพุ่งเป้าโจมตีนักปกป้องสิทธิ-ในไทยคนเห็นต่างยังถูกปราบปราม ม.44-กม.ความมั่นคงอยู่ครบ คำสั่งเลิกขึ้นศาลทหารไม่มีผลย้อนหลัง ‘ประวิตร โรจนพฤกษ์’ ถามจัดงานได้เพราะ คสช. มั่นใจในอำนาจหรือไม่ แอมเนสตี้ชี้แจงจัดได้เพราะเตรียมตัวมาดี หวังให้ทุกฝ่ายรับทราบเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน





งานแถลงข่าว รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2559/2560 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพมหานคร ภาพซ้ายมือคือหน้าปกรายงาน อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่




ช่วงเสวนา “เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” วิทยากร (จากซ้ายไปขวา) วิทย์ สิทธิเวคิณ ผู้ดำเนินรายการ, อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน, โลคอง เมย์ยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ลิน เต็ด หน่ายก์ อดีตนักโทษทางความคิดจากพม่า และปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม



22 ก.พ. 2560 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2559/2560 รวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2559 ให้ภาพรวม 5 ภูมิภาค รวม 159 ประเทศ โดยการเปิดเผยรายงานซึ่งกระทำพร้อมกันทั่วโลกในวันนี้เผยให้เห็นว่า ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งในทุกมุมโลก


พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ห่วงโลกในรอบปี 2559 แบ่งเขาแบ่งเราขนานใหญ่-เมินแก้ไขปัญหา

สำหรับการแถลงข่าวที่ประเทศไทย ที่โรงแรมโฟร์วิงส์ กรุงเทพมหานคร พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเปิดงานและเผยรายงานประจำปีภาพรวมสิทธิมนุษยชนในโลกในรอบปี 2559 นับได้ว่าเป็นปีที่มีความท้าทายอย่างมาก เป็นปีที่การเมืองสร้างภาพลบต่อการแบ่งแยกเขากับเราขนานใหญ่ เป็นปีที่มหาอำนาจไม่ปฏิบัติตามและเพิกเฉยพันธะกรณีระหว่างประเทศ และบรรดาชาติต่างๆ ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง เรามีคำถามว่า รัฐคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียวหรือ หรือใครจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ แล้วคนที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเองควรได้รับการคุ้มครองจากใคร งานนี้คงไม่ใช่งานแถลงรายงานที่จัดทุกปี เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นทั่วโลก และจะไม่ใช่สิ่งไกลตัวเราอีกแล้ว วันหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้ลี้ภัย วันหนึ่งเราอาจจะถูกจับ เพียงเพราะแชร์ข้อมูลหรือโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก และวันหนึ่งเราอาจจะถูกกีดกันทางสังคมเพราะมีเพศสภาพของเราแตกต่าง เราหวังว่าการตระหนักรู้ที่เกิดขึ้น เป็นแนวทางปกป้องสิทธิมนุษยชน และปกป้องคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน พร้อมเตือนปี 2560 วิกฤตอาจลุกลาม เพราะโลกขาดผู้นำระดับโลกปกป้องสิทธิมนุษยชน

รายงานประจำปีดังกล่าว มาจากงานวิจัยของนักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลก ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อหวังให้มีการรณรงค์ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ร่วมกับสมาชิกแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล 7 ล้านคนทั่วโลกต่อไปอย่างไม่ลดละ และไม่ย่อท้อ

ทั้งนี้มีการยกคำพูดของ ‘ซาลิล เซ็ตตี้’ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์โลกในปี 2559 ว่าเป็นปีที่ใช้วาทกรรม “พวกเรากับพวกเขา” เพื่อประณามสร้างความเกลียดชัง หวาดกลัว อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา การเมืองโลกในปี 2559 ทำให้เห็นว่าการแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติ กำลังจะถูกนำมาใช้ ผู้นำโลกในหลายประเทศ รวมทั้งการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุดก็เริ่มใช้วาทกรรมนี้ เพื่อช่วงชิงอำนาจในประเทศ มีการเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เตือนว่าในปีหน้าวิกฤตอาจลุกลามบานปลาย เหตุเพราะว่า เราขาดผู้นำสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก การเมืองที่แบ่งเขาแบ่งเราเพราะเหินห่างกันมากขึ้น โลกเผชิญวิกฤตมากมาย แต่กลับขาดเจตจำนงทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหา รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ข้อมูลของอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้น 23 ประเทศทั่วโลกในปี 2559 ที่ผ่านมา และแม้จะมีความท้าทายเกิดขึ้น แต่กลับเกิดความเพิกเฉยในระดับสากลอย่างชัดเจน ในขณะที่บทบาทของชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็หยุดชะงักเพราะขัดแย้งกัน ปี 2560 จะเป็นปีที่รัฐมหาอำนาจมุ่งคุ้มครองผลประโยชน์ตัวเอง ในกรอบที่คับแคบลง ไม่คำนึงถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ จะเกิดความเสี่ยงทำให้เราเข้าสู่ความวุ่นวายและอันตรายมากขึ้นในระดับโลก ประชาคมระหว่างประเทศทำตัวเงียบเฉย แม้จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงกว้างขวาง เราได้เห็นการถ่ายทอดสดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ที่โหดร้ายทารุณต่อผู้บริสุทธิ์ในอเล็ปโป ประเทศซีเรีย ในพม่า ฟิลิปปินส์ การใช้อาวุธเคมีหรือเผาหมู่บ้านที่ดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน

คำถามก็คือคนทั้งโลกจะปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงโหดร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นต่อไปอีกนานเพียงใด ก่อนที่เราจะลงมือทำอะไรบางอย่าง


สถานการณ์เอเชีย-แปซิฟิกย่ำแย่รัฐพุ่งเป้าโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่ารายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกยังคงถูกคุกคามอย่างหนักจากการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงถูกข่มขู่ทั้งในกัมพูชา พม่า มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ รวมทั้งมีการใช้กฎหมายใหม่และกฎหมายที่มีอยู่เพื่อเอาผิดทางอาญากับการแสดงออกอย่างสงบ

“รัฐบาลพุ่งเป้าโจมตีนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม เป็นการส่งสัญญาณเตือนไม่ให้คนแสดงความคิดเห็นต่าง ประชาชนทั้งในมาเลเซีย พม่า ไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว ถูกคุกคาม ถูกจับกุมและดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ” โดยที่ประเทศฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ขู่ทำร้ายนักสิทธิมนุษยชน และยังคงเดินหน้าทำสงครามฆ่าตัดตอนยาเสพติด


ที่พม่าคนกระทำผิดยังลอยนวล สถานการณ์โรฮิงญาวิกฤต รัฐบาลพม่าเมินรับผิด

ขณะที่ในประเทศพม่ามีการปล่อยนักโทษการเมืองขนานใหญ่ แต่ยังไม่มีแนวโน้มที่ดี คนที่กระทำผิดในสมัยรัฐบาลทหารยังไม่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายในสมัยรัฐบาลทหารยังคงใช้อยู่

ที่สำคัญในรัฐยะไข่ยังคงเผชิญวิกฤต ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญายังคงถูกเลือกปฏิบัติ อันเป็นผลมาจากการขาดความอดทนอดกลั้นทางศาสนา ทั้งนี้สถานการณ์ในรัฐยะไข่เลวร้ายลง หลังจากเมื่อปลายปี 2559 มีผู้บุกโจมตีป้อมตำรวจชายแดนที่รัฐยะไข่ ตามมาด้วยการละเมิดครั้งใหญ่ และปราบปรามอย่างไม่เลือกหน้าของกองกำลังความมั่นคงของพม่า ทำให้มีผู้อพยพเข้าสู่บังกลาเทศระลอกใหญ่ และรัฐบาลพม่าก็ยังไม่ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่กระทำผิด


ในไทยคนเห็นต่างยังถูกปราบปราม มีผู้ถูกดำเนินคดีเพราะรณรงค์ประชามติ

สำหรับประเทศไทย ในรายงานระบุถึงการปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อผู้ที่แสดงความเห็นต่างอย่างสงบยังดำเนินต่อไปภายหลังรัฐประหารปี 2557 ทำให้เกิดสภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ทางการอย่างเปิดเผย

ในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม 2559 มีการออกกฎหมายและใช้มาตรการที่มีผลต่อการแสดงความเห็นและเคลื่อนไหวทางการเมือง รัฐบาลยังคงสั่งห้ามการอภิปรายก่อนจะมีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ มีรายงานว่านักกิจกรรมถูกดำเนินคดีเพราะเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งเพราะรณรงค์ในช่วงก่อนลงประชามติ มีประชาชน 10 กว่าคนที่แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทางเฟซบุ๊กเป็นเหตุให้พวกเขาถูกควบคุมตัวหรือถูกตั้งข้อหา และอาจได้รับโทษจำคุกถึง 10 ปีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศใช้ก่อนการประชามติ


กม.มั่นคง ม.44 ยังอยู่ครบ แม้จะเลิกการขยายอำนาจศาลทหาร แต่ไม่มีผลย้อนหลัง

นอกจากนี้รัฐบาล คสช. ยังคงใช้กฎหมายความมั่นคงและใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่สำคัญยังคงมีพลเรือนขึ้นศาลทหาร จากความผิดด้านความมั่นคง และความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าในเดือนกันยายนปี 2559 คสช. จะมีคำสั่งยกเลิกการขึ้นศาลทหารแล้ว แต่คำสั่งนี้ไม่มีผลย้อนหลัง ทำให้พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีและขึ้นศาลทหารแล้วต้องขึ้นศาลทหารต่อไป


เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการโจมตีการทำงานนักปกป้องสิทธิ

นอกจากนี้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเนื่องจากการเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ หรือเนื่องจากการทำงานสนับสนุนบุคคลและชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการโจมตีการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเรียกร้องเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายหยุดใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อปราบปรามบุคคลที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบโดยทันที ทั้งนี้มีการเปิดเผยถึงกรณีที่นักสิทธิมนุษยชนถูกกองทัพบกฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และคดีหมิ่นประมาททางอาญา ได้แก่ สมชาย หอมลออ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ เนื่องจากเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องการซ้อมทรมาน โดยคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี และอัยการจังหวัดปัตตานี

กม.หมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังถูกตีความกว้างขวาง

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกตีความอย่างกว้างขวางทำให้มีการดำเนินคดีหลายคดี ในปี 2559 ที่ผ่านมา ยังมีรายงานว่ามีการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ และมีการรายงานเหตุทหารเกณฑ์เสียชีวิตระหว่างฝึกในค่ายทหาร 2 ราย มีการร้องเรียนว่าแรงงานข้ามชาติถูกซ้อม ระหว่างอยู่ในการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจ ยังคงมีผู้แสวงหาที่พักพิง ที่ถูกกักตัวอย่างไม่มีกำหนด อยู่ในศูนย์ของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เช่น กรณีของชาวโรฮิงญาถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่ปี 2558 และยังหาข้อสรุปไม่ได้ถึงแนวทางปฏิบัติ

ปิยนุชกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า “รัฐไทยต้องให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และสนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่ปลอดภัยและหนุนเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่นๆ ในภาคประชาสังคม”

อดีตนักโทษการเมืองพม่าเผยการสนับสนุนจากนานาชาติมีผลกดดันเปลี่ยนพม่า

ในช่วงเสวนาหัวข้อ “เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการทำงานเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ลิน เต็ด หน่ายก์อดีตนักโทษทางความคิดพม่า ที่ถูกดำเนินคดีและจับกุมเมื่อปี 2558 พร้อมเพื่อนนักศึกษา เนื่องจากเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาในพม่า โดยเขากล่าวว่าในสมัยก่อนสภาพในคุกพม่าไม่ดี รวมทั้งไม่สามารถติดต่อใครได้ ต่อมาหลังปี 2553 เจ้าหน้าที่กาชาดเข้าไปตรวจเยี่ยมเรือนจำ หลังจากนั้นคุณภาพเรือนจำได้รับการปรับปรุง ญาติสามารถมาเยี่ยมได้ สามารถนำอาหารจากข้างนอกมาเยี่ยมได้ ส่วนในปี 2558 หลังจากที่เขาถูกจับในการประท้วงของนักศึกษาล่าสุด เพราะรัฐบาลห่วงภาพพจน์ในเวทีระหว่างประเทศ มีจดหมายจากทั่วโลกส่งมาถึงนักศึกษาที่ถูกจับโดยเฉพาะตัวเขา ทั้งนี้เขาเห็นว่าการได้รับการสนับสนุนจากระหว่างประเทศ มีผลสำคัญสำหรับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยพม่า


ข้าหลวงสิทธิมยูเอ็น เรียกร้อง คสช. คืนสิทธิเสรีภาพ-จัดเลือกตั้งตามโรดแมป

ขณะที่ โลคอง เมย์ยอง รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาล คสช. เพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน เพื่อให้มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปที่เคยกล่าวไว้


ประวิตร โรจนพฤกษ์ ถามจัดงานได้เพราะ คสช. มั่นใจมากขึ้นหรือไม่

อนึ่งในช่วงตอบคำถาม ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวข่าวสดอิงลิช ถามว่าเหตุใดแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงจัดงานแถลงข่าวในวันนี้ได้ ในขณะที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ห้ามจัดเสวนาเรื่องการซ้อมทรมานในเดือนกันยายนปี 2559 ที่จัดได้เป็นเพราะไม่ได้พูดเรื่องการทรมานในเชิงรายละเอียดหรือเปล่า หรือเพราะอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิมาร่วมเวทีด้วย พร้อมกล่าวติดตลกว่าผู้แทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งนี้ร่วมเวทีได้เพราะมีใบอนุญาตทำงานใช่หรือไม่ หรือเป็นการสะท้อนว่า คสช. เชื่อมั่นในอำนาจมากขึ้น และเห็นว่าเป็นเสียงนกเสียงกาใช่หรือไม่


แอมเนสตี้ชี้แจงจัดได้เพราะเตรียมตัวมาดี หวังให้ทุกฝ่ายรับทราบเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

โดยผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานปีนี้ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ มารับฟังการแถลงรายงาน ที่ผ่านมาหลังถูกห้ามจัดงานแถลงข่าวในปี 2559 ก็มีการสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้น หลังจบงานก็มีการพูดคุยและหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และได้มีโอกาสนำเสนอรายงานต่อกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม และก่อนที่จะจัดงานในวันนี้ ทำให้เข้าใจวิธีการทำงานและหาทางทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ ก่อนการแถลงข่าววันนี้มีการแจ้งหน่วยงานภาครัฐให้ทราบทั้งกระทรวงแรงงานและตำรวจสันติบาล ที่สำคัญการแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2559/2560 ก็ไม่ได้เป็นการแถลงรายงานเพื่อประณามใคร แต่แถลงรายงานเพื่อให้ทุกฝ่ายทราบสถานการณ์ นำไปสู่การปรึกษาหารือและแก้ไขปัญหาร่วมกัน เชิญกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม มาเพื่อให้รับทราบและจะได้ทำงานร่วมกัน และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เข้าฟังการแถลง และเชิญตัวแทนภาครัฐคือกระทรวงการต่างประเทศมารับข้อเสนอ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน


ประธานแอมเนสตี้ ประเทศไทย ย้ำต้องการทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย

ขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งตกเป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่ถูกกองทัพบกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องการซ้อมทรมาน กล่าวยืนยันว่า สำหรับรายงานที่ทำให้ถูกดำเนินคดีนั้น ได้นำเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้มีการแก้ไขแล้ว รายงานฉบับนี้รวบรวมมาโดยตลอด ไม่ใช่เฉพาะปี 2558 เท่านั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีเขาและคณะรวม 3 คน อาจไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาส่วนภูมิภาค จึงขอเรียกร้องผู้บังคับบัญชาสูงขึ้นไป ขอให้เปิดใจกว้างรับฟังความเห็นของภาคประชาสังคม ทั้งนี้หน้าที่ของรัฐและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือคุ้มครองประชาชนร่วมกัน และเราต้องการทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งนี้กลไกทางศาลควรใช้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่กลับนำมาใช้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ได้ทำงานเพื่อปกป้องประชาชนจริงๆ กลับต้องกลายเป็นคู่ขัดแย้ง และกระบวนการยุติธรรมที่ควรใช้เอาผิดกับผู้กระทำความผิด แต่กลับต้องกลายเป็นพื้นที่ใช้ต่อสู้กันระหว่างบุคลากรที่ต้องการทำงานเพื่อประชาชน


อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ชี้แจงประกันตัว ‘ไผ่ ดาว’ เป็นดุลยพินิจฝ่ายตุลาการ

ต่อคำถามเรื่องสิทธิประกันตัวในคดี ม.112 กรณีแชร์ข่าวบีบีซีของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นั้น จะสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในเรื่องการประกันตัวที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิพยายามช่วยกับทุกสีทุกฝ่าย แต่การให้ประกันตัวเป็นอำนาจของตุลาการ ก้าวล่วงไม่ได้จริงๆ ที่ผ่านมาก็ประกันตัวได้บ้างไม่ได้บ้าง ในส่วนของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ เอง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมก็เคยถามว่าฝ่ายบริหารทำอะไรได้บ้าง เพราะเรื่องของประกันตัวเป็นอำนาจฝ่ายตุลาการอยู่แล้ว เราก้าวล่วงไม่ได้ ที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิได้หารือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อให้ประสานงานจัดสอบให้กับ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ซึ่งทางเรือนจำไม่มีอะไรขัดข้อง ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวต้องการหรือไม

ทั้งนี้ในช่วงท้ายการแถลงข่าว ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นตัวแทนมอบรายงานพร้อมทั้งข้อเรียกร้องถึงทางการไทย โดยมี ณัฐภาณุ นพคุณ ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยรับมอบรายงานฉบับดังกล่าว โดยข้อเรียกร้องทั้งหมดมีดังนี้


000

ข้อเรียกร้องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถึงรัฐบาลไทย

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและรอบด้านต่อข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคลให้สูญหาย พ.ศ. .... โดยที่เนื้อหาต้องสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

รื้อคดีหายสาบสูญโดยถูกบังคับของทนายสมชาย นีละไพจิตร และดำเนินกระบวนการสอบสวนเป็นไปตามหลักสากล ตลอดจนบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อรับรองว่าผู้ที่รับผิดชอบต่อการบังคับให้สูญหายจะถูกลงโทษ


การปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ

แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายที่นำไปสู่การควบคุมตัวโดยพลการ กฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความเห็น การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ ตลอดจนเสรีภาพในการเดินทาง

ยุติการจับกุมหรือการควบคุมตัวโดยพลการ พร้อมทั้งรับรองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนจากคณะตุลาการที่เป็นอิสระโดยทันที ทั้งนี้ ต้องเป็นองค์คณะที่มีคุณสมบัติที่ชอบด้วยกฎหมายด้านการพิจารณาคดีและควบคุมตัวบุคคล

ยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยตัวจากการควบคุมตัว ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขโดยพลการเพื่อจำกัดการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง การแสดงออก การสมาคม และการชุมนุม

ยกเลิกข้อกล่าวหาใดๆ ต่อบุคคลเพียงเพราะพวกเขาไม่มารายงานตัวเพื่อเข้ารับการควบคุมตัวโดยพลการตามอำนาจของกฎอัยการศึก หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และให้คืนสถานภาพของหนังสือเดินทางของบุคคลที่ถูกยกเลิกเพียงเพราะไม่มารายงานตัว

ยุติการใช้ศาลทหารเพื่อไต่สวนคดีของพลเรือนไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้นเพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดพันธกิจของไทยในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการมั่วสุมหรือชุมนุม 'ทางการเมือง' ที่มีจำนวนห้าคนหรือมากกว่าขึ้นไป

รับรองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ สามารถเข้าถึงทนายความ เจอกับครอบครัวได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่มที่และต้องขึ้นศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ ตลอดจนมีมาตรการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายในสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ และปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่


กฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น

ประกันให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ และไม่ลงโทษผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรม ซึ่งรวมถึงการกด 'ไลค์' และการแชร์ข้อมูลออนไลน์ด้วย

แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีผลกระทบกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ และ ประกันว่ากฎหมายที่จะออกใหม่ในอนาคต ต้องไม่จำกัดต่อสิทธิดังกล่าวของประชาชนโดยพลการ

แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายและคำสั่งที่จำกัดหรือกำหนดโทษทางอาญากับการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสงบ หรืออนุญาตให้มีการควบคุมตัวโดยพลการ ทั้งนี้เพื่อประกันให้กฎหมายและคำสั่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ซึ่งรวมทั้ง

-ข้อบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น การหมิ่นประมาท และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

-พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

-พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

ประกันว่ากฎหมายที่จะออกใหม่ในอนาคต รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ใช้กำกับดูแลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ ต้องไม่จำกัดโดยพลการต่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ


การปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ยุติการโจมตีการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะถือเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายหยุดใช้กระบวนการทางอาญา เพื่อปราบปรามบุคคลที่ใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ รวมถึงสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบโดยทันที

ให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance)

สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่ปลอดภัยและหนุนเสริมนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่น ๆ ในภาคประชาสังคม เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ โดยไม่มีการข่มขู่ คุกคาม และการฟ้องร้องดำเนินคดี


ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง

เคารพต่อหลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement principle) และรับรองว่าจะไม่มีการขับไล่ ส่งกลับ หรือบังคับให้เดินทางกลับไปยังประเทศหรือดินแดนต้นทาง ซึ่งผู้ลี้ภัยหรือผู้โยกย้ายถิ่นฐานเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงหากเดินทางกลับ

เคารพต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่อนุญาตให้ผู้แสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงและสามารถติดต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ และรับรองว่าผู้แสวงหาที่พักพิงจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 (1951 Convention Relating to the Status of Refugees) และพิธีสารปี 1967 ของอนุสัญญาดังกล่าว


โทษประหารชีวิต

พักใช้การประหารชีวิตในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 ซึ่งแสดงเจตจำนงในการออกกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตในอนาคต

เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต

ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต


ความขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ลำเอียงต่อการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในทุกกรณี โดยเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากล และไม่มีการใช้โทษประหารชีวิต

รับรองว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนายความ ได้เจอกับครอบครัว และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม ตลอดจนอนุญาตให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่งได้