กานดา นาคน้อย
21 กุมภาพันธ์ 2560
“อาชีพอย่างนี้มีกำไรดี
สาธุชนอนุโมทนาพระธรรมเทศนาที่เทศน์เป็นธรรมทานด้วยภาษาบาลีว่าสาธุสะ อันหมายความว่าชอบแล้วเจ้าข้า
ครั้งแล้วก็ถวายไทยทานแก่พระธรรมถึกผู้เทศน์ และพระนักเทศน์นั้นถ้าได้เทศน์บ่อยๆก็กลายเป็นคนรวยได้”
ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสยุคพระนารายณ์มหาราช พศ.2230[1]
ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสยุคพระนารายณ์มหาราช พศ.2230[1]
สัปดาห์ที่แล้วหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ลงข่าวว่าเจ้าหน้าที่ไทยประมาณ
3,000 คนเข้าตรวจค้นวัดธรรมกายเพื่อจับกุมพระธัมมชโยด้วยข้อหายักยอกทรัพย์มูลค่าประมาณ
40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,400 ล้านบาท)[2] ตัวเลขเจ้าหน้าที่ทำให้ข่าวนี้น่าสนใจมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจพื้นที่หลังเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ซึ่งรุนแรงระดับมีผู้เสียชีวิต
20 คนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ความเกี่ยวข้องของพระและเงินก็มีนัยยะทางเศรษฐกิจ
บริการทางจิต
ในทางเศรษฐกิจพระหรือนักบวชศาสนาต่างๆคือ“ผู้ให้บริการทางจิต”
พระให้บริการทางตรงด้วยพิธีกรรม การเทศนา
การสนทนา การสอนปฎิบัติธรรม และวัตถุมงคล
ส่วนการบริการทางอ้อมนั้นผ่านหนังสือธรรมะและเทปธรรมะ
เนื่องจากวัดและพระในไทยได้รับการยกเว้นภาษีก็ทำให้ตรวจสอบไม่ได้ว่ามูลค่าการบริการทางจิตโดยพระไทยนั้นมีมูลค่าเท่าไร
แน่นอนว่าผู้บริโภคมีสิทธิบริโภคบริการทางจิตจากนักบวชที่ไม่ใช่พระ
เช่น พราหมณ์ ฤาษี เจ้าพ่อหรือเจ้าแม่สำนักต่างๆ ผู้บริโภคก็มีสิทธิบริโภคบริการทางจิตจากผู้ขายที่ไม่ใช่นักบวชด้วย เช่น ครูสอนโยคะ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นอกจากนี้ผู้บริโภคก็มีสิทธิเลือกสังสรรค์และผ่อนคลายด้วยการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างเบียร์หรือสุราก็ได้
ประเด็นสำคัญคือนิยามสิทธิผู้บริโภค ผู้บริโภคมีทางเลือกมากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับรัฐเพราะรัฐเป็นผู้นิยามสิทธิผู้บริโภค ในไทยไม่ว่าผู้บริโภคเลือกบริโภคบริการทางจิตด้วยการทำบูญหรือกินเบียร์ก็มีทางเลือกจำกัด เพราะนโยบายรัฐไทยส่งเสริมการผูกขาดทั้งตลาดบุญและตลาดเบียร์ แตกต่างจากประเทศที่เปิดเสรีทั้งตลาดบุญและตลาดเบียร์
เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
ผู้อ่านชาวพุทธอาจแย้งว่าการทำบุญไม่ใช่การซื้อขายแต่เป็นการบริจาคโดยไม่หวังผลตอบแทน
บทความนี้ก็ไม่ได้เสนอว่าบุญคือสินค้าแต่เสนอว่าบุญคือบริการทางจิตและมีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
ผู้รับบริการได้ความสบายใจหรือความหวังจากชาติหน้าหรือความหวังจากสวรรค์หรือไม่นั้นก็แล้วแต่จิตส่วนบุคคล
ตลาดบุญ
การผูกขาดตลาดบุญในไทยโดยมหาเถรสมาคมได้รับการคุ้มครองโดยพรบ.คณะสงฆ์ พระไทยได้รับเงินเดือนจากรัฐดังนั้นพระไทยก็เป็นพนักงานภาครัฐ
มีลักษณะคล้ายพนักงานรัฐวิสาหกิจมากกว่าข้าราชการเพราะวัดและพระมีรายได้จากทางอื่นที่ไม่ได้มาจากภาษีด้วย อาทิ
ให้เช่าที่ดินทำตลาดนัด รายได้จากวัตถุมงคล ฯลฯ แต่รัฐวิสาหกิจต้องส่งรายได้เข้ากระทรวงการคลังด้วย ดังนั้นพระไทยก็ไม่เหมือนพนักงานรัฐวิสาหกิจเลยทีเดียว นอกจากนี้รัฐไทยกำหนดให้วัดและพระได้รับการยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมการผูกขาดโดยมหาเถรสมาคม
มหาเถรสมาคมมีอำนาจตัดสินว่าวัดไหนหรือพระทำผิดกฎหรือไม่ แต่ที่สหรัฐฯและญี่ปุ่นเปิดเสรีในตลาดบุญไม่มีหน่วยงานรัฐที่ตัดสินว่าอะไรทำให้พระหมดสภาพจากการเป็นพระ ยกตัวอย่าง พระไทยมีภรรยาไม่ได้แต่พระญี่ปุ่นมีภรรยาได้
[3] วัดพุทธในสหรัฐฯก็มีหลากหลายนิกายจากหลายประเทศนอกจากวัดไทย อาทิ
วัดลาว วัดพม่า วัดญี่ปุ่น
วัดเวียดนาม วัดธิเบต ฯลฯ บอกไม่ได้ว่าวัดไหนเป็นพุทธแท้หรือพุทธเทียมเนื่องจากไม่มีหน่วยงานรัฐชี้นำว่าวัดไหนเป็นพุทธแท้หรือพุทธเทียม
พระหรือนักบวชในสหรัฐฯก็มีภรรยาได้แล้วแต่ศาสนาและนิกายจะกำหนดกันเอง
[4]
ในประเทศที่เปิดเสรีในตลาดบุญอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่น พระและนักบวชทุกศาสนาไม่ได้รับเงินเดือนจากรัฐ ในสหรัฐฯวัดและองค์กรศาสนาอื่นๆได้รับการยกเว้นภาษี แต่พระและนักบวชทุกศาสนาต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล กฎหมายภาษีมรดกก็บังคับใช้กับผู้รับมรดกนักบวชด้วย ในญี่ปุ่นวัดและองค์กรศาสนาอื่นๆก็ได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน ส่วนรายได้ของพระก็แล้วแต่ว่ามาจากอะไร รายได้จากพิธีกรรมได้รับการยกเว้นภาษีแต่รายได้ทางอื่นไม่ได้รับการยกเว้น เมื่อเจ้าอาวาสวัดญี่ปุ่นเสียชิวิตเจ้าหน้าที่สรรพากรญี่ปุ่นก็ตรวจสอบบัญชีวัดเพื่อตัดสินว่าทายาทเจ้าอาวาสต้องเสียภาษีมรดกส่วนบุคคลหรือไม่ ทรัพย์สินส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดไม่ต้องเสียภาษีมรดกแต่ทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของเจ้าอาวาสต้องเสียภาษีมรดก
สำหรับผู้บริโภคในตลาดบุญนั้นใช้กฎเหมือนกันทั้งญี่ปุ่น
สหรัฐฯและไทย กล่าวคือ ผู้บริโภคอาจนำเงินบริจาคเข้าวัดไปหักภาษีได้เงินได้ส่วนบุคคลเหมือนการบริจาคเข้ามูลนิธิการกุศลที่ได้รับการยกเว้นภาษี จะหักภาษีได้จริงหรือไม่และหักภาษีได้มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่กฎเกี่ยวกับภาษีเงินได้ส่วนบุคคลในแต่ประเทศ
ตลาดเบียร์
การผูกขาดตลาดเบียร์ในไทยได้รับการคุ้มครองโดยพรบ.สุรา
พรบ.สุรากำหนดไว้ว่าผู้ผลิตเบียร์ต้องเป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ
51 มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า
10 ล้านบาท
มีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า
10 ล้านลิตรต่อปี
ผู้ผลิตต้องวางหลักประกันการก่อสร้างโรงงานเป็นจำนวนเงิน
5 ล้านบาท (จะคืนให้เมื่อได้ทำสัญญากับกรมสรรพสามิตแล้ว [5] ถ้าให้บริโภคภายในสถานที่ไม่อนุญาตให้บรรจุขวดต้องผลิตในปริมาณขั้นต่ำที่ 1 แสนลิตรต่อปี [6]
พรบ.สุราดังกล่าวไม่ส่งเสริมการแข่งขันโดยผู้ผลิตรายย่อย ปัจจุบันมีคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยเพียง
8 ยี่ห้อเบียร์
ที่หลีกหนีข้อจำกัดทางกฎหมายโดยการทำสัญญาผลิตเบียร์ร่วมกับโรงงานในต่างประเทศ
ก่อนที่จะนำเข้ามาโดยเสียภาษีให้กับกรมสรรพสามิต แต่วิธีนี้ทำให้มีเงินรั่วไหลออกนอกประเทศ [7] เกิน
95% ของมูลค่าตลาดเบียร์ไทยเป็นของผู้ผลิต 2
รายเท่านั้น (บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่และบริษัทไทยเบฟ)
[8]
ผู้อ่านบางท่านอาจแย้งว่าเบียร์หรือสุราเป็นสิ่งเสพติดเหมือนบุหรี่ดังนั้นรัฐไม่ควรส่งเสริมให้ผลิต ถ้าเชื่อเช่นนั้นก็ควรส่งเสริมให้เก็บภาษีสูงๆ ภาษีเบียร์และภาษีสุราเป็นรายได้ที่สำคัญของรัฐไทย ในปีงบประมาณ 2559 งบประมาณรายจ่ายของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็เกือบเท่ารายได้จากภาษีเบียร์
ภาษีเบียร์และภาษีสุราทำรายได้ถึงครึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ถ้ารวมภาษียาสูบไปด้วยก็มากกว่ารายได้จากภาษีน้ำมันด้วยซ้ำ [9]
[10]
การออกกฎที่สงวนให้ผู้ผลิตรายใหญ่ผูกขาดตลาดไม่ช่วยลดปริมาณการบริโภค ผู้บริโภคเบียร์หรือสุราก็ไม่ได้เสพติดทุกคน (ถ้าเสพติดทุกคนก็โดนจัดว่าเป็นยาเสพติดอันตรายไปแล้ว) การเปิดเสรีเบียร์หรือสุราก็ไม่ได้ทำให้อาชญากรรมในญี่ปุ่นสูงขึ้น ไม่ได้ทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราอุบัติเหตุบนท้องถนนสูง อัตราอาชญากรรมขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วยโดยเฉพาะกฎหมายปืน
ส่วนอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ขึ้นอยู่กับสภาพถนนและคุณภาพขนส่งมวลชนด้วย
บทสรุป
กฎหมายที่ส่งเสริมการผูกขาดเปิดโอกาสให้ผู้ขายหน้าเก่าอาศัยกลไกรัฐเพื่อสกัดการแข่งขันโดยผู้ขายหน้าใหม่ เป็นอุปสรรคต่อการยกระดับคุณภาพและละเมิดสิทธิผู้บริโภค
ฉันไม่คัดค้านการนับถือศาสนาเพราะความเชื่อหรือความศรัทธาเป็นทางเลือกส่วนบุคคล จะเลือกบริโภคบุญหรือบริโภคเบียร์
(หรือบริโภคทั้งบุญและเบียร์)ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล ยิ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลยิ่งควรเปิดเสรีไม่ควรทำให้เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม
หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่"ประชาไทออนไลน์" ติดตามทัศนะโดย“กานดา นาคน้อย”ได้ที่ทวิตเตอร์ https://twitter.com/kandainthai หรือมายด์ https://www.minds.com/kandainthai
ที่มา:
[1] “ราชอาณาจักรสยาม จดหมายเหตุ
ลา ลูแบร์” โดย ลาลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท โกมลบุตร:
http://www.thaiheritage.net/nation/siam/siam9.htm
[2] “Thai
police empty-handed so far in search for prominent monk” Washington Post:
[3]
“Foreign wives provide insight into temple lives” by Japan
Times: http://www.japantimes.co.jp/community/2016/08/03/issues/foreign-wives-provide-insight-temple-lives/
[4] “A cohort of married
Roman Catholic priests, and more are on the way” New York Times: http://www.nytimes.com/2012/01/07/us/married-roman-catholic-priests-are-testing-a-tradition.html
[5] “การขออนุญาตทำสุราแช่ชนิดเบียร์” กรมสรรพสามิต:
[6] “การขออนุญาตทำสุราแช่ชนิดเบียร์ประเภทผลิตเพื่อขาย
ณ สถานที่ผลิต” กรมสรรพสามิต:
[7] “ทางรอดคราฟท์เบียร์ไทย ในวันที่ไม่อยากอยู่แค่ใต้ดิน” โดย
บีบีซี: