วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 28, 2560

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ธรรมกายในประวัติศาสตร์




สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ธรรมกายในประวัติศาสตร์

Tue, 2017-02-28 18:15

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ที่มา ประชาไท

งานวิจัยที่สำคัญชิ้นหนึ่ง เรื่อง “ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย” โดย อภิญญา เฟื่องฟูสกุล ได้ให้ภาพเกี่ยวกับแนวทางของวัดพระธรรมกายได้ชัดเจนว่า ที่แท้จริงแล้ว เป็นหนึ่งในขบวนการปฏิรูปศาสนาพุทธ โดยวางเป้าหมายที่จะให้วัดกลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชน และหวังให้ธรรมกายเป็นศูนย์กลางของการเผยแพร่ศาสนาพุทธ ในการแข่งขันกับวาติกันของคริสต์ศาสนา และเมกกะของศาสนาอิสลาม ในการแข่งขันนี้ วัดพระธรรมกายจึงต้องสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง และให้มีเศรษฐกิจให้มั่นคง ควบคู่ไปกับการสร้างคำอธิบายศาสนาพุทธแบบใหม่ให้เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง”บุญ” หรือเรื่อง”นิพพาน” โดยการใช้มรรควิธีแห่ง”สมาธิ”เป็นเครื่องมือ การเติบโตของวัดพระธรรมกายส่วนหนึ่ง จึงเป็นการตอบสนองความต้องการความหลากหลายทางศาสนาในสังคมสมัยใหม่ เพื่อให้พุทธศาสนาอยู่รอดและมีบทบาทในสังคมสมัยใหม่ต่อไป

ความจริงแล้ววิชาธรรมกายนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากหลวงพ่อวัดปากน้ำ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า สด มีแก้วน้อย เกิดเมื่อ พ.ศ.2427 ที่บ้านสองพี่น้อง สุพรรณบุรี ออกบวชเมื่อ พ.ศ.2449 และได้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เมื่อ พ.ศ.2459 แล้วได้เปลี่ยนวัดปากน้ำ ให้กลายเป็นวัดขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จัก และที่มีความสำคัญกว่านั้น คือการค้นพบวิชาธรรมกาย โดยการเพ่งสมาธิให้เห็นดวงแก้ว และระลึกถึงพระพุทธคุณเพื่อควบคุมจิตใจ จึงสามารถเข้าถึงความเป็นพุทธะ เมื่อค้นพบวิชาธรรมกายหลวงพ่อสดก็ได้เผยแพร่แก่ศิษย์ ทำให้เป็นที่สนใจของสาธุชนจำนวนมาก หลวงพ่อวัดปากน้ำสั่งสอนศิษย์จนถึงวันมรณภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2502

ศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งคือ คุณจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งพื้นฐานเดิมเป็นลูกชาวนานครชัยศรี แต่มีศรัทธาแก่กล้าในวิชาธรรมกาย จึงปลงผมเป็นชีประจำอยู่วัดปากน้ำ จนกระทั่งได้ลูกศิษย์คนสำคัญ คือ ไชยบูลย์ สุทธิพล ตามประวัติ ไชยบูลย์เป็นชาวสิงห์บุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.2487 และมีความสนใจในพระธรรมตั้งแต่เด็ก จนเมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็ได้ศึกษาพระศาสนามากขึ้น ต่อมาได้เข้าศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ทราบเรื่องวิชาธรรมกาย จึงได้มาปฏิบัติธรรมกับแม่ชีจันทร์ที่วัดปากน้ำ ในระหว่างนี้ได้รู้จักกับเพื่อนรุ่นพี่ ชื่อ เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ ซึ่งได้รับการชักชวนให้มาศึกษาวิชาธรรมกายด้วยกัน จนเมื่อจบการศึกษาแล้ว เมื่อ พ.ศ.2512 นายไชยบูลย์ก็ตัดสินใจบวชที่วัดปากน้ำ มีฉายาว่า “ธัมมชโย” โดยมีพระเทพวรเวที(ช่วง วรปัญโญ)เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธัมมชโยได้ตั้งปรารถนาว่า จะสร้างความก้าวหน้าให้กับพุทธศาสนา และจะไม่สึกตลอดชีวิต ต่อมา พ.ศ.2514 นายเผด็จก็บวชที่วัดปากน้ำ มีฉายาว่า “ทัตตชีโว”

พ.ศ.2513 คุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี ได้บริจาคที่ดินที่คลองสามปทุมธานี 196 ไร่เพื่อสร้างวัด ฝ่ายแม่ชีจันทร์ พระธัมชโย และ พระทัตตชีโว จึงมาตั้งเป็นสำนักสงฆ์ ชื่อ “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” ต่อมา ได้สร้างพระอุโบสถเมื่อปลาย พ.ศ.2520 และได้ตั้งเป็นวัดพระธรรมกาย เมื่อ พ.ศ.2524 และขยายใหญ่จนเป็นวัดสำคัญ

ความสำเร็จอย่างมากของวัดพระธรรมกาย เริ่มตั้งแต่การสร้างลักษณะการจัดพื้นที่ของสิ่งก่อสร้าง เช่น ลักษณะของพระอุโบสถก็สร้างเป็นสีขาว และจัดผังให้มีความโดดเด่น สร้างความเป็นระเบียบ และสะอาดตา มีการจัดพื้นที่จำนวนมากให้เป็นเขตธรรมาวาส ให้เป็นเขตปฏิบัติธรรมของสาธุชน เพื่อรองรับลักษณะการเป็นวัดมวลชน และตั้งใจขยายวัดให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของโลก จึงสร้างโครงการ เช่น สร้างมหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนา สร้างมหาเจดีย์ใหญ่ และสร้างภาพให้พระธัมชโย เป็นผู้นำแห่งศรัทธา

ความก้าวหน้าของวัดเห็นได้ภายใน 10 ปี เพราะเมื่อถึง พ.ศ.2533 มีสถิติว่า วัดพระธรรมกายก็มีพระมาบวชถึง 260 รูป สามเณร 214 รูป มีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา 441 คน พระภิกษุจะแบ่งเป็น “พระใน” คือผู้ที่ตั้งสัตยาธิษฐานว่า จะบวชไม่สึก และต้องพิสูจน์โดยทำงานอุทิศให้กับพระศาสนา ส่วนพระนอกก็คือพระที่มาขอบวชในขั้นต้น และวัดพระธรรมกายก็เน้นในการคัดเลือกบุคคลที่มีการศึกษาเข้ามาบวช สร้างโครงการธรรมทายาท และการอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน เผยแพร่หลักธรรมของธรรมกายไปยังชุมนุมพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ คือ การเน้นการสร้างพระภิกษุที่มีความรู้ภาษาอังกฤษ เพื่อไปเผยแพร่หลักธรรมทั่วโลก

ความโดดเด่นของวัดพระธรรมกายอีกกรณีหนึ่งที่สร้างความประทับใจ คือการสร้างสัญลักษณ์ร่วม เช่น เครื่องแบบชุดขาว สัญลักษณ์ลูกแก้ว เทคนิคสมาธิ ลักษณะโบสถ์และพิธีกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหล่านี้ล้วนเป็น “ภาษา” เฉพาะของชาวธรรมกายที่ใช้สื่ออัตลักษณ์ร่วมของกลุ่ม เช่น การจัดกลุ่มฆราวาสที่ศรัทธาในวัดธรรมกาย เรียกว่าเป็น “กัลยาณมิตร” ซึ่งขยายตัวโดยการชักชวนให้ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ และศึกษาวิชาธรรมกาย นอกจากนี้ คือ การตั้งสถานีโทรทัศน์ของตัวเองในการเผยแพร่คำสอนของพระธัมมชโยและกิจกรรมของวัด

ในท่ามกลางการขยายตัว วัดพระธรรมกายก็เคยถูกโจมตีในหลายเรื่อง ตั้งแต่ถูกต่อต้านและรังเกียจว่า คำสอนของวัดพระธรรมกายไม่เป็นแบบศาสนาพุทธกระแสหลัก โจมตีเรื่องการหาเงินบริจาคและการลงทุนของวัดว่าเป็น “พุทธพาณิชย์” และยังโจมตีในเรื่องที่ทางวัดพระธรรมกายมีกรณีพิพาทกับชาวนาเจ้าของที่ดินรอบวัด เมื่อทางวัดของซื้อที่ดินเหล่านั้นเพื่อขยายวัด กรณีนี้เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ในช่วง พ.ศ.2528-2531 ต่อมา ก็คือ ข้อโจมตีเรื่องพระธัมมชโย ยักยอกที่ดินของวัดไปเป็นที่ดินของตนเอง กรณีนี้มีความพยายามในการฟ้องให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก แต่กรณีเหล่านี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะทำลายศรัทธาของสาธุชนจำนวนมากที่มีต่อวัดพระธรรมกาย

จนถึงสมัยเผด็จการทหารหลังการรัฐประหาร พ.ศ.2557 ก็มีความพยายามในการรื้อฟื้นการเล่นงานวัดพระธรรมกายอีกครั้ง โดยหาเหตุจากกรณีที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ผู้จัดการสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น โอนเงินทำบุญให้พระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายเมื่อ พ.ศ.2552 แต่ต่อมา พ.ศ.2556 นายศุภชัยถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงสหกรณ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงฟ้องดำเนินคดีย้อนหลังกับพระธัมมชโยในข้อหาฟอกเงินและรับของโจร ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องของการหาเหตุเล่นงาน เพราะในทางความเป็นจริงเมื่อมีผู้นำเงินมาบริจาคแก่วัดโดยทั่วไป และต่อมา ถ้าผู้บริจาคมีความผิด ย่อมไม่อาจดำเนินคดีเจ้าอาวาสที่รับเงินได้ แต่กรณีได้รับการวิจารณ์ว่า เป็นความพยายามในการสะกัดไม่ได้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) แห่งวัดปากน้ำ ซึ่งอาวุโสสูงสุดในมหาเถระสมาคม ขึ้นรับตำแหน่งพระสังฆราช

ในที่สุด วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รัฐบาลเผด็จการก็ตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปิดวัดพระธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโย แต่ที่น่าตกใจคือกระแสสังคมฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับแสดงท่าทีเห็นด้วยกับฝ่ายอำนาจรัฐ หากดำเนินการกับพระภิกษุและประชาชนผ่ายสนับสนุนวัดพระธรรมกายในลักษณะเช่นนี้ โดยไม่ได้พิจารณาว่าเป็นใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตามอำเภอใจ และยิ่งเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมไทยให้ร้าวลึกต่อไป

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 605 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2560